16 ธันวาคม 2567 จากกรณี เพจเฟซบุ๊ก "Social Hunter 2022" โพสต์คลิปพร้อมข้อความระบุว่า เหตุเกิดที่สถานบันเทิงชื่อดังย่านทองหล่อ นักท่องเที่ยวเมาทะเลาะกัน ยิงปืนขึ้นฟ้าและทำท่าจ่อยิง ฝากเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบด้วย #ทองหล่อ10 #เอกมัย10 #กรุงเทพฯ
ซึ่งภายหลังทราบว่า ผู้ก่อเหตุคือ จ่าสิบตำรวจ (จ.ส.ต.) ผู้บังคับหมู่ ฝ่ายป้องกันปราบปราม สน.ทองหล่อ อยู่ในอาการ มึนเมา
ขณะที่ ผกก.สน.ทองหล่อ ลั่นลูกน้อง จ.ส.ต.เมากร่าง รับไม่ได้ "ปืนชี้ประชาชน-ยิงหน้าร้านเหล้า" สั่งพ้นหน้าที่ทั้งหมด ผิดวินัยร้ายแรง โทษสูงสุดคือ "ไล่ออกจากราชการ" ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง พร้อมยึดปืน 2 กระบอก
ล่าสุดมีรายงานว่า พล.ต.ต.วิทวัฒน์ ชินคำ ผบก.น.5 มีหนังสือคำสั่งกองบังคับการตำรวจนครบาล 5 ที่ 384/2567 เรื่อง ให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน
ระบุว่า ด้วยจ่าสิบตำรวจ มนตรี ผู้บังคับหมู่ งานป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจนครบาล ทองหล่อ มีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน ตามคำสั่งกองบังคับการตำรวจนครบาล 5 ที่ 383 /2567 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2567 กรณีกระทำผิดอาญา ประกอบกับผู้บังคับบัญชาชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า หากจ่าสิบตำรวจ มนตรี ยังคงอยู่ในหน้าที่จะเกิดความเสียหาย แก่ทางราชการ และอาจก่อความไม่สงบสุขแก่ประชาชน
จึงมีเหตุผลให้พักราชการได้ ตาม กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสั่งพักราชการ และการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ.2547 ข้อ 3(1) คือ ถูกตั้งกรรมการสอบสวนหรือต้องหาว่ากระทำผิดอาญาในเรื่องเกี่ยวกับความประพฤติหรือพฤติการณ์อันไม่น่าไว้วางใจ โดยผู้กระทำความผิดเป็นข้าราชการตำรวจ มีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา แต่กลับต้องหาว่ากระทำผิดอาญาเสียเอง ย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนและภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถ้าให้คงอยู่ในหน้าที่ราชการอาจเกิดความเสียหายแก่ราชการได้ ประกอบกับได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการสอบสวนพิจารณาทางวินัยนั้นจะไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว
ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความใน มาตรา 105 มาตรา 131 และมาตรา 179 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ประกอบกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกราชการไว้ก่อน พ.ศ.2547 ข้อ 8 จึงให้ จ่าสิบตำรวจ มนตรี ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
อนึ่ง ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามคำสั่งนี้ มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค.ตร. ได้ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาตรา 141 ภายใน 30 วันนับแต่วันรับทราบคำสั่ง และประสงค์โต้แย้งคำสั่งหรือคำวินิจฉัยอุทธรณ์นี้ ให้ทำคำฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลปกครอง หรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังศาลปกครองภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งหรือรับทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือภายใน 90 วัน นับแต่วันพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอทราบผลการวินิจฉัยอุทธรณ์ สั่ง ณ วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2567 ลงนามโดย พล.ต.ต.วิทวัฒน์ ชินคำ ผบก.น.5