2 เมษายน 2568 จากเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ที่ประเทศพม่า ส่งให้ภาคเหนือและภาคกลาง ของประเทศไทย รวมถึงกรุงเทพมหานคร รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน หลายพื้นที่ได้รับความเสียหายโดยเฉพาะอาคารสูง โดยเฉพาะเหตุตึก สตง.ถล่ม ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ย่านจตุจักร มีคนงานเสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และสูญหายจำนวนมาก เมื่อบ่ายวันที่ 28 มีนาคม 2568
ทั้งนี้ ในมุมมองด้านธรณีวิทยา โดย ดร.รัตนา ธีรฐิติธรรม นักธรณีวิทยาชำนาญการ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล แสดงความเห็นส่วนตัว ผ่านเฟซบุ๊ก Rattana Thirathititham ระบุว่า จาก “มัณฑเลย์” ถึง “แอ่งเจ้าพระยา”
ข้อสังเกต ปัจจัยส่งแรงสั่นสะเทือนธรณีพิบัติ
เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น แม้แรงสั่นสะเทือนรู้สึกได้เพียงช่วงสั้นๆ แต่กลับมีรายงานความเสียหายต่ออาคารในบางพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร และมีอาคารที่กำลังก่อสร้างถล่ม ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในเชิงธรณีวิทยาและวิศวกรรมธรณี เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งอยู่ห่างจากรอยเลื่อนสะกาย กว่า 1,000 กิโลเมตร
ในฐานะผู้ปฏิบัติงานด้านธรณีวิทยาคนหนึ่ง แม้จะมุ่งเน้นการศึกษาเฉพาะทางด้านอุทกธรณีวิทยา น้ำใต้ดิน และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นหลัก แต่เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์ด้านธรณีวิทยาทุกแขนง ที่มีผลกระทบต่อกันอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติขนาดใหญ่
พื้นที่กรุงเทพมหานครและบริเวณโดยรอบตั้งอยู่บนโครงสร้างธรณีที่เรียกว่า แอ่งเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งเป็นแอ่งสะสมตะกอนขนาดใหญ่ที่เกิดจากการยุบตัวของเปลือกโลกตั้งแต่ยุค Tertiary จนถึงปัจจุบัน โดยมีลักษณะเด่นคือ
ชั้นดินเหนียวอ่อน (Bangkok Clay) หนาประมาณ 15–30 เมตร ปกคลุมอยู่ด้านบนสุด
ใต้ชั้นดินเหนียวเป็นชั้นทรายสลับดินเหนียวหลายชั้น ทำหน้าที่เป็น แหล่งกักเก็บน้ำบาดาล (aquifers) ความหนารวมของตะกอนในแอ่งเฉลี่ยประมาณ 1,000 เมตร และอาจลึกถึง 1,200–1,500 เมตร ในเขตใจกลางกรุงเทพฯ
ขอบแอ่งมีความหนาตะกอนตื้นลง เหลือเพียง 300–500 เมตร โดยเฉพาะในพื้นที่รอยต่อกับแนวภูเขาหรือรอยเลื่อน
ทำไมแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวกระทบแค่กรุงเทพฯ? แล้วสระบุรี อยุธยา ทำไมไม่เป็นอะไร?
คำตอบคือ การขยายแรงสั่นสะเทือนในแอ่งตะกอน แอ่งเจ้าพระยาตอนล่างมีศักยภาพในการขยายแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว (Seismic Wave Amplification) ได้ แม้อยู่ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหว โดยกลไกทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ :
•Seismic Wave Amplification: เมื่อคลื่นแผ่นดินไหวเคลื่อนจากชั้นหินแข็งเข้าสู่ชั้นดินอ่อน ความเร็วคลื่นจะลดลง แต่แอมพลิจูดของคลื่นเพิ่มขึ้น
•Resonance Effect: หากคลื่นแผ่นดินไหวมีความถี่ใกล้เคียงกับความถี่ธรรมชาติของชั้นตะกอน เกิดการสั่นพ้อง เพิ่มความรุนแรงของแรงสั่นสะเทือน
•Basin Effect: แอ่งที่ลึกและมีรูปร่างปิดสามารถสะท้อนคลื่นไหวสะเทือน ทำให้เกิดการกักเก็บและขยายคลื่นภายในแอ่ง สั่นสะเทือนจึงยาวนานกว่าพื้นที่หินแข็งทั่วไป
อุทกธรณีวิทยาและแผ่นดินไหวเกี่ยวข้องกันไหม?
น้ำใต้ดินกับการเปลี่ยนแปลงทางกลศาสตร์ของดิน ระบบน้ำใต้ดินมีบทบาทอย่างยิ่งต่อพฤติกรรมของชั้นดิน และความมั่นคงของฐานราก โดยเฉพาะในแอ่งตะกอนที่มีการใช้น้ำบาดาลอย่างต่อเนื่อง
1.แรงดันรูพรุน (Pore Water Pressure) น้ำในช่องว่างระหว่างเม็ดดินก่อให้เกิดแรงดันรูพรุน ซึ่งมีผลลดแรงเสียดทานระหว่างเม็ดดิน เมื่อระดับน้ำใต้ดินเปลี่ยน เช่น ลดต่ำลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จะส่งผลต่อกำลังรับแรงเฉือนของดิน
2.การเปลี่ยนแปลงหลังแผ่นดินไหว (Seismic-induced Effects)
การเปลี่ยนระดับน้ำใต้ดินทันที อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงแรงดันในชั้น confined aquifer หรือ unconfined aquifer ทำให้น้ำในบ่อน้ำบาดาลพุ่งขึ้นหรือลดลง ดินเหลว (Soil Liquefaction) ชั้นทรายอิ่มน้ำที่มีความหนาแน่นต่ำ เมื่อได้รับแรงสั่นไหวอาจสูญเสียความแข็งแรงจนกลายเป็นของไหลชั่วคราว
การอัดตัวของชั้นดินเหนียว หลังแผ่นดินไหว ชั้น Bangkok Clay อาจเกิด consolidation เพิ่มเติม ทำให้เกิดการทรุดตัวสะสมในระยะยาว
ซึ่งเราได้เห็นภาพถนนพระราม 2 บางแห่ง หลังเกิดแผ่นดินไหวยุบตัวลง อาจจะเกิดจากสาเหตุนี้
เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้...ทำให้เราได้เห็นชัดว่า ความรู้ทางธรณีวิทยา ไม่ได้แยกขาดเป็นแขนง แต่รวมกันเพื่อปกป้องผู้คน ไม่ว่าจะเป็นธรณีฟิสิกส์ที่ช่วยให้เรารู้ว่าคลื่นไหวสะเทือนเดินทางอย่างไร วิศวกรรมธรณีที่ออกแบบให้โครงสร้างยืนหยัดได้บนดินที่ไม่มั่นคง หรืออุทกธรณีวิทยา ที่ทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมน้ำใต้ดิน ที่อาจพลิกความมั่นคงของฐานราก องค์ความรู้เหล่านี้เชื่อมโยงกันเงียบ ๆ แต่ล้วนทำหน้าที่สำคัญ เพื่อให้เราสร้างเมืองที่ปลอดภัยขึ้น
การเข้าใจโครงสร้างใต้ดิน พฤติกรรมของดิน และบทบาทของน้ำใต้ดิน จึงไม่เพียงแต่เป็นเรื่องทางวิชาการ แต่คือรากฐานของความมั่นคงในชีวิตประจำวันของประชาชน