เริ่มเป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ที่ประเทศพม่า ขนาด 8.2 แมกนิจูด ลึก 10 กิโลเมตร เมื่อบ่ายวันที่ 28 มีนาคม 2568 ส่งผลกระทบถึงประเทศไทย ตอนบนในภาคเหนือ ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานคร ที่รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายในหลายพื้นที่
แต่หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมแผ่นดินไหวนี้ ถึงใช้คำว่า แมกนิจูด แล้วหน่วยเดิมที่คนไทยรู้จัก ริกเตอร์ หายไปไหน เหมือนกันหรือไม่
-ริกเตอร์ (Richter magnitude scale หรือ local magnitude scale : ML) เป็นชื่อมาตราวัดขนาดแผ่นดินไหว ที่ ชาลส์ ฟรานซิส ริกเตอร์ (Charles Francis Richter) จาก California Institute of Technology สหรัฐอเมริกา พัฒนาขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1935 โดยใช้ข้อมูลความสูงของคลื่นแผ่นดินไหว ที่ตรวจวัดด้วยเครื่องมือที่ชื่อว่า seismograph มาคำนวณขนาดของแผ่นดินไหว ณ ตำแหน่งที่เกิด ซึ่งแบ่งขนาดแผ่นดินไหวเป็น 0 - 9
-แมกนิจูด (magnitude) แปลว่า ขนาด (ของแผ่นดินไหว) ไม่ใช่หน่วย อาทิ ถ้าต่างประเทศ รายงานเกี่ยวกับแผ่นดินไหว มีขนาด 7.8 magnitude earthquake/quake เท่ากับ แผ่นดินไหวขนาด 7.8 ซึ่งไม่ต้องเติมคำว่า แมกนิจูดต่อท้าย
เท่ากับว่า ริกเตอร์ เป็นชื่อ มาตราวัดขนาดแผ่นดินไหว ส่วนแมกนิจูด เป็นขนาดของแผ่นดินไหว
ในประเทศไทยจะใช้มาตรา ริกเตอร์ เป็นหลัก แต่มาตราริกเตอร์ มีจุดอ่อน คือ ใช้วัดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เกิน 7 ไม่ได้
ทำให้มีผู้พัฒนามาตราวัดขนาดแผ่นดินไหวอื่น ๆ ขึ้นมาอีก เช่น มาตราโมเมนต์ (Mw) , มาตราคลื่นตัวกลาง (mb) , มาตราคลื่นผิว (MS) โดยมาตราที่นิยมใช้กันในปัจจุบันคือ มาตราโมเมนต์ที่วัดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้อย่างแม่นยำ
กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ให้ความรู้ว่า
ขนาดแมกนิจูด เป็นปริมาณที่มีความสัมพันธ์กับพลังงานที่พื้นโลก ปลดปล่อยออกมาในรูปของการสั่นสะเทือน คำนวณได้จากการตรวจวัดค่าความสูงของคลื่นแผ่นดินไหวที่ตรวจวัด ได้ด้วยเครื่องมือตรวจแผ่นดินไหว โดยเป็นค่าปริมาณที่บ่งชี้ขนาด ณ บริเวณศูนย์กลางแผ่นดินไหว มีหน่วยเป็น ริกเตอร์
เทียบ ริกเตอร์ ขนาดกับแรงสั่นสะเทือน
ข้อมูลจาก : นิตยสารสาระวิทย์ โดย สวทช. , กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา
ภาพ : รอยเตอร์