27 มีนาคม 2568 จากกรณี นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีคำสั่งย้าย นายฤทธิกรณ์ นุ่นลอย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา ออกจากพื้นที่ระหว่างตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ภายหลังคณะทำงานของ ป.ป.ช. ลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบการจำหน่วยตั๋ว หรือบัตรค่าบริการผ่านเข้าไปในอุทยานฯ "หมู่เกาะสิมิลัน" ที่เกาะสี่ และเกาะแปด โดยไม่แจ้งล่วงหน้า เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีการจำหน่ายตั๋วส่อไม่โปรงใส
โดยเมื่อวันที่ 25 มี.ค.2568 คณะทำงานของ ป.ป.ช. ชุดเฉพาะกิจติดตามมาตรการป้องกันการทุจริตในการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ หรือ ชุด “ฉก.ฉลามอันดามัน” นำโดย นายสุชาติ กรวยกิตานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 8 นายทวิชาติ นิลกาญจน์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 8 นายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง นายยุทธนา วิมลเมือง หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง นายปิยะวัฒน์ คุระพูล ผอ.กลุ่มประสานการป้องกันการทุจริตภาค 9 และคณะทำงานร่วมกว่า 30 คน ได้นำกำลังลงพื้นที่ตรวจสอบการจัดเก็บรายได้ของ "อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน" จ.พังงา โดยลงพื้นที่บริเวณ "เกาะสี่" และ "เกาะแปด" หลังจากมีการประกาศให้มีการจัดเก็บรายได้ "E-Ticket" หรือตั๋วแบบอิเล็กทรอนิกส์ อย่างเต็ม 100 เปอร์เซ็น
ซึ่งการบุกตรวจดังกล่าวเป็นการปฏิบัติการทางลับ ไม่มีการบอกกล่าวกับทางอุทยานฯ ล่วงหน้าแต่อย่างใด เมื่อคณะทำงานเดินทางไปถึง จึงได้ยื่นหนังสือขอเข้าตรวจสอบกับ นายฤทธิกรณ์ นุ่นลอย นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ปฎิบัติหน้าที่ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา เพื่อขอเข้าปฎิบัติหน้าที่ตรวจสอบ ซึ่งคณะทำงาน ป.ป.ช.ได้มีข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ที่มีการแจ้งจากผู้ประกอบการซื้อตั๋วผ่านระบบ E-Ticket ของวันนั้น (25 มี.ค.2568) อยู่ในมือทั้งหมดแล้ว ก่อนจะแยกย้ายแบ่งหน้าที่กันเข้าประจำจุด
เมื่อเรือของผู้ประกอบการหลายบริษัททยอยกันเดินทางเข้ามาเทียบชายหาด คณะทำงานได้นำจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่โดยสารมา ก่อนจะตรวจสอบภายหลังจากที่ไกด์นําเที่ยวประจำเรือแต่ละลำจะนำคิวอาร์โค้ดมาให้เจ้าหน้าที่ประจำจุดสแกน เพื่อระบุถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่ซื้อตั๋วแบบ E-Ticket เข้ามา
แต่ปรากฏว่า คณะทำงานเฝ้าติดตามอยู่ประมาณ 4 ชั่วโมง สามารถตรวจสอบพบว่า เรือผู้ประกอบการท่องเที่ยวเอกชน จำนวนประมาณ 15 ลำ ที่เข้ามาเทียบชายหาดเพื่อส่งนักท่องเที่ยว บางลำเข้ามาส่งนักท่องเที่ยวโดยซื้อตั๋ว แบบ E-Ticket แจ้งว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเพียงแค่ 5 คน ทั้งที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเห็นอย่างชัดเจนว่า โดยสารมาถึง 50-60 คน
นอกจากนี้ ยังพบเห็นอย่างชัดเจนว่า บางลำแจ้งซื้อตั๋วเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยมาจำนวน 10-20 คน แต่ปรากฏข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบ แทบจะไม่มีนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางเข้ามา รวมทำหมดที่พบเห็นมีเพียงไม่ถึง 50 คน ซึ่งราคาตั๋ว แบบ E-Ticket จำหน่ายในราคาคนไทย 100 บาท เด็ก 50 บาท ต่างชาติ 500 บาท เด็ก 250 บาท
ทั้งนี้ ระหว่างที่คณะทำงานลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า ลูกจ้างของอุทยานฯที่เฝ้าประจำจุดนั้น ไม่ได้มีการนับจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด มีการนับเพียงบางลำเท่านั้น โดยการนับของลูกจ้างอุทยานฯ เป็นการนับแบบใช้สายตา และใช้เครื่องกดนับตัวเลข ซึ่งภายหลังคณะทำงาน ป.ป.ช. ได้ตรวจพบอย่างชัดเจน ก่อนจะสอบถามว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ ทางลูกจ้างอุทยานฯ จึงได้มีการเขียนใบปรับให้กับไกด์นำเที่ยว เพื่อเปรียบเทียบปรับ โดยจะต้องส่งใบปรับให้ทางผู้มีอำนาจของอุทยานฯต่อไป
จากการตรวจสอบข้อมูลรอบเดือนที่ผ่านมา ที่มีนักท่องเที่ยวชาวไทย จำนวน 40,000 กว่าคนต่อเดือน แต่ข้อเท็จจริงจากการสังเกตการณ์พบว่า ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวชาวไทย ส่วนมากเกือบ 100% เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งข้อมูลและสภาพที่พบเห็นแตกต่างกันอย่างชัดเจน
นายสุชาติ กรวยกิตานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 8 กล่าวว่า เป็นภารกิจติดตามเกี่ยวกับเรื่องค่าเข้าอุทยาน ซึ่ง ป.ป.ช เสนอมาตรการไปเกี่ยวกับเรื่องให้จัดเก็บแบบ E-Ticket ส่วนที่มา "สิมิลันฯ" เพราะเป็นอุทยานแรกที่เก็บ E-Ticket อย่าง 100 %
และจากการมาตรวจสอบจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากับบริษัททัวร์แต่ละลำยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง แต่ความคลาดเคลื่อนต่างๆ คือการจะหาแนวทางที่จะลดความคลาดเคลื่อนลง หรือหาแนวทางแก้ไขยังไง เพราะว่าในระบบกับหน้างานจริง ๆ มันมีเรื่องจำนวนคน ประเภทของนักท่องเที่ยวต่างชาติกับคนไทยค่าธรรมเนียมแตกต่างกันถึงเกือบ 10 เท่า พอแจ้งยอดคนไทยเข้ามา ทั้งที่จริงเป็นต่างชาติเยอะ ทำให้มีความ Error อยู่ และแม้ว่าจะเข้ามาในระบบ E-Ticket แต่การตรวจนับก็ยังเป็นแบบแมนนวล คือการใช้เจ้าหน้าที่ตรวจนับเอา ซึ่งยังมีจุดที่หละหลวมอยู่ แต่ไม่มากนัก อาจจะมีประเภทนักท่องเที่ยวมากกว่า แต่ก็ได้หาแนวทางแล้วว่าจะกำชับยังไงให้ลดความคลาดเคลื่อนลง
เบื้องต้น ได้ประสานไปทางอุทยานฯ ให้ดำเนินการไปตามกฎกติกาของเขาก่อน แต่ถึงขั้นมีการช่วยเหลือกันหรือไม่ จะต้องไปดูรายละเอียดอีกที และเมื่อพบเห็นอย่างนี้แล้ว ก็จะให้อุทยานไปดำเนินการตามระเบียบของกรมอุทยานฯ ในการปรับผู้ที่แจ้งข้อมูลไม่ตรงกับที่เข้าชมอุทยานฯ จริง ๆ ตอนนี้รวบรวมมาหลายที่แล้ว แต่มีที่นี่เพียงที่เดียวที่ใช้ E-Ticket 100 % บางที่นำร่องเป็น E-Ticket แต่ใช้แบบปกติอยู่คือ ฉีกตั๋วหน้างาน เราเริ่มมีการเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียกัน แม้ว่าจะพบข้อบกพร่องจริง ๆ แต่จะต้องปรับปรุงมาตรการ คือเราต้องแยกก่อนว่าในการปรับปรุงมาตรการเพื่อให้การเก็บค่าเข้าชมอุทยานซึ่งเป็นรายได้ของแผ่นดินให้ครบถ้วนตามความเป็นจริง แต่กรณีที่เรายังไม่พบถึงขั้นที่เจ้าหน้าที่เองไปมีพฤติการณ์ในการทุจริต หรือร่วมกับทางเอกชนในการที่จะแสวงหาประโยชน์ ถ้าหากพบเห็นก็จะดำเนินการให้เป็นเรื่องกล่าวหาร้องเรียนต่อไป
ด้าน นายยุทธนา วิมลเมือง หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง กล่าวว่า มีข้อสังเกตจากการจำหน่ายตั๋วของนักท่องเที่ยวชาวไทย เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2568 มีการซื้อตั๋วของบริษัทต่าง ๆ ระบุว่าเป็นคนไทย 500 คน แต่จากการสังเกตของคณะทำงานฯ พบว่าน่าจะมีไม่ถึง 10% อาจจะ 30-40 คนโดยประมาณ ซึ่งผิดปกติวิสัย และเรื่องของการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ จะเห็นว่าไม่ไปดำเนินการตรวจนับให้มันตรงตามใบงาน หรือ E-Ticket ที่ซื้อมา ซึ่งตัวเลขแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เรือบางลำ บางบริษัทซื้อมาแค่ 5 คน แต่มาจริงเต็มลำคือ 50 คน มีส่วนต่างจำนวนมาก ซึ่งตรงนี้ ป.ป.ช จะติดตามเจ้าหน้าที่ว่าจะต้องดำเนินการปรับหรือไม่อย่างไร นอกจากนี้ ป.ป.ช จะขอดูข้อมูลย้อนหลัง และต้องดำเนินการกับบริษัทที่ซื้อตั๋วผิดประเภทหรือไม่ซื้อตั๋วให้ตรงตามจำนวนนักท่องเที่ยว
นายฤทธิกรณ์ นุ่นลอย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
นายฤทธิกรณ์ นุ่นลอย นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ปฎิบัติหน้าที่ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา กล่าวว่า จากการสุ่มตรวจพบข้อผิดพลาดในบางรายที่ไม่ตรง ทุกครั้งที่ตรวจพบจะมีการจับปรับ ครั้งแรก 5,000 บาท และมีการจ่ายเงินในใบเสร็จให้ครบ ซึ่งมีอยู่ประปรายและปรับเรื่อยมา
ส่วนสาเหตุ อาจจะมาเช้า ขาดเกินมาก็ปรับ เพราะเราเก็บเงินต่อไม่ได้ ต้องปรับเป็นวินัยทันที เคสปรับมีวันละ 5,000 - 10,000 บาท บางวันก็ไม่มี บางวันก็ 2 หมื่นก็แล้วแต่ ระเบียบปรับเป็นวินัย กฎหมายใหม่ ซึ่งมีองค์คณะ 3 ระดับ มีระดับชำนาญงานพิเศษ ชำนาญการ และระดับปฎิบัติการ บางทีก็รวมถึงความผิดอื่นด้วย เช่น ทอดสมอในอุทยานฯ จับเต่า หรือความผิดทั่วไป ก็ปรับ ถ้าไม่ปรับก็ดำเนินคดี ซึ่งอำนาจอยู่ที่อุทยานฯ เอง ถ้าพบมีการกระทำความผิดอยู่ บางครั้งก็มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนเจ้าหน้าที่ฯ มีการสุ่มตรวจและลงโทษ มีหนังสือแจ้งเตือนผู้ประกอบการ ไกด์ให้กวดขัน ไม่เช่นนั้นจะโดนค่าปรับตามจำนวน 3 ครั้งแล้วต้องเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งเท่าที่ทราบยังไม่เคยมีใครถูกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งก็เพิ่งย้ายมา
สำหรับสาเหตุของการรั่วไหลของจำนวนเงินในแต่ละวัน
และจากการพูดคุยหารือกับ ป.ป.ช มี 3-4 ปัจจัยด้วยกัน เราจึงต้องควบคุมปัจจัยเหล่านั้นและกวดขันให้มากขี้น ซึ่งเราต้องหมั่นสุ่มตรวจอยู่เรื่อย เพื่อไม่ให้มีช่องว่าง อยากให้กรมอุทยานฯ ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ฯ ที่มีนักท่องเที่ยวมากขึ้น อาจจะบางปีมาก บางปีน้อย ถ้าปีที่น้อยก็ทำงานทัน แต่ถ้าปีไหนนักท่องเที่ยวมาก ก็ทำให้การควบคุมอาจจะรั่วไหล อาจจะไม่กวดขันในการนับจำนวน ซึ่งเราต้องเพิ่มจำนวนคนนับ และใช้เครื่องมือช่วย เท่าที่ทราบมาหลังโควิด เมื่อก่อนเก็บสดหน้าหาด ซึ่งมีการรั่วไหลเป็นจำนวนมาก
ถ้าเก็บหน้าหาดก็รั่วไหลจากหลายอย่าง อาทิ
แต่พอเป็น E-Ticket ที่เกาะไม่มีเงินเลย ลดโอกาสทุจริตน้อยลง ซึ่งหลังจากมี E-Ticket แล้วมีอยู่บ้าง ก็ต้องมีการสุ่มตรวจ หรือใช้เครื่องมือทันสมัย ใช้ริสแบนด์ หรือใช้เครื่องมือให้มากแทนการนับคน เพราะการนับคนมี Error หลายอย่าง ทั้ง 3-4 ปัจจัยและเรื่องต่าง ๆ ที่ต้องควบคุม
อย่างไรก็ตาม คณะทำงาน ป.ป.ช. ชุด ฉก.ฉลามอันดามัน จะทำการของตรวจสอบพยานหลักฐาน หรือเอกสารต่างๆ อย่างละเอียดอีกครั้ง พร้อมทั้งเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หากพบมีข้อมูลว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนรู้เห็นเป็นใจร่วมกับผู้ประกอบการ จะมีการดำเนินการยกเหตุสงสัยว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น และจะดำเนินการตามขบวนการต่อไป พร้อมทั้ง ให้ทางหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา ได้ดำเนินการตรวจสอบว่าเจ้าหน้าที่มีการเปรียบเทียบปรับกับบริษัทฯ หรือไม่ และเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามกฎของอุทยานฯ หรือไม่ต่อไป
ชมคลิปข่าว