15 สิงหาคม 2567 ที่ชายหาดท้ายเหมือง บริเวณด้านหน้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา นายปรารพแปลงงาน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง พร้อมด้วย นส.ประไพ พุกงาม สถิติจังหวัดพังงา นำเจ้าหน้าที่อุทยานฯและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติร่วมกันปล่อยเต่ากระ เพศเมีย อายุประมาณ 4-5 ปี ซึ่งถูกเศษอวนพันรอบตัวลอยมาเกยตื้นจนเกือบตายที่หาดท้ายเหมือง ทางเจ้าหน้าที่ได้ช่วยเหลือนำส่งไปอนุบาลต่อที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งพังงา ซึ่งล่าสุดพบว่าเต่ามีความแข็งแรง พร้อมที่ปล่อยกลับลงสู่ทะเลแล้ว และได้ตั้งชื่อว่า "น้องสิงหา" เป็นที่ระลึกว่าน้องได้เป็นอิสระในเดือนสิงหาคม
นายปรารพ กล่าวว่า เต่ากระตัวนี้ เมื่อเดือนมิถุนายน มีชาวบ้านพบว่าติดเศษซากอวนลอยมาเกยตื้นที่ชายหาดปาง ในเขตอุทยานฯ เจ้าหน้าที่จึงเข้าทำการช่วยเหลือ ซึ่งพบว่าเมื่อตัดอวนออกจากตัวเต่าหมด เต่าอ่อนแรงในสภาพที่ยกหัวไม่ขึ้น ทุกคนก็กลัวว่ามันจะไม่รอด จึงได้ส่งไปอนุบาลต่อที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งพังงา ซึ่งเจ้าหน้าที่ศูนย์ได้ดูแลอย่างดี จนฟื้นตัวและแข็งแรง จึงได้ถือโอกาสในเดือนสิงหาคมที่เพิ่งผ่านวันแม่แห่งชาติมา ปล่อยให้น้องเต่าได้กลับบ้านสู่ธรรมชาติ เมื่อเขาโตเต็มวัย ก็หวังว่าจะกลายเป็นแม่เต่ากลับมาวางไข่ที่หาดท้ายเหมืองอีกครั้งต่อไป
"เต่ากระ" (Hawksbill turtle) เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2535 เต่ากระจะมีจะงอยปากค่อนข้างแหลมงุ้มคล้ายปากเหยี่ยว เกล็ดบนส่วนหัว ตอนหน้า มี 2 คู่ มีเกล็ดกลางหลัง จำนวน 5 เกล็ด เกล็ดหลังแถวข้างคู่แรกสุดไม่ติดกับเกล็ดขอบคอ มีจำนวน 4 คู่
มีลักษณะเด่นชัดคือ เกล็ดบนกระดองมีลวดลายริ้วใสสวยงาม และลักษณะเกล็ดซ้อนกันเห็นได้ชัดเจน แต่เมื่อโตเต็มวัยลักษณะการซ้อนกันของเกล็ดสังเกตได้ยากกว่าวัยอ่อน ลูกเต่ากระแรกเกิดไปจนถึงเต่ากระวัยรุ่นมีสันแหลมตามความยาวกระดอง 3 แถว มีเล็บที่ขาหน้าและหลังข้างละ 2 อันและค่อยๆ หายไปเมื่อโตขึ้น โตเต็มที่ยาว 95 ซม. หนัก 60 กก. มีแหล่งอาศัยและแหล่งวางไข่ในเขตร้อน บริเวณน้ำตื้นที่เป็นแนวปะการัง แนวหญ้าทะเลและแนวสาหร่าย ประเทศไทยพบเข้ามาหากินใกล้ชายฝั่งทะเลทั้งสองด้าน