svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

รับรองนายกฯ ผลักดันข้อเรียกร้อง ที่ภาคใต้ !

สถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายเเดนใต้ กลับมาระอุอีกครั้งจากฝีมือกลุ่ม BRN เป็นการส่งสัญญาณ และส่งนัยถึงรัฐบาล ด้วยความรุนเเรง

เช้าวันอังคารที่ 14 มกราคม เพิ่งผ่านปีใหม่ของปี 2568 มาเพียง 2 สัปดาห์เต็ม แต่สัญญาณร้ายจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ดูจะโถมเข้ามาไม่หยุด 

เช้าวันนี้ 09:50 น. มีรายงานถึงการก่อเหตุวางระเบิดของกลุ่ม BRN ที่บ้านไอร์กือเนาะ ต. ศรีบรรพต อ. ศรีสาคร จ.นราธิวาส

ทำให้เจ้าหน้าที่ที่เป็นครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ขณะเดินทางออกไปซื้อของใช้ส่วนตัว เสียชีวิตทั้ง 2 นาย อันทำให้เกิดการตีความได้ว่า เหตุที่เกิดเป็นดังการเตรียมรับนายกฯ ที่จะลงพื้นที่ยะลา นราธิวาส และปัตตานีในวันที่ 16 มกราคม นี้อีกด้วย

ผู้เสียชีวิต คือ พ.ต.ท. สุวิทย์ ช่วยเทวฤทธิ์ และ ดต. โดม ช่วยเทวฤทธิ์ (บุตรชาย) พวกเราคงต้องขอสดุดีในฐานะของการเป็น “ครู” ในชนบทพื้นที่สงครามอย่างไม่ย่อท้อ และทำหน้าที่ของครูอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย และครูทั้ง 2 ยังเป็นศาสนิกชาวอิสลามที่ดีด้วย

ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ปกติแล้วครู ตชด. มักไม่ค่อยตกเป็นเป้าของการสังหาร เนื่องจากโรงเรียน ตชด. มักตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลจากตัวเมือง แต่ก็เป็นฐานทางการศึกษาที่สำคัญในการช่วยเหลือให้การศึกษาแก่เด็กๆ ที่ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษามากเช่นเด็กในเมือง หรือในพื้นที่ที่มีโรงเรียนในระบบ

ภาพของ “ครูสุวิทย์” และ “ครูโดม” 2 พ่อลูกที่ห้อมล้อมด้วยเด็กๆ หญิงชายมุสลิม บ่งบอกถึงการทำหน้าที่ของ ครู ตชด. อย่างเต็มภาคภูมิ และทำหน้าที่ของความเป็น “ครูบ้านนอก”

ที่เสียสละความสุขสบายส่วนตัว จนต้องแลกการทำหน้าที่ของความเป็นครูเช่นนี้ด้วยชีวิตของตนเองและบุตรชาย และการเป็นมุสลิมก็ไม่ได้เป็นข้อยกเว้นให้แก่การลอบสังหารอย่างโหดเหี้ยมของ BRN (ทั้งระเบิดรถ และตามมายิงซ้ำอีก!)

 

รับรองนายกฯ ผลักดันข้อเรียกร้อง ที่ภาคใต้ !

การฆ่าคนที่ทำหน้าที่เพื่อสร้างประโยชน์ให้ชุมชนของ BRN นั้น ไม่ต้องกลัวภาวะ “เสียการเมือง” ในแบบของฝ่ายซ้าย เพราะพวกเขาเชื่อว่า องค์กรแนวร่วมในระบบการเมืองไทยจะทำหน้าที่ปกป้องการก่อการร้าย ดังเช่นที่ปรากฏเสมอมาว่า การเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ คนพุทธ และชาวมุสลิมสายกลางเป็น “ความตายที่ไร้เสียง”

วันนี้ มือสังหารของกลุ่ม BRN ได้ปฏิบัติการทำลายครูทั้ง 2 ชีวิตแล้ว ซึ่งอธิบายในมิติทางสังคมได้ว่า ปฏิบัติการสังหารครู คือ ความต้องการที่จะตัดขาดพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ห่างไกลออกจากสังคมไทย ด้วยการไม่ให้มี “ครูชาวพุทธ”

ซึ่งดูจะไม่แตกต่างจากกรณีการสังหารครูจูหลิงในอดีต และรวมทั้งการสังหารครูชาวพุทธหลายคนในพื้นที่ จนต้องมีการจัดตั้งชุดคุ้มครองครูขึ้น กลุ่ม BRN ไม่ต้องการให้เด็กเรียนรู้และมีการศึกษามาก ไม่ต่างจากการห้ามเรื่องการศึกษาของกลุ่มทาลีบันในอัฟกานิสถาน

ในอีกด้าน ครู ตชด. 2 นายนี้ ใช้ชีวิตเป็นครูในพื้นที่มาอย่างยาวนาน ชุดคุ้มครองครูของพ่อลูกคู่นี้คือ เด็กและผู้ปกครองชาวมุสลิม ที่มีโอกาสได้รับการศึกษาจากครูต่างหาก ไม่ใช้ชุดคุ้มครองติดอาวุธ แต่สำหรับ BRN แล้ว ครูที่สอนเด็กๆ มุสลิมคือ ภัยคุกคามที่พวกเขาต้องทำลายทิ้ง ไม่ต่างจากกรณีของครูท่านอื่นๆ ที่ถูกสังหาร

 

รับปีใหม่

ถอยกลับไป 3 วันหลังปีใหม่ ป้ายสัญญาณให้ “หยุดตรวจ” ของตำรวจ ที่อยู่บนถนนหน้าโรงเรียนบ้านกะลาพอ อ. สายบุรี จ. ปัตตานี กลายเป็นจุดที่ถูกวางระเบิดเสียเองที่กล่องแบตเตอรี่ของป้าย

ซึ่งแน่นอนว่า ไม่มีใครคาดคิดว่า ตัวกล่องดังกล่าวจะกลายเป็นจุดของการวางระเบิด เพราะป้ายนี้อยู่บริเวณหน้าโรงเรียน และวันที่เกิดระเบิดก็มีการเรียนการสอนตามปกติ และทั้งยังเป็นสถานศึกษาของเด็กๆ ในพื้นที่ด้วย

ข้อสรุปที่อาจถือเป็นข้อเตือนใจในทางยุทธการ คือ ผู้ก่อการร้าย BRN ไม่เคยรอวันหยุด พวกเขาถือเอาความพลั้งเผลอของเจ้าหน้าที่เป็นโอกาสของการก่อเหตุเสมอ และไม่คำนึงว่า เหตุร้ายจะเกิดกับโรงเรียนที่ลูกหลานชาวมุสลิมเองก็ได้ประโยชน์ในการศึกษา

การวางระเบิดในวันที่ 3 มกราคม จึงเป็น “สัญญาณระเบิดแรก” รับปีใหม่ … รับวาระครบรอบปล้นปืน 4 มกราคม 2547 และเป็นสัญญาณถึงรัฐบาลแพรทองธาร ชินวัตร อีกด้วยว่า กลุ่ม BRN ยังพร้อมที่จะก่อการร้ายได้เสมอ และจะยังคงดำเนินการก่อเหตุร้ายต่อไป จนต้องถือว่า การก่อการร้ายเป็น “กิจวัตรปกติ” ของ BRN

เพราะการก่อการร้ายเป็นเครื่องมือเดียวที่ BRN มีในการต่อรองกับรัฐไทย โดยไม่ต้องสนใจกับการสูญเสียของบรรดาผู้บริสุทธิ์ที่กลายเป็น “เหยื่อสงคราม” ของ BRN เพราะมีแนวร่วมทำหน้าที่ปกป้องการก่อเหตุให้เสมอมา

 

รับรองนายกฯ ผลักดันข้อเรียกร้อง ที่ภาคใต้ !

ก่อนปีใหม่

ถอยกลับไปอีกสักนิดก่อนปีใหม่ … วันที่ 12 ธันวาคม 2567 เจ้าหน้าที่ทหารพราน 2 นาย ขณะทำภารกิจขนทรายใส่กระสอบ เพื่อนำไปช่วยเหลือชาวบ้านชาวมุสลิมที่ประสบปัญหาจากภัยน้ำท่วม ที่ ต. จะแนะ อ. จะแนะ จ. นราธิวาส

ได้ถูกคนร้ายจำนวน 4 คนใช้อาวุธปืนเอ็ม-16 กราดยิง ทหารทั้ง 2 นายบาดเจ็บ และต่อมาได้เสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 นาย

ข้อสังเกตคือ พวกเขาไม่ได้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการลาดตระเวน แต่ถูก BRN ฆ่า ขณะให้การช่วยเหลือแก่พี่น้องมุสลิมในพื้นที่ที่ประสบภัย

BRN ไม่ต้องการให้มีภาพที่ทหารช่วยชาวบ้าน แต่อยากได้ภาพที่ทหารอยู่ตรงข้ามกับชาวบ้าน เพื่อนำไปโฆษณาโจมตีทางการเมืองเพื่อสร้าง “ภาพ” ให้แก่ BRN

  

ถอยกลับไปอีกเดือน … วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 มีการก่อเหตุวางเพลิงพร้อมกัน 8 จุดที่ จ. ยะลา และวางเพลิงพร้อมกัน 2 จุดที่ จ. ปัตตานี พร้อมกันนี้ได้ประกาศถึงความต้องการที่ชัดเจนของกลุ่ม BRN ด้วยการพ่นสีสเปรย์สีแดงด้วยคำว่า “PATANI MERDEKA” (คำเรียกร้องเอกราชของปัตตานี) ที่ป้ายด้านหน้าของโรงเรียนบ้านเตาปูน ต. บันนังสตา อ. บันนังสตา จ. ยะลา

ข้อน่าสังเกตที่สำคัญ คือ การพ่นสีสเปรย์นี้บ่งบอกถึงความต้องการทางการเมืองที่ชัดเจนในการแบ่งแยกดินแดนที่ดำเนินการด้วยขบวนติดอาวุธภายใต้การควบคุมของ BRN

ถ้า BRN ต้องการเรียกร้องเอกราชเป็นประเด็นหลักแล้ว รัฐไทยจะเจรจาอย่างไร เมื่อคู่เจรจาไม่ต้องการยุติความรุนแรง แต่ต้องการแยกดินแดน

  

หากถอยกลับไปที่ต้นเดือน … วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 คนร้าย 4 คนก่อเหตุอย่างอุกอาจด้วยการบุกเข้ายิงนายกเทศมนตรีตำบลรือเสาะ ที่เป็นชาวพุทธเสียชีวิต ขณะที่นั่งประชุมในการเตรียมงานวิสาหกิจชุมชนในบริษัท ที่ ต. รือเสาะ อ. รือเสาะ จ. นราธิวาส

ข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ นายวิเชษฐ์ ไทยทองนุ่ม หรือที่รู้จักกันในชื่อของ “นายกฯอาร์ม” เป็นผู้นำชุมชนที่ได้รับการยอมรับว่า เขาทุ่มเททำงานให้กับชุมชนโดยไม่แยกพุทธ/มุสลิมแต่ถือทุกคนเป็นพี่น้องในชุมชน ที่เขามีหน้าที่ต้องช่วยดูแลทั้งหมด 

การสังหารมีการวางแผนเป็นอย่างดีของ BRN รวมถึงการแต่งชุดลวง เพื่อปกปิดเพศที่แท้จริงของมือสังหาร การสังหารยังมีนัยโดยตรงถึงการกวาดล้างผู้นำชุมชนในระดับท้องถิ่นที่เป็นชาวพุทธให้หมดไปจากพื้นที่ ยิ่งเป็นผู้นำชุมชนชาวพุทธที่สร้างการอยู่ร่วมกันระหว่างวัฒนธรรมได้ ยิ่งต้องสังหารทิ้ง

ทว่าที่จริงแล้ว ถ้าคนในกลุ่ม BRN อยากได้ตำแหน่งเหล่านี้ เพียงขอให้ผู้นำชาวพุทธถอนตัวออกจากการมีตำแหน่งที่ดำรงอยู่ ก็อาจทำได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการสังหาร …

การสังหารจึงมีนัยอย่างสำคัญถึงการปฏิเสธอย่างชัดเจนต่อสภาวะ “ความหลากหลายทางวัฒนธรรม” ของกลุ่ม BRN ทั้งยังพบว่า ปืนที่ใช้ในการสังหารครั้งนี้ เคยใช้สังหารคนมาแล้วถึง 23 คดี

ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การสังหารสมาชิกอาสารักษาดินแดน (อส.) ที่ทำหน้าที่เป็นชุดคุ้มครองครู เป็นต้น การสังหารเช่นนี้คือ ภาพสะท้อนถึง “การฆ่าอย่างเป็นระบบ” (systemic killing) ที่มีการวางแผน และมีการเตรียมการอย่างดี การฆ่าจึงมีนัยถึงการ “ประกาศศักดา” ของกลุ่มอีกด้วย

 

จุดศูนย์ดุล

เรื่องราวของการก่อเหตุร้ายเหล่านี้ อาจขมวดปมในอีกด้านหนึ่งได้ว่า การประกาศแต่งตั้งอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ให้เป็น “ที่ปรึกษาของประธานอาเซียน” ในปี 2568

ที่เป็นวาระของผู้นำมาเลเซียคือ นายกฯ อันวาร์ การแต่งตั้งดังกล่าว จะทำให้มีการคุยโดยตรงระหว่างผู้นำ 2 ประเทศ และหนึ่งในหัวข้อของคุยในอนาคตคงหลีกเลี่ยงปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไทยไม่ได้

ถ้าเกิดการพูดคุยทางตรงของผู้นำทั้ง 2 มากขึ้นในอนาคต เวทีของผู้นำเช่นนี้อาจจะเป็น “จุดศูนย์ดุล” ของการแก้ปัญหา หรือในภาษาทางทหารเรียกว่าเป็น “CG” (center of gravity) ของการแก้ปัญหา

เวทีการคุยกับ BRN จะกลายเป็นเวทีรองทันที เช่นที่ในยุคสงครามเย็น การคุยระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน คือ จุดสิ้นสุดของสงครามคอมมิวนิสต์ในไทย ไม่ใช่การเจรจาระหว่างรัฐบาลกรุงเทพฯ กับพรรคคอมมิวนิสต์ไทยแต่อย่างใด

 

การก่อเหตุรุนแรงอย่างต่อเนื่องในสภาวะเช่นนี้ จึงเกิดด้วยเหตุผล 4 ประการคือ

1)   สร้างแรงกดดันรัฐบาลไทยให้ต้องรีบตั้งคณะเจรจาเพื่อให้กลุ่ม BRN ได้มีบทบาทในเวทีนี้ต่อไป

2)   เรียกร้องความสนใจให้รัฐบาลต้องใส่ใจกับข้อเรียกร้องของ BRN ที่ต้องการให้เปิดการเจรจาใหม่ รวมทั้งให้รัฐบาลยอมรับเอกสาร JCPP ที่เป็นความได้เปรียบของ BRN

3)   สร้างเหตุรุนแรงเพื่อเป็น “กับดัก” ทางยุทธการ ล่อให้รัฐไทยใช้กำลังเข้าปราบปราม อันจะกลายเป็นข้ออ้างให้ BRN และบรรดาแนวร่วมที่อยู่ในเวทีการเมืองไทย และในเวทีสากลใช้โฆษณาโจมตีกดดันรัฐไทย

4)   การสร้างเหตุรุนแรงในอีกด้านคือ การประกาศ “ศักยภาพในการทำลาย” ของกลุ่ม ที่อาจใช้เป็น “ใบประกาศโฆษณา” ในการหาสมาชิก และหาเงินทุนสนับสนุนทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ

 

ความกลัวของ BRN

การก่อเหตุที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในภาพรวม จึงไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าความกังวลของ BRN ว่า ถ้าการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยและมาเลเซียดำเนินไปด้วยความเข้าใจ และเกิดความร่วมมือในการแก้ปัญหา “ลัทธิสุดโต่ง” ของขบวนติดอาวุธ BRN ได้จริงจังแล้ว BRN จะกลายเป็น “เบี้ย” บนกระดานการเมือง

ไม่ต่างจาก พคท. ซึ่งก็คือเบี้ยบนกระดานในยุคนั้น เพราะอย่างน้อยคงต้องยอมรับในทางการเมืองว่า รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศไม่ต้องการให้มีการบ่มเพาะของลัทธิสุดโต่งในบ้านตัวเองอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ การก่อเหตุที่รุนแรงมากขึ้นได้เริ่มกลายเป็นคำถามกดดันไปที่รัฐบาลไทยว่า การเจรจากับ BRN มีความจำเป็นเพียงใด ถ้าทิศทางหลักของ BRN คือ “ฆ่าไป-คุยไป/คุยไป-ฆ่าไป” อันทำให้หลายภาคส่วนในสังคมเริ่มตั้งคำถามถึงความสัมฤทธิ์ผลในการเจรจาของรัฐบาลกับ BRN

… รัฐบาลจะเจรจาอย่างไรเมื่อ BRN ใช้การก่อการร้ายและการล่าสังหารเป็นเครื่องมือหลักอีกชุดหนึ่ง ทั้งไม่มีแนวโน้มของการลดทอนความรุนแรง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยไม่ต้องการพวกลัทธิสุดโต่งในภาคใต้ไทยเช่นไร รัฐบาลมาเลเซียก็คงไม่ต้องการลัทธิสุดโต่งในภาคเหนือของมาเลเซียเช่นนั้น … ไม่มีรัฐบาลประเทศไหนในยุคนี้ต้องการการ “บ่มเพาะลัทธิสุดโต่ง” ในบ้านอย่างแน่นอน !