10 กรกฎาคม 2566 จากกรณีเจ้าหน้าที่เทศบาลแห่งหนึ่ง นำรถกระเช้าสีส้ม บรรทุกซากเสาไฟเหล็กเคลือบ หรือ เสาไฟรูปสับปะรด ที่ตั้งบริเวณสันเขื่อนริมอ่าวประจวบฯ ตั้งแต่หน้ารั้วกองบิน 5 ถึงค่ายลูกเสือม่องล่าย ระยะทาง 8 กิโลเมตร ไปขายที่ร้านขายของเก่า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ขณะที่หน่วยงานภาครัฐ จะทำการตรวจสอบ เพื่อหาเจ้าของงบประมาณที่จัดซื้อ โดยจะดำเนินการตามกฎหมาย กับผู้เกี่ยวข้องที่นำเสาไฟไปขายแค่หลักร้อยบาท เนื่องจากที่ผ่านมา เสาไฟดังกล่าว มีราคารวมค่าติดตั้งต้นละ 8 หมื่นบาทถึง 1 แสนบาท มีมากกว่า 300 ต้น
ล่าสุด นายสุวิทย์ พลเสน หัวหน้าสำนักงานโยธาธิการ จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า การใช้งบประมาณจัดทำเสาไฟดังกล่าว ในเขตเทศบาลเมืองประจวบฯ มี 4 สัญญา ประกอบด้วย 1. กรมการท่องเที่ยว กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาใช้งบจัดซื้อเสาสูง 4 เมตร 75 ต้น ตั้งแต่สะพานสราญวิถี ถึงรั้วกองบิน 5
2. สำนักงานจังหวัดใช้งบพัฒนาจังหวัดมอบโยธาฯจัดซื้อเสาสูง 4 เมตร 60 ต้นระยะทาง 500 เมตร จากสะพานสราญวิถี ถึงสะพานคลองบางนางรม ที่ผ่านมาได้ส่งมอบ ให้เทศบาลเมืองประจวบฯ ดูแลทรัพย์สินแล้ว
3. สำนักงานจังหวัดใช้งบพัฒนาจังหวัดมอบโยธาฯ ใช้งบจัดซื้อเสาบนสะพานสราญวิถี และถนนก้องเกียรติ และ 4. สำนักงานจังหวัดใช้งบพัฒนาจังหวัดมอบโยธาฯ จัดซื้อเสาสูง 6 เมตร จำนวน 180 ต้น จากสะพานคลองบางนางรม ถึงค่ายลูกเสือม่องล่าย ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของโยธาฯ
นายสุวิทย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีแผนขอใช้งบประมาณจังหวัด ดำเนินการซ่อมแซมบำรุงรักษาเสาไฟ แต่คาดว่า จะต้องใช้เวลานานพอสมควร ส่วนเสาไฟที่ชำรุด ไม่ได้นำมาเก็บไว้ที่สำนักงานโยธาฯ ตามที่บางหน่วยงานกล่าวอ้าง สำหรับเสาไฟที่มีการใช้รถยนต์ ของทางราชการ นำไปขายร้านของเก่า พบว่า มีความสูง 4 เมตร โคนเสามีสนิม ซึ่งต้องพิสูจน์ว่า กรมการท่องเที่ยว หรือเทศบาลเมืองฯ เป็นเจ้าของทรัพย์สิน
สำหรับเสาไฟตั้งแต่สะพานสราญวิถี ถึงสะพานคลองบางนางรม ปรากฏหลักฐานในปี 63 ได้มีไฟช๊อตนักท่องเที่ยวหน้า สำนักงาน อบจ. ปลัดเทศบาลที่รักษาการแทนนายกเทศมนตรี ขณะนั้นยอมรับผ่านสื่อว่า เป็นเสาไฟของเทศบาล ส่วนเสาไฟที่มีการลักไปขาย หากเทศบาลหรือสำนักงานท่องเที่ยว ต้องการทราบข้อเท็จจริง ก็ควรไปขอดูภาพจากร้านรับซื้อของเก่า
ด้าน น.ส.แสงจันทร์ แก้วประทุมรัสมี หัวหน้าสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเทศบาลฯ ได้นำเสาไฟเก่าจำนวน 3 ต้น มาคืนให้สำนักงานเก็บรักษา เนื่องจากเดิมกรมการท่องเที่ยว หน่วยงานในส่วนกลาง จัดซื้อเสาไฟทั้งหมด 75 ต้น แต่ยังไม่มีการถ่ายโอนทรัพย์สิน ให้กับเทศบาลเมืองประจวบฯ
ขณะที่สำนักงานท่องเที่ยวไม่มีงบประมาณซ่อม และไม่ได้รับมอบหน้าที่ให้ดูแลรักษา ขณะนี้ไม่มีทะเบียนคุมพัสดุ จึงไม่ทราบว่าเสาไฟที่มีการติดตั้ง ปัจจุบันเหลือกี่ต้น สูญหายกี่ต้น ส่วนกรณีที่ปัจจุบันเสาไฟ ไม่สามารถใช้การได้ทั้งระบบ จะต้องเสนอให้มีการรื้อของเก่าที่ชำรุด มีการเสนอจัดทำแผนใช้งบประมาณในแผนพัฒนาจังหวัด เพื่อปรับปรุง เนื่องจากสถานที่ติดตั้งเสาไฟ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง
ต่อมาผู้สื่อข่าวได้สอบถาม นายกมล แก้วเทศ นายกเทศมนตรีเมืองประจวบฯ พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ยืนยันว่า จากการตรวจสอบ ขณะนี้ไม่มีเอกสารหลักฐาน ที่เทศบาลรับมอบเสาไฟฟ้าสูง 4 เมตร 60 ต้น ระยะทาง 500 เมตร จากสะพานสราญวิถี ถึงสะพานคลองบางนางรม
สำหรับรถยนต์ของทางราชการแห่งหนึ่ง ที่อ้างว่านำเสาเก่าไปขายและได้ไปขอเสาไฟกลับคืน ได้สั่งให้นิติกรตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า เป็นรถยนต์กระเช้าของเทศบาลเมืองหรือไม่ เนื่องจากรถที่กล่าวอ้าง มีทั้งของเอกชน และหน่วยงานอื่น เทศบาลจึงไม่ทราบว่า เสาไฟที่นำไปขายอยู่ที่ใด สอบถามจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไม่มีผู้ใดทราบข้อเท็จจริง
จ่าอากาศเอกเสกสรรค์ จันทร แกนนำเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า กรณีรถกระเช้าสีส้มของราชการ แอบนำเสาไฟสับปะรดไปขายเศษเหล็ก ราคา 1 พันบาท ได้นำหลักฐานไปลงบันทึกประจำวัน และให้เวลาไม่เกิน 7 วัน หากไม่มีคำตอบจะร้องเรียน ป.ป.ช. หลังจากสำนักงานจังหวัด ที่ใช้งบพัฒนาจังหวัดตั้งเสาไฟ 60 ต้น จากสะพานสราญวิถี ถึงสะพานบางนางรม
โยธาฯ อ้างว่า ได้มอบโครงการให้เทศบาลเมืองฯ ดูแลในยุคที่นายกมล แก้วเทศ นายกเทศมนตรีปัจจุบัน ยังเป็น ส.ท. จริงหรือไม่ ซึ่งพบว่า เสาไฟหายไป 24 ต้น พบเป็นซากที่อาคารบ่อบำบัดน้ำเสีย 3 ต้น หรือจะเป็นเสาไฟของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงกีฬาฯ ใช้งบตั้งเสา 75 ต้น จากสะพานสราญวิถี ถึงรั้วกองบิน 5 โดยหน่วยงานพื้นที่ไม่มีทะเบียนคุมพัสดุ ไม่ทราบจำนวนเสาไฟที่สูญหาย