11 พฤศจิกายน 2567 ทนายสายหยุด เพ็งบุญชู ทนายความของ ทนายตั้ม นายษิทรา เบี้ยบังเกิด เปิดเผยภายหลังเข้าเยี่ยม นางปทิตตา เบี้ยบังเกิด ภรรยาของทนายตั้ม ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง แต่ยังไม่ได้เข้าเยี่ยมทนายตั้ม ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพราะเข้าไปไม่ทัน โดยระบุว่า ช่วงเช้าตนติดงาน ทำให้กว่าที่จะเข้ามาเยี่ยมลูกความในเรือนจำ ก็เป็นเวลาเกือบ 14.00 น. จึงตัดสินใจไปเยี่ยม ภรรยาของทนายตั้ม ก่อน
เนื่องจากทนายตั้มฝากเอาไว้ว่า หากจะประกันตัวหรือจะทำอะไร ให้ไปหาภรรยาก่อน ซึ่งการเข้าเยี่ยมได้พูดคุยประมาณ 15 นาที ภรรยาทนายตั้มมีอาการเครียดและวิตกกังวล เป็นห่วงคนข้างนอก และคิดถึงลูก โดยได้ฝากข้อความไปบอกลูก และฝากตนว่าจะให้ใครเข้ามาเยี่ยมบ้าง รวมถึงมีการสอบถามเรื่องการประกันตัว แต่ตนก็ตอบกลับไปว่า ขณะนี้ยังตอบไม่ได้เนื่องจากต้องรอให้พ้นฝากขังแรก 12 วันไปก่อน
ผมบอกกับภรรยาของทนายตั้มไปว่า “ไม่ต้องกังวล ทำใจให้สบาย อย่าเจ็บป่วย และต้องอยู่ให้ได้” ซึ่งตนมาเยี่ยมคนบ่อย มีประสบการณ์ว่าข่าวคราวเรื่องอะไรที่ไม่ดีจากข้างนอก ก็จะไม่แจ้งกับลูกความ เพราะลูกความจะมีความกังวลอยู่เป็นทุนเดิม
ส่วนเรื่องคดี ภรรยาทนายตั้ม ให้ข้อมูลกับตนเพียงอย่างเดียวว่า มีการตกลงกับทนายตั้มเอาไว้ในการแต่งงานว่า หากมีอะไรต้องโอนเป็นชื่อของตนเอง ซึ่งกรณีกรณีที่ทนายตั้มถูกแจ้งข้อกล่าวหา ภรรยาก็ไม่ทราบเลยว่า ทนายตั้มไปทำอะไร รู้เพียงว่าตัวเองไปรับโอนที่ดินโดยทนายตั้มเป็นคนซื้อแคชเชียร์เช็คไปในวันรับโอน
เมื่อถามว่า เป็นสามีภรรยาอยู่ด้วยกันจะไม่รู้ได้อย่างไรนั้น ทนายสายหยุด มองว่า บางคนก็ปกปิด ไม่จำเป็นจะต้องบอกทุกอย่างว่าไปทำอะไรมา ทนายตั้มก็เป็นทนายดัง การซื้อบ้านในราคา 30 ล้านปลายๆ ส่วนตัวมองว่าก็พอเป็นไปได้
ทนายสายหยุด ยืนยันว่า ขณะนี้มุ่งเน้นไปที่การประกันตัวภรรยาทนายตั้ม ส่วนตัวของทนายตั้มได้สั่งการไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า จะขออยู่ในเรือนจำจนกระทั่งพิจารณาคดี เนื่องจากทนายตั้มเป็นทนายความมา 20 ปี น่าจะพอทราบดีว่า ส่วนของตัวเองนั้นขอประกันตัวได้ยาก
ส่วนก่อนหน้านี้ ที่ตนเคยยื่นขอประกันตัวภรรยาทนายตั้มไปแล้ว ศาลรับคำร้องแต่ไม่อนุญาตให้ประกันนั้น การยื่นขอประกันตัวในครั้งหน้าศาลจะอนุญาตหรือไม่ ทนายสายหยุด มองว่า ต้องดูหลายอย่างประกอบกัน ทั้งการสอบสวน การรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวน และพยานหลักฐานที่ฝ่ายตนจะนำมาประกอบคำร้องว่า ภรรยาของทนายตั้ม ไม่น่าจะทราบว่าเงินที่ได้นั้น ได้มาจากการกระทำความผิด ซึ่งฝ่ายผู้กล่าวหาก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าภรรยาของนายตั้มรู้ หรือควรรู้ว่าเงินที่ได้รับมาจากการกระทำผิด และตอนนี้ตนยังมีหลักฐานเท่าเดิมที่เคยให้สัมภาษณ์ไป เนื่องจากทำงานอื่นอยู่ด้วย เลยยังไม่ได้รวบรวมเพิ่มเติม
ส่วนของทนายตั้ม ทนายสายหยุด บอกว่า พรุ่งนี้เช้าตนจะเข้าไปเยี่ยม ซึ่งหากยังต้องเยี่ยมผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์อยู่ในช่วง 5 วันแรก ก็คงจะถามในเรื่องส่วนทั่วไป เมื่อพ้น 5 วันไปแล้วถึงจะคุยเรื่องคดี เพราะมองว่าผ่านคอนเฟอเรนซ์แล้วไม่เป็นส่วนตัว
ส่วนกรณีเงิน 39 ล้านบาท ที่ตำรวจยังไม่เจอตัว “สากับนุ” มีความกังวลอะไรหรือไม่ ทนายสายหยุด บอกว่า ตนขอไม่ก้าวล่วงดีกว่า เพราะคดีนี้ยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหากับทนายตั้ม และตนก็ยังไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีนี้ หากวิพากษ์วิจารณ์ไปก็ไม่ดี หากมีการออกหมายจับทั้ง 2 คนในภายหลัง แล้วมีความเกี่ยวพันกับทนายตั้ม ตามหลักกฏหมายแล้ว คนที่ซัดทอดคนอื่นเพื่อให้ตัวเองพ้นผิด ก็เป็นพยานที่ฟังได้ยากเหมือนกัน ตนยังไม่ได้ถามรายละเอียดเรื่องนี้กับลูกความเช่นกัน
“ถ้าผมดูพยานหลักฐานของตำรวจ แล้วชัดเจนว่าลูกความผมกระทำความผิดจริง ผมไม่รับทำแน่นอน ถ้าผมดูแล้วอย่างที่เป็นข่าวว่า มีอันนั้นอันนี้มาแตะเชื่อมโยง ฟังดูว่าเขาผิดแล้วให้ผมไปสู้คดีผมคงไม่รับ เพราะทำคดีแพ้ผมไม่อยากทำ”
ส่วนประเด็นเรื่องเงิน 71 ล้าน หรือ 2 ล้านยูโร ที่ก่อนหน้านี้ธงการต่อสู้คดีว่า จากให้โดยเสน่หามาเป็นให้ในการลงทุนนั้น ทนายสายหยุด บอกว่า เงิน 71 ล้าน ในคดีแพ่ง บอกไว้ว่า “ผู้ให้ให้ทรัพย์ ผู้รับรับทรัพย์” บอกไว้เพียงแค่นี้ แต่ต้องมาตีความว่า ที่ทนายตั้มบอกว่า ให้โดยเสน่หานั้น มันเหมือนกับการไปขอเงินที่อ้อยมาทำธุรกิจเลี้ยงครอบครัว ไปขอเขา 2 ล้านยูโร พี่อ้อยบอกว่า “ไม่มากนิ เดี๋ยวพี่ช่วย“ ทนายตั้มก็รับมา ซึ่งข้อเท็จจริงตรงที่ว่า จะคืนเมื่อไหร่ คืนอย่างไร ตรงนั้นหายไป ทำให้ทนายตั้มเข้าใจว่าให้โดย เสน่หา
แต่ถ้าไม่ให้โดยเสน่หา ก็เทียบเคียงเป็นยืมหรือเปล่า นี่เป็นความคิดผม ส่วนที่ทนายตั้มไปพูดในรายการโหนกระแสนั้น ก็มองว่า พิธีกรไม่ใช่พนักงานสอบสวน และนั่นไม่ใช่คำให้การ เขาพูดออกไปแบบนั้นผมก็ไม่รู้เขาคิดยังไง
เงินที่ได้จาก เจ๊อ้อย ทนายตั้มก็ทำคนเดียว ไม่ได้ชวนใครมาลงทุน หรือตอนได้เงินมาก็ไม่ได้พูดว่า จะให้ผลตอบแทนพี่อ้อยเท่าไหร่ หรือมีลักษณะการชวนลงทุน ซึ่งในคำให้การของทนายตั้ม ตนมองว่า “เมื่อไม่ได้มีการพูดเรื่องชักชวนลงทุน มันเป็นการหลอกตรงไหน ผมก็บอกว่า ถ้ายืมก็ยืม มาทวงตามกฎหมาย มันมีข้อกฎหมายยึดทรัพย์ ไม่ใช่มารวมทุกอย่างแบบนี้แล้วเอาเขาเข้าคุก แบบนี้ไม่น่าจะถูก”
ทนายสายหยุด ยังย้ำอีกว่า ทนายตั้ม ไปขอเงินเจ๊อ้อยมาลงทุน ไม่ได้มีคำว่า “ยืม” และที่ผ่านมา เจ๊อ้อยก็ไม่ได้ทวงถามอะไรเลย ตั้งแต่ที่ยืมมาเมื่อช่วง มกราคม 2567 แต่เพิ่งจะมาทวงคืนเดือนกันยายนนี่เอง และตอนที่ไปขอเงินก็ไม่มีสัญญาอะไร และมองว่าหากบอกว่า ทนายตั้มหลอกลวงเอาเงินมาลงทุน ทำไมถึงไม่มีการถามความคืบหน้า ผลตอบแทน หรืออะไรเลย ผมขอยืนยันว่า ไม่ใช่การร่วมลงทุน และเมื่อตอนที่เจ๊อ้อยมาทวง ทนายตั้มก็มาบอกตนเองว่า “พี่อ้อยทวงเงินผมพี่ ผมก็เลยบอกไปว่า ก็รอไว้ละกัน เขามาฟ้อง ก็ไปไกล่เกลี้ยกัน”
ส่วนเงินที่กองปราบฯ ยึดมาได้ เป็นเงินสด 28 ล้าน และบ้านมูลค่า 43 ล้าน รวมกันแล้วได้ 71 ล้าน ประเด็นนี้ตรงกับเงินที่ทนายตั้มไปขอพี่อ้อยมาใช่หรือไม่ ประเด็นนี้ ตนยังไม่ได้ถาม แต่ที่ทราบ แคชเชียร์เช็ก 2 ใบ 9 ล้าน และ 29 ล้าน รวมกัน 38 เกือบ 39 ล้าน ส่วนเงินสดในบัญขีที่อายัดไปผมไม่ทราบ ผมถือว่าเป็นมาตรการยึดทรัพย์ของ ปปง. ถ้าเราสู้คดีหลักได้ เขาก็คืนให้
เปิดข้อมูล ทนายตั้ม จ่ายเช็คซื้อบ้านหรู 2ฉบับ
สำหรับแคชเชียร์เช็ค ที่จ่ายเงินซื้อบ้าน ที่ตำรวจสอบสวนกลางยึดทรัพย์นั้น ตามที่ทนายสายหยุดให้ข้อมูลพบว่า มีหลักฐานเป็นแคชเชียร์เช็คค่าซื้อบ้าน 2 ฉบับ สั่งจ่ายธนาคารกรุงเทพ เพื่อชำระหนี้ ค่าจำนองโครงการหมู่บ้าน จำนวน 29,652,000บาท ส่วนอีกฉบับสั่งจ่าย โครงการ เอสซี แอสเสทจำนวน 9,608,000 บาท เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2566 ทั้ง 2 ฉบับ