นายกรัฐมนตรีโช จุงไถ ของไต้หวัน แถลงในวันศุกร์ (4 เมษายน) โดยย้ำว่า การขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ต่อสินค้านำเข้าจากไต้หวัน ไม่ยุติธรรมและไม่สมเหตุผล และจะจัดสรรเงินเยียวยา 2,650 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะภาคอิเล็กทรอนิกส์และเหล็ก ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด
นอกจากนี้ช่วง สุ่ย ยุน รัฐมนตรีคลัง แถลงด้วยว่า รัฐบาลจะลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แก่ผู้ส่งออกรวมเป็นเงิน 6,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีศุลกากรกับสินค้านำเข้าจากทุกประเทศเป็นอัตรา 10% และเก็บภาษีในอัตราสูงกว่าสำหรับสินค้าจากราว 60 ประเทศและดินแดน ที่รวมถึงไต้หวัน โดยไต้หวันเจออัตราภาษี 32% แต่ได้รับยกเว้นสินค้ากลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไต้หวัน
ไต้หวันยังไม่ประกาศมาตรการตอบโต้ใด ๆ ต่อสหรัฐฯ ส่วนจีน ซึ่งเผชิญอัตราภาษีสูงที่สุด ประกาศขึ้นภาษีสำหรับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ อีก 34% แล้ว พร้อมกับมาตรการจำกัดการส่งออกด้วยการขึ้นบัญชีดำบริษัทอเมริกันหลายราย
ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยังมีการสื่อสารที่สร้างความสับสนว่า การประกาศของทรัมป์เป็นมาตรการเด็ดขาดหรือแค่ยุทธวิธีเพื่อให้ได้ข้อแลกเปลี่ยน ทรัมป์ อ้างว่า เวลานี้ทุกชาติเข้าหาสหรัฐฯ เพื่ออยากเจรจา ขณะที่โฮเวิร์ด ลุตนิค รัฐมนตรีพาณิชย์ และปีเตอร์ นาร์วาร์โร ที่ปรึกษาการค้า บอกว่า ประธานาธิบดีจะไม่เปลี่ยนใจ และการขึ้นภาษีไม่ใช่สิ่งที่จะมีการเจรจาต่อรอง
ด้านนายกรัฐมนตรีจอร์เจีย เมโลนี ของอิตาลี กล่าวในวันศุกร์ว่า อิตาลีและยุโรปจำเป็นต้องเปิดการเจรจากับสหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ยกเลิกภาษีศุลกากรทั้งหมด
ส่วนรัสเซีย เบลารุส คิวบา และเกาหลีเหนือ รอดพ้นจากการขึ้นภาษีของทรัมป์ แต่ทำเนียบเครมลินของรัสเซีย เผยในวันศุกร์ว่า รัสเซียต้องเตรียมมาตรการเพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ จากความผันผวนสูงมากในตลาดโลก หลังการขึ้นภาษีของทรัมป์ต่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก