4 เมษายน 2568 กลายเป็นกระแสผวา “ไชน่า เรลเวย์” ลามไปทั่วประเทศ หลังจากมีชื่อเป็นผู้ร่วมก่อสร้างอาคาร สตง. ที่โดนแผ่นดินไหวห่างๆ ก็ถล่มพังลงมาทั้งตึก แถมยังไปซื้อเหล็กจากบริษัทยักษ์ใหญ่ทุนจีนด้วยกัน เป็นเหล็กมาตรฐานต่ำมาก่อสร้างอีกด้วย
ล่าสุดกระแสนี้ลามไปถึง “เมืองพัทยา” แหล่งท่องเที่ยวสำคัญติดอันดับโลกของไทย โดยข่าวน่าตกใจมีอยู่ว่า “ไชน่า เรลเวย์” เข้าไปมีเอี่ยวในโครงการก่อสร้าง รถไฟฟ้ารางเบา หรือ “โมโนเรล” ของเมืองพัทยา (ลักษณะจะคล้ายๆ กับ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสีชมพู ในกรุงเทพฯ) โดยมีการเสนอเงินก่อสร้างให้ถึง 2 หมื่น 6 พันล้าน โดยพร้อมลงนามในสัญญาทันที
ปรากฏว่าเมื่อข่าวนี้เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ ทาง “นายกเบียร์” ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา ถึงขั้นออกอาการ “รับไม่ได้” ต้องออกมาชี้แจงทันทีว่า “นี่คือ เฟคนิวส์ชัดๆ”
“นายกเบียร์” ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา
“นายกเบียร์” ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา ชี้แจงว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ในช่วงที่ตนเข้ามาบริหารเมืองพัทยาให้เป็นสมาร์ทซิตี้ และเมืองน่าอยู่ ในฐานะเมืองท่องเที่ยวระดับโลก ซึ่งก็ประสบความสำเร็จด้วยดี และก็ได้มีโครงการศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยา ในรูปแบบรถไฟฟ้ารางเบา หรือ “โมโนเรล” โดยได้จ้างบริษัทที่ปรึกษา เพื่อศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เบื้องต้นเสนอให้มีการก่อสร้าง 3 สาย
สายแรกคือสายสีเขียว จะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินด้วย แต่ข้อสรุปยังไม่สมบูรณ์ 100% และยังไม่ได้ส่งไปที่รัฐบาลในส่วนกลางพิจารณา
ฉะนั้นข่าวที่ออกมา จึงน่าจะเป็นช่วงที่มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเกิดขึ้นก่อนตนเข้ารับตำแหน่งนายกเมืองพัทยาด้วยซ้ำ และเมื่อตรวจสอบก็ทราบว่า มีตัวแทน บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ เข้ามาร่วมรับฟังในเวทีดังกล่าว ซึ่งก็มีหลายบริษัททั้งในและต่างประเทศ ไม่ใช่แค่บริษัทนี้เท่านั้น
ส่วนข้อสรุปยังไม่มีการตัดสินใจ หรือจัดซื้อจัดจ้างใดๆ ทั้งสิ้น และไม่มีการเปิดให้เอกชนรายใดเสนอให้ร่วมลงทุนด้วย
ฉะนั้นข่าวที่ออกมา จึงเป็นเฟคนิวส์ และไม่มีโครงการใดของเมืองพัทยาที่ไปเกี่ยวข้องกับบริษัทที่ก่อสร้างตึก สตง.ถล่มอย่างแน่นอน
“นายกเบียร์” ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา
สำหรับ โครงการก่อสร้าง รถไฟฟ้ารางเบา หรือ “โมโนเรล” ของเมืองพัทยา ได้มีการเปิดให้ศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทดสอบความสนใจของภาคเอกชนร่วมลงทุนแบบ PPP ในช่วงปี 2563 มีการเปิดให้ภาคเอกชน ได้แสดงความคิดเห็นและสอบถามถึงการลงทุน
ซึ่งโครงการมาจากจากนโยบายการผลักดันให้เมืองพัทยา เป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยวที่สำคัญของโลก จึงต้องมีการวางแผนขับเคลื่อนการพัฒนา ให้สอดคล้องต่อแผนของนโยบายหลักของ EEC โดยเฉพาะระบบโครงข่ายด้านขนส่งสาธารณะในเมืองที่เชื่อมต่อกับระบบหลัก จึงได้ติดตามการศึกษาเกี่ยวกับการจัดทำระบบขนส่งสาธารณะแบบรถไฟฟ้าในเมืองพัทยาขึ้นและได้กำหนดรูปแบบรถไฟฟ้าไว้ 3 ประเภท คือ การจัดทำโครงการในรูปแบบบนพื้นถนนหรือ Tram แบบยกระดับหรือ BTS หรือ Monorail และแบบใต้ดินหรืออุโมงค์
ซึ่งจะต้องมีวิเคราะห์ปัจจัยหลักทางด้านกายภาพ สภาพถนนเดิม เส้นทาง และการเวนคืนที่ดิน รวมทั้งผลกระทบสิ่งแวดล้อมและงบประมาณการลงทุน โดยจากผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นในครั้งที่ 1 พบว่า โครงสร้างทางวิ่งระดับดินหรือ Tram เป็นรูปแบบทางวิ่งที่ก่อสร้างระดับเดียวกับถนนเดิม มีผลกระทบต่อการใช้พื้นที่ผิวการจราจร เนื่อง จากถนนมีความกว้างน้อยและจุดตัดมาก จะส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจร
ขณะที่โครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน เป็นรูปแบบทางวิ่งใต้ระดับถนนเดิม จะมีค่าก่อสร้างสูงมาก และรูปแบบนี้เหมาะสำหรับถนนที่มีความกว้าง เขตทางเดิมมากเช่นกัน
ส่วนระบบยกระดับซึ่งได้เลือกระบบ Monorail เป็นโครงสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่สูงกว่าระดับถนนเดิมแล้ว แต่การกำหนด การก่อสร้างที่มีผลกระทบน้อย เพราะจะมีเพียงพื้นที่ก่อสร้างตอม่อ หรือ Pier ที่กว้างเพียง 1.8 เมตร และมีการนำมาประกอบเพื่อลดผลกระทบระหว่างการก่อสร้าง ขณะที่งบการลงทุนก็น้อยกว่าระบบอื่น ที่สำคัญเหมาะกับพื้นที่ผิวถนนเดิมของเมืองพัทยาที่มีความกว้างเขตทางไม่มากนัก
ขณะที่เส้นทางการเดินรถกำหนดไว้ 3 เส้นทางหลักคือ 1.สายสีแดง ระยะ 8.20 กม.วิ่งจากสถานีรถไฟพัทยา-มอเตอร์เวย์-ถนนพัทยาเหนือ-ถนนสายชายหาด-ท่าเรือบาลีฮาย 2.สายสีเขียว ระยะ 9 กม.วิ่งจากสถานีรถไฟพัทยา-มอเตอร์เวย์-ถนนพัทยาเหนือ-ถนนพัทยาสายสอง-แยกทัพพระยา-แหลมบาลีฮายและ 3.สายสีม่วง วิ่งจากสถานีรถไฟพัทยา-มอร์เตอร์เวย์-ถนนพัทยาเหนือ-ถนนพัทยาสาย 3-ถนนทัพพระยา-แหลมบาลีฮาย
และจากผลการศึกษาทางกายภาพและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พบว่า สายสีเขียว เป็นเส้นทางที่มีความเหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากเป็นเส้นทางหลักที่ประชาชนใช้ในการสัญจร และไม่จำเป็นต้องมีการเวนคืนที่ดินมากนัก ส่วนบริเวณถนนพัทยาสายสอง ไม่มีอาคารที่มีความสูงเกิน 4 ชั้นมาก ทำให้การยกระดับไม่จำเป็นต้องใช้ระดับความสูงซึ่งอาจส่งผลต่องบประมาณในการลงทุน ทั้งสถานีจอดและทัศนียภาพ อย่างไรก็ตาม สำหรับเส้นทางนี้อาจต้องมีการเวนคืนที่ดินบ้าง เช่น ริมถนนมอร์เตอร์เวย์ด้านทิศใต้เลียบรั้วตลอดแนว เพื่อไม่ให้ไปรบกวนเส้นทางหลัก