3 เมษายน 2568 จากกรณีที่ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ใช้อำนาจอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รับคดีนอมินี บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผู้ก่อสร้างตึก สตง.ที่ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว เป็นคดีพิเศษที่ 32/2568 ตามความผิด พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุด พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และในฐานะโฆษกดีเอสไอ เปิดเผยว่า สำหรับการลงพื้นที่รวบรวมพยานหลักฐานในคดีดังกล่าว วานนี้ (2 เม.ย.) ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ลงพื้นที่ไปยังอาคารสำนักงานของ บ.ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมกับเจ้าหน้าที่สรรพากร
ส่วนพื้นที่หลัก เน้นตรวจสอบในเรื่องของพยานหลักฐานเอกสาร ทั้งหนังสือสัญญากิจการร่วมค้า และข้อมูลนิติบุคคล และบุคคลที่เกี่ยวข้อง เป็นที่มาของการสอบสวนคดีนอมินี โดยดีเอสไอจะยังไม่ได้มีการลงพื้นที่ไปยังจุดอาคาร สตง. ถล่ม
พ.ต.ต.วรณัน กล่าวถึงกรณีที่มี 3 คนไทยไปเป็นกรรมการผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บ.ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ว่า ขณะนี้ ดีเอสไอ ได้เร่งตรวจสอบข้อมูลของทั้ง 3 รายแล้ว เพราะพยานหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในตอนนี้พบว่า สถานะของทั้งหมดไม่ได้มีความสอดคล้องกับการถือหุ้นในธุรกิจขนาดใหญ่ และไม่ได้มีเพียงที่เดียว แต่ยังมีอีกหลายที่ ดีเอสไอจะต้องลงลึกไปยังรายละเอียดต่าง ๆ ต้องสอบสวนเพื่อให้ปรากฏข้อเท็จจริง
ซึ่งถ้าหากมีหลักฐานเพียงพอ ก็จะต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหาตามความผิด พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาตรา 36 ระบุว่า ผู้มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่มิใช่คนต่างด้าวตามพระราชบัญญัตินี้ให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนหรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว อันเป็นธุรกิจที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ โดยคนต่างด้าวนั้นมิได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจดังกล่าว
หรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวโดยแสดงออกว่าเป็นธุรกิจของตนแต่ผู้เดียว หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด หรือนิติบุคคลใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
รวมทั้งคนต่างด้าวซึ่งยินยอมให้ผู้มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่มีใช่คนต่างด้าวตามพระราชบัญญัตินี้กระทำการดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 บาท - 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งอาจมีความผิดตามมาตรา 8 มาตรา 9 ด้วย เพราะการก่อสร้างเป็นธุรกิจประเภท 3 ที่ห้ามต่างชาติประกอบธุรกิจ จากนั้นทั้งหมดจะได้เข้าสู่กระบวนการชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อที่พนักงานสอบสวนจะได้รู้ได้ว่า ทั้ง 3 ชาวไทยนี้เข้าถือหุ้นแทนใครกันแน่
พ.ต.ต.วรณัน กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีเรื่องเหล็กของบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ทราบว่าอยู่ระหว่างการตรวจสอบของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งจะได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ดีเอสไอไปประสานข้อมูลกับ สมอ. ต่อไป
พ.ต.ต.วรณัน กล่าวต่อว่า ในวันพรุ่งนี้ (4 เม.ย.) จะเป็นการประชุมนัดแรกของคณะพนักงานสอบสวน โดยจะเป็นการประชุมเปิดคดี กำหนดประเด็นการสอบสวน มอบหมายหน้าที่ให้ดำเนินการในส่วนต่าง ๆ รวมถึงพิจารณาเรื่องการออกหมายเรียกพยานกลุ่มแรก
ขณะที่ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า เช้าวันนี้ได้มีเจ้าหน้าที่สรรพากร เดินทางมาร้องทุกข์กล่าวโทษกับดีเอสไอ โดยเป็นการร้องทุกข์กล่าวโทษบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด (Xin Ke Yuan Co., Ltd.) เนื่องด้วยบริษัทฯ มีพฤติการณ์ออกเอกสารใบกำกับภาษีปลอม ตั้งแต่ปี 2558-2560 มูลค่าความเสียหาย 200 กว่าล้านบาท แต่ถ้ารวมค่าเบี้ยปรับต่าง ๆ อาจสูงถึง 1,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อดีเอสไอได้เข้าสู่กระบวนการสอบสวน จะต้องมีการพิจารณาพยานหลักฐานเพื่อออกหมายเรียกพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด มาสอบปากคำ อย่างไรก็ตาม อาจรวมรายละเอียดทางคดีนี้เข้าไว้ในเลขคดีพิเศษ 32/2568 (คดีนอมินี) ก็ได้ หรืออาจแยกเป็นอีกคดีพิเศษก็ได้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของอธิบดีดีเอสไอ และขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานด้วย
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าในวันพรุ่งนี้ (4 เม.ย.) เวลา 09.00 น. คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 32/2568 หรือคดีนอมินี บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ จะมีการประชุมครั้งที่ 1 โดยมี ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นประธานการประชุม มี พ.ต.ท.อมร หงษ์ศรีทอง ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ และ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค เป็นรองหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน พร้อมกับเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ รวมทั้งหมด 36 ราย เป็นคณะพนักงานสอบสวน ร่วมประชุมกำหนดแนวทางการสอบสวนต่อไป