svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ส่องตัวเต็งผู้นำใหม่ฮามาส ยุติสงครามมีโอกาสแค่ไหน

การเสียชีวิตของยาห์ยา ซินวาร์ ผู้นำฮามาส ทำให้มีการจับตาว่า ใครจะขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่ และจะส่งผลอย่างไรต่อการเจรจาหยุดยิงในฉนวนกาซาและการปล่อยตัวประกัน โดยสุดท้ายจะนำไปสู่การยุติสงครามได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้นำอิสราเอลต่อจากนี้

แม้ยังไม่ทราบว่า ยาห์ยา ซินวาร์ ผู้นำสูงสุดของฮามาส ที่ถูกอิสราเอลสังหารเมื่อวันพุธ (16 ตุลาคม) ได้วางตัวทายาที่จะสืบทอดตำแหน่งต่อจากเขาหรือไม่ แต่โมฮัมเหม็ด ซินวาร์ น้องชายของเขาถูกจับตาจากหลายคนว่าจะขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่ เขาเหมือนกับพี่ชายที่เป็นนักรบสายเหยี่ยว และเพิ่งขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารของฮามาสเมื่อเร็ว ๆ นี้

นอกจากนี้มูซา อาบู มาร์ซุก รองหัวหน้าฝ่ายการเมืองของฮามาส ที่มีส่วนช่วยก่อตั้งฮามาส อาจเป็นอีกตัวเลือกที่จะได้รับตำแหน่งแทนซินวาร์ เขาเคยอยู่ในสหรัฐฯ 5 ปี ก่อนถูกสำนักงานสอบสวนกลางขึ้นบัญชีดำเป็นผู้ก่อการร้าย และถูกเนรเทศในที่สุด

ส่วนคาหลิด มีชาอัล อดีตผู้นำทางการเมืองของฮามาส ก็เป็นตัวเต็งที่ทรงอิทธิพล เขาเป็นที่รู้จักในเวทีระหว่างประเทศ เคยพบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคน รวมถึง อดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ของสหรัฐฯ และอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน  แต่เขาอาจมีความยากลำบาก เพราะในอดีตเคยสนับสนุนการลุกฮือของชาวสุหนี่เพื่อโค่นล้มประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาดของซีเรีย ทั้ง ๆ ที่ฮามาสเป็นกลุ่มชาวชีอะห์ และได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวชีอะห์

ตัวเต็งอีกคน คือ คาลิล อัล เฮย์ยา รองผู้นำฮามาสของซินวาร์ เขาเป็นหัวหน้าเจรจาของฮามาสระหว่างการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงในกรุงไคโรของอียิปต์เมื่อเร็ว ๆ นี้ และพำนักอยู่ในกาตาร์

แม้ที่ผ่านมาฮามาสมักฟื้นตัวกลับมาแข็งแกร่งได้ใหม่ หลังเหตุการณ์ลอบสังหารผู้นำหลายครั้งที่ผ่านมา แต่ยังยากที่จะบอกได้ว่า ครั้งนี้จะสามารถสร้างความเป็นปึกแผ่นได้อย่างไร เพราะโครงสร้างในองค์กรเปลี่ยนไปภายใต้การนำของซินวาร์ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง หลังการเสียชีวิตของอิสมาอิล ฮานิเยห์ จากการโจมตีของอิสราเอลขณะเขาอยู่ในกรุงเตหะรานของอิหร่านเมื่อเดือนกรกฎาคม

ส่องตัวเต็งผู้นำใหม่ฮามาส ยุติสงครามมีโอกาสแค่ไหน

ซินวาร์รวบอำนาจไว้ที่ตัวเองในช่วงสงคราม กลายเป็นผู้นำคนเดียวที่มีอำนาจตัดสินใจในฉนวนกาซา หลังจากผู้นำระดับสูงอีก 2 คนในกาซาเสียชีวิต ได้แก่ โมฮัมเหม็ด เดอิฟ ผู้บัญชาการกองพลน้อย อัล-กัสซัม ที่ถูกสังหารจากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลในเดือนกรกฎาคม และมาร์วัน อิสซา รองผู้บัชาการของอัล-กัสซัม ที่เสียชีวิตในเดือนมีนาคม แต่ฮามาสไม่เคยยืนยันการตายของพวกเขา

จอห์น เคอร์บี โฆษกด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาวของสหรัฐ ยอมรับว่า ยังไม่มีข้อมูลเจาะลึกว่าใครจะรับตำแหน่งต่อจากซินวาร์ และผู้นำใหม่คนนี้จะมีความเต็มใจมากกว่าที่จะรื้อฟื้นการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงและปล่อยตัวประกันหรือไม่ เขาบอกด้วยว่า ที่ผ่านมาซินวาร์เป็นอุปสรรคสำคัญ ที่ขัดขวงการเจรจาไม่ให้เดินหน้าต่อได้  และต้องรอดูว่า การตายของเขาจะชุบฟื้นการเจรจาได้หรือไม่

ขณะที่นักวิเคราะห์ มองว่า การเสียชีวิตของซินวาร์ที่สร้างความสะเทือนครั้งใหญ่ให้กับฮามาส อาจทำให้สงครามในฉนวกาซาใกล้ยุติ แต่จะเกิดขึ้นได้หากอิสราเอลและพันธมิตรคว้าโอกาสนี้ไว้ เพราะเดิมฮามาสมีการกระจายอำนาจบริหารจากส่วนกลาง แต่ซินวาร์ได้รวบอำนาจไว้ที่ตัวเองทั้งหมด และในช่วงสูญญาศและความสับสนในหมู่สมาชิกอย่างนี้ อิสราเอลควรใช้โอกาสนี้เพื่อหาทางยุติสงคราม แต่ดูเหมือนว่า นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ต้องการฉวยจังหวะฮามาสสูญเสียผู้นำ เพื่อยกระดับการสู้รบหนักหน่วงยิ่งขึ้น

ส่องตัวเต็งผู้นำใหม่ฮามาส ยุติสงครามมีโอกาสแค่ไหน

เนทันยาฮูประกาศหลังกองทัพยืนยันการตายของซินวาร์ยังไม่ใช่จุดจบของสงคราม และสงครามจะยุติได้หากสมาชิกฮามาสวางอาวุธ และช่วยให้ตัวประกันได้รับการปล่อยตัว 

ที่ผ่านมาเนทันยาฮู ยืนยันว่า เป้าหมายหลัก คือ กำจัดฮามาสให้สิ้นซาก แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเตือนว่า ไม่มีทางบรรลุผลได้ เพราะต่อให้ฮามาสอาจอ่อนแอลงอย่างมาก ก็ยังมีศักยภาพยิงจรวดโจมตีอิสราเอลได้อยู่ เมื่อเร็ว ๆ นี้อิสราเอลก็ต้องบุกเข้าภาคเหนือของฉนวนกาซาอีกครั้ง เพราะมีการรวมตัวครั้งใหม่ของฮามาส

ขณะที่ครอบครัวของตัวประกัน เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการนำตัวประกันกลับบ้านเป็นอันดับแรก และเมื่อไม่มีซินวาร์แล้ว น่าจะเป็นเรื่องง่ายขึ้น 

สถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อจากนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเนทันยาฮู ที่กำลังเผชิญแรงกดดันทั้งจากพรรคร่วมรัฐบาลสายสุดโต่ง ที่อยากให้ถอนรากถอนโคนฮามาส และแรงกดดันจากสหรัฐฯ และพันธมิตรอื่น ๆ ที่ต้องการให้อิสราเอลบรรลุข้อตกลงหยุดยิงและลดการสูญเสียเลือดเนื้อของพลเรือนในกาซา ในขณะที่ตัวเองเผชิญการสอบสวนทางอาญาหลายคดี และการประท้วงภายในประเทศที่เรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่ง