นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า อัตราการว่างงานในไตรมาส 3 ปีนี้อยู่ที่ 1.23% ลดลงต่อเนื่อง ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 64 เช่นเดียวกับการว่างงานในระบบ ก็ลดลงมาตั้งแต่ไตรมาส 1/65 มาอยู่ที่ 2%
ทั้งนี้หากพิจารณาการว่างงานจากระดับการศึกษาพบว่า แม้การว่างงานลดลงทุกระดับการศึกษา แต่ก็ต้องจับตาที่ระดับอุดม ที่มีอัตราสูงที่สุดที่ 2.49 % หรือ กว่า 185,410 คน แม้ลดลง แต่ยังอยู่ระดับที่อาจต้องมีการเข้าไปดูแลเพิ่มเติม
"ผู้ว่างงานอุดมศึกษา ประมาณ 66% เป็นกลุ่มที่ไม่เคยทำงานมาก่อน นั่นหมายถึงว่าเป็นเด็กจบใหม่ ส่วนอีก 33.4% เป็นกลุ่มที่เคยทำงานมาก่อน โดยผู้ที่ว่างงานระดับอุดมศึกษา ส่วนใหญ่จบสังคมศาสตร์และบริหารธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ประมาณกว่า 60% ที่เหลือเป็นสาขาวิทยาศาสตร์ และสาขาอื่น ๆ ที่เป็นความต้องการ ประมาณ 10%"
สำหรับสถานการณ์การจ้างงาน ณ ไตรมาส 3/65 ขยายตัวได้ดีขึ้น โดยมีการจ้างงาน 39.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.1% จากการขยายตัวของการจ้างงาน นอกภาคเกษตรกรรมที่ขยายตัว 4.3%
โดยสาขาที่ขยายตัวได้ดี คือ การผลิต การค้าส่งค้าปลีก และ สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ซึ่งสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดีขึ้น แต่ในแง่แรงงานภาคการท่องเที่ยวยังมีปัญหา
ขณะที่ชั่วโมงการทำงานหลัก ปรับตัวดีขึ้น ภาพรวมอยู่ที่ 42.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งในส่วนภาคเอกชนอยู่ที่ 46.7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2562 หรือก่อนโควิด ก็อยู่ระดับเดียวกัน แสดงว่าขณะนี้ภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ มีการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นแล้ว
ส่วนผู้เสมือนว่างว่างงานลดลงเหลือ 1.9 ล้านคน จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 2.2 ล้านคน และผู้ทำงานล่วงเวลาก็มีมากขึ้นที่ 6.8 ล้านคน จากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 6.3 ล้านคน ด้านค่าจ้างแรงงาน แม้ปรับตัวดีขึ้น แต่ค่าจ้างที่แท้จริงหดตัวลงเล็กน้อย
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจมีการฟื้นตัว แต่เรื่องแรงงาน ก็ต้องดูแลเรื่องภาระค่าครองชีพของแรงงาน แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาจะการปรับค่าแรงขั้นต่ำไปแล้ว เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ทีผ่านมา สำหรับแรงงานที่อยู่ในระบบ แต่แรงงานนอกระบบที่มีกว่า 50% โดยเฉพาะกลุ่มภาคเกษตร ยังคงเป็นกลุ่มที่มีปัญหา เรื่องค่าครองชีพอยู่
นอกจากนี้กลุ่มแรงงานนอกระบบสัดส่วน 84% จบการศึกษาต่ำกว่ามัธยมศึกษา หรือว่าเทียบเท่า มัธยมศึกษา ซึ่งคงเป็นเรื่องที่ต้องมีการปรับ นำเขาเข้ามาในระบบ แล้วก็เพิ่มทักษะต่าง ๆเข้าไป
ด้านแรงงานท่องเที่ยว ยังมีปัญหาขาดแคลน ถ้าสามารถนำแรงงานที่อยู่นอกระบบเข้าไปได้ ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาในภาคท่องเที่ยวได้ ซึ่งก็คงต้องปรับทักษะฝีมือแรงงานก่อน
อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีบางพรรคการเมืองมีนโยบายหาเสียง โดยประกาศจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวันว่า หากปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ก็ต้องปรับค่าแรง สำหรับแรงงานฝีมือด้วย เพื่อให้เกิดส่วนต่างระหว่างคนที่มีทักษะกับคนที่ไม่มีทักษะ
แต่ภาระก็จะตกไปอยู่กับผู้ประกอบการ และถ้ามีการปรับจริงผู้ประกอบการคงหันไปใช้หุ่นยนต์และปลดคนงานออก ดังนั้นต้องเน้นเพิ่มทักษะของแรงงานให้สูงขึ้น