17 ธันวาคม 2567 "พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติแต่งตั้งองค์คณะไต่สวน ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง 12 คน ส่งตัว นายทักษิณ ชินวัตร จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจโดยมิชอบ ว่า ได้ทราบข่าวแล้ว มีความเชื่อมั่นใน 12 คนที่ถูกระบุชื่อ เพราะได้เห็นหลักฐานแล้ว ได้ปฏิบัติตามกฏหมายและระเบียบ ตามหลักวิชาชีพที่เป็นสากลทุกประการ
อีกทั้งถือเป็นเรื่องที่ดีที่"ป.ป.ช." รับเรื่องไว้ไต่สวน เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสังคม การเข้าไปไต่สวนจะทำให้บุคคลที่ยังไม่ได้ส่งหลักฐาน จะได้มอบข้อมูลและหลักฐาน เนื่องจากเรื่องนี้มีประเด็นเรื่องข้อกฎหมาย กรณีผู้ป่วยจะมีกฎหมายคุ้มครอง จึงไม่ได้นำหลักฐานส่งไป ซึ่งได้เคยสอบถามไปว่าหากมอบหลักฐานไปแล้ว และมีการนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นทางการเมือง ก็จะนำเรื่องนี้ไปส่งมอบให้กับ "ป.ป.ช." และตนเชื่อมั่นว่า"ป.ป.ช." จะอยู่บนเหตุผลและข้อมูล ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ต่อไปนี้ประเด็นนี้จะเข้าสู่กระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อถามว่า"กรมราชทัณฑ์" เตรียมข้อมูลไว้พร้อมแล้วใช่หรือไม่ "พันตำรวจเอกทวี"กล่าวว่า ทุกคนมั่นใจ เพราะกฎหมายถูกเขียนเอาไว้ ก่อนที่บุคคลจะมาที่เรือนจำ ซึ่งผู้คุมขังประกอบด้วย 1.ราชทัณฑ์ 2.กฎกระทรวงคือโรงพยาบาล 3.ที่คุมขังอื่น ถือเป็นหลักสากล
แต่ประการสำคัญคือกระบวนการเรื่องป่วย ทั้งแพทย์และบุคลากรมีความมั่นใจ หากได้ดูเวชระเบียนหรือหลักฐาน ซึ่งเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ถือเป็นเรื่องที่ดี ไม่เช่นนั้นจะเอาไปพูดในสถานที่ต่างๆ หากใครมีพยานหลักฐานควรจะนำไปมอบให้กับ "ป.ป.ช." ตนเชื่อมั่นในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกคน เพราะมีประวัติและผลงานเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต และการทำงานตรงไปตรงมา อย่ามองว่ากรมราชทัณฑ์จะเข้าข้างใคร"กรมราชทัณฑ์" ไม่เคยอคติกับใคร เราต้องบริหารงานตามกฎหมาย อาจจะไม่มีดุลยพินิจด้วยซ้ำไปเพราะกฎหมายเขียนไว้
เมื่อถามย้ำว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีใช่หรือไม่ ที่จะได้พิสูจน์ความจริงกันไป "พันตำรวจเอกทวี" กล่าวว่า ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งการรับเรื่องไว้ไต่สวนก็มีอยู่หลายเรื่อง ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีมุมมองเรื่องป่วยจริงหรือไม่ป่วยจริง และหลักฐานทางการแพทย์ ในฐานะที่ได้เห็นผ่านตา ในบางช่วงยืนยันว่าหลักฐานมีครบทุกอย่าง และถือเป็นเรื่องที่ดีที่ให้ผู้ที่ถูกระบุชื่อได้ไปชี้แจง
เมื่อถามว่า สุดท้ายแล้วก็เป็นฝ่ายปฏิบัติที่ถูกตรวจสอบ "พันตำรวจเอกทวี" กล่าวว่า คงไม่ เพราะ"ป.ป.ช."ก็เขียนระบุไว้อยู่แล้ว เพียงแต่เขามองว่า ในขณะนั้นตนยังไม่ได้รับตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม
เมื่อถามย้ำ เรื่องนี้เหมือนจะถูกตัดตอนอยู่ที่เจ้าหน้าที่"พันตำรวจเอกทวี" กล่าวว่า ป.ป.ช.เป็นองค์กรที่จะต้องดำเนินการไต่สวน หากสืบสวนแล้วไม่มีมูลก็ไม่รับ ซึ่งมีเรื่องที่ถูกร้องเรียนและไม่ถูกชี้มูลก็เยอะ
เมื่อถามอีกว่า ส่วนตัวพร้อมใช่หรือไม่ เพราะประเด็นดังกล่าวอาจจะทำให้หลุดออกจากเก้าอี้ได้ "พันตำรวจเอกทวี"กล่าวว่า ไม่ได้กังวลเลย เพราะเรายึดมั่นในข้อเท็จจริงและหลักกฏหมาย และนายทักษิณถูกควบคุมตามกฏหมาย เพียงแต่ไม่สะใจกับคนบางกลุ่ม
อย่างเช่น รายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่เคยกล่าวอ้าง ซึ่งไม่เคยสอบบุคคลที่เกี่ยวข้องเลย เป็นเพียงการเรียกบุคคลแล้วเอาความคิดเห็น ซึ่งหากเอาความเห็นของคนที่อยู่ตรงข้ามมันก็จะปรากฏเช่นนั้น ไม่ใช่ความเห็นปกติในการสืบสวนสอบสวน เขาควรจะเอาประจักษ์พยาน ผู้รู้ผู้เห็นจริงและอยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งเรายืนยันว่า โรคที่ปรากฏเกินกว่าศักยภาพของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และการส่งตัวทุกแห่งกฎหมายไม่ได้ให้ถามโรงพยาบาล กฎหมายให้สถานพยาบาลของเรือนจำซึ่งมี 400 กว่าแห่ง ซึ่งเป็นสถานพยาบาลที่ไม่มีแพทย์ มีแพทย์แค่ทัณฑสถาน ส่วนที่อื่นๆ จะมีแค่พยาบาลหรือบุคคลที่ผ่านการฝึกอบรมเท่านั้น เมื่อประเมินแล้วก็ส่งตัว ซึ่งเป็นไปตามกฏหมายที่ระบุว่าให้ส่งตัวโดยเร็ว ส่วนประเด็นที่มีความสงสัย ทุกคนจะเอาข้อมูลไปส่งให้กับ"ป.ป.ช." เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเรื่องนี้ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว หากใครที่ไม่พอใจประเด็นใดก็นำหลักฐานไปส่งให้ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง
เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่าต่อไปเจ้าหน้าที่จะเกียร์ว่าง เนื่องจากทำแล้วจะต้องถูกตรวจสอบ "พันตำรวจเอกทวี" กล่าวว่า ตนมาเป็น รมว.ยุติธรรม ไม่เคยทำอะไรเพื่อส่วนตัว อยากให้ข้าราชการทำตามกฏหมาย
เมื่อถามว่า หากประเด็นของนายทักษิณเคลียร์หมดแล้ว ถ้า น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาจะง่ายขึ้นใช่หรือไม่ "พันตำรวจเอกทวี" กล่าวว่า ต้องเป็นไปตามกฏหมายคือ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งเราพัฒนากระบวนการยุติธรรมอยู่แล้ว และหากใครเห็นว่ากฎหมายนี้ไม่ดี หรือต้องมีการแก้ไข สามารถเสนอแนะได้ ซึ่งเรารับฟัง แม้แต่ข้อเสนอแนะของ กสม. เกี่ยวกับกฎกระทรวงดังกล่าว ทำไมไม่ให้อำนาจรัฐมนตรีในการพิจารณา ให้เพียงแค่รับทราบ ซึ่งเป็นกฎกระทรวงเก่า
แต่อย่างไรก็ตาม การรับทราบไม่ได้หมายความว่าคนที่เป็นรัฐมนตรีจะไม่ดูแล ซึ่งในกรณีดังกล่าวทางกรมราชทัณฑ์ได้ส่งใบแพทย์และได้สอบถามหลายครั้ง ซึ่งได้เห็นและเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าเกินขีดความสามารถของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ที่จะรับไว้ และที่สำคัญ นายทักษิณอยู่ในหลักเกณฑ์การถูกคุมขังของราชทัณฑ์ครบตามกฏหมาย ไม่ได้มีชั่วโมงไหนที่ไม่ได้อยู่ในที่คุมขัง ซึ่งหมายถึงเรือนจำ ซึ่งทุกสถานที่ไม่ใช่เฉพาะกรณีของนายทักษิณ แต่ทุกที่ที่มีคนป่วย