svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

คุมตัว “จ่าเอ็ม” ส่ง สน.ชนะสงคราม เจ้าตัวนิ่ง ไม่ตอบคำถามสื่อ กลัวถูกประชาทัณฑ์

คุมตัว “จ่าเอ็ม” ส่ง สน.ชนะสงคราม เจ้าตัวนิ่ง ไม่ตอบคำถามสื่อ กลัวถูกประชาทัณฑ์ ตร.คุมเข้มเข้าขั้นตอนการสอบสวน โดยมีกระแสข่าวแชตของผู้ต้องหา พาดพิงถึงอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย

11 มกราคม 2568 ความคืบหน้ากรณีที่วันนี้ พล.ต.ท.สมประสงค์ เย็นท้วม ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล และชุดสืบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาล เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ไปรับตัว นายเอกลักษณ์ แพน้อย หรือ “จ่าเอ็ม” อายุ 41 ปี  ผู้ต้องหาคดีสังหารอดีต สส.กัมพูชา ที่ชายแดนไทยกัมพูชา ต.คลองหาด อ.คลองหาด จ.สระแก้ว จากทางตำรวจกัมพูชา ก่อนจะคุมตัวมาสอบสวนที่ สน.ชนะสงคราม

ล่าสุดเมื่อ 13.10 น. พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล  เดินทางมาถึงที่กองบินตำรวจ และเรียกฝ่ายสืบสวนสอบสวน รวมถึงชุดปฏิบัติการพิเศษอรินทราช26 และตำรวจจากกองบังคับการตำรวจจราจร ประชุมเตรียมความพร้อม ถึงขั้นตอนและการปฏิบัติการ เน้นย้ำ และกำชับไปยังที่หน่วยอรินทราช 26  ในฐานะเป็นกองกำลังที่จะรักษาความปลอดภัยตัวผู้ต้องหา และมีการซักซ้อมเตรียมแผนการเพื่อทำความเข้าใจ ในการเคลื่อนย้ายนายเอกลักษณ์  หรือจ่าเอ็ม  ผู้ต้องหา เพื่อไปยัง สน.ชนะสงคราม
คุมตัว “จ่าเอ็ม” ส่ง สน.ชนะสงคราม เจ้าตัวนิ่ง ไม่ตอบคำถามสื่อ กลัวถูกประชาทัณฑ์

จากนั้น เวลา 13.43 น. พล.ต.ท.สมประสงค์ เย็นท้วม ผู้ช่วย ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. และชุดสืบสวนนครบาล ได้นำตัวจ่าเอ็ม มาถึงที่กองบินตำรวจ ขณะที่ลงจากเฮลิคอปเตอร์ จ่าเอ็มได้สวมเสื้อยืดสีขาว และเสื้อเกราะกันกระสุน กางเกงสีน้ำตาล หมวกสีขาวพร้อมสวมแมสก์ ซึ่งเป็นชุดเดียวกับที่รับมอบตัวมาจากกัมพูชา

จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้มีการควบคุมตัวจ่าเอ็ม ขึ้นรถตู้ฮุนไดสีขาว โดยมีรถคุ้มกันของหน่วยอรินทราช 26 พร้อมอาวุธครบมือ ประกบหน้าและหลัง พร้อมกำลังเพื่อดูแลความเรียบร้อย

ก่อนขึ้นรถ นักข่าวพยายามจะโกนถามนายเอ็ม ถึงการจ้างวานว่า เพราะสาเหตุใด แต่นายเอ็ม มีท่าทีเรียบเฉย ไม่ตอบคำถาม ท่ามกลางการคุ้มกันเพื่อดูแลความเรียบร้อยอย่างแน่นหนา
คุมตัว “จ่าเอ็ม” ส่ง สน.ชนะสงคราม เจ้าตัวนิ่ง ไม่ตอบคำถามสื่อ กลัวถูกประชาทัณฑ์

พล.ต.ท.สมประสงค์ บอกภายหลังรับตัวจ่าเอ็มว่า จากการซักถามเบื้องต้นผู้ต้องหาให้การรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา “ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน พาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร ยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดซึ่งใช่เหตุในเมือง และยักยอกทรัพย์’ ซึ่งในรายละเอียดต่างๆ ยังไม่ได้ข้อมูลอะไรชัดเจน เบื้องต้นตนมีหน้าที่ไปรับตัวผู้ต้องหาเพื่อนำมาส่งต่อให้กับทาง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลนำตัวไปดำเนินการสอบสวนต่อ และการส่งตัวครั้งนี้ ไม่มีข้อแลกเปลี่ยนอะไรกับประเทศกัมพูชา

สำหรับในประเด็นอื่น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของคนสั่งการหรือไม่ หลบหนีไปยังประเทศกัมพูชามีผู้ใดให้การช่วยเหลือหรือไม่ และเรื่องเส้นเงิน 60,000 บาทที่เข้ามายังบัญชีตัวผู้ร้าย รวมถึงสาเหตุแรงจูงใจในการก่อเหตุว่าจะเกี่ยวพันการเมืองหรือไม่ /ตัวผู้ชี้เป้าและผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆนั้น พล.ต.ท.สมประสงค์ บอกว่า ยังไม่ทราบรายละเอียด เนื่องจากว่าในวันนี้เพียงแค่ไปรับตัวมา ซึ่งหลังจากนำตัวส่งให้กับทาง บช.น. แล้ว กระบวนการสอบสวนถึงจะเริ่มขึ้น ส่วนเรื่องผลตรวจอาวุธปืนนั้น จะต้องรอข้อมูลจากสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจก่อน

นักข่าวถามถึงการรับสารภาพท่าทีดูสำนึกผิดหรือไม่ พล.ต.ท.สมประสงค์ บอกว่า เท่าที่สังเกตสีหน้าของผู้ต้องหา ก็ดูเครียด แต่นิ่ง ไม่ได้พูดอะไร ส่วนการคุ้มกันขบวนแน่นหนา มีนัยยะอะไรหรือไม่  นั้น มองว่า เป็นเรื่องปกติ ตามหลักทางยุทธวิธีที่ฝึกมา ตามมาตรฐานสากล ผู้ต้องเป็นผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมจึงต้องมีใส่กุญแจมือ

ผบช.น. เผยวางแผนมาก่อเหตุ -ภรรยาอดีต สส.กัมพูชา ไม่รู้จักจ่าเอ็ม

ขณะที่ พล.ต.ท.สยาม บอกว่า การออกหมายจับบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้น จะต้องสอบปากคำตัวผู้ต้องหาและขยายผลเพิ่มเติมก่อนว่ามีผู้ใดบ้าง หากพบว่ามีผู้ใดที่เกี่ยวข้องก็จะมีการดำเนินคดีอย่างแน่นอน ทั้งตัวน้องสาวและตัวคนชี้เป้า และข้อมูลของคนชี้เป้านั้น ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เบื้องต้นทราบว่า เป็นคนประเทศกัมพูชา หากพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างชัดเจน ก็จะสามารถนำตัวของผู้ชี้เป้ามาดำเนินคดี ได้แน่นอน

ส่วนผู้ต้องหา รู้จักกับผู้เสียชีวิตหรือไม่นั้นจะต้องรอสอบปากคำ ผู้ต้องหาก่อน แต่จากการสอบปากคำภรรยาผู้เสียชีวิตก่อนหน้านี้ ตัวภรรยาไม่รู้จักกับตัวผู้ต้องหา ซึ่งผู้เสียชีวิตและภรรยาเดินทางมาประเทศไทยเพื่อมาเที่ยวเท่านั้น

ส่วนเหตุการณ์ดังกล่าวคิดว่าเป็นเหตุซึ่งหน้าหรือมีการล็อกเป้า พล.ต.ท.สยาม บอกว่า ได้แจ้งข้อหาไตร่ตรองไว้ก่อนก็น่าจะมีการวางแผน ไม่ใช่มามีเรื่องโกรธเคืองทะเลาะทำร้ายกัน แต่มีการตระเตรียมวางแผนในการกระทำความผิด

ส่วนกรณีปรากฏแชตของผู้ต้องหา ที่ระบุถึงอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย จะมีการตรวจสอบหรือไม่  พล.ต.ท.สยาม กล่าวว่า ตรงนี้จะต้องรอสอบสวนก่อน แต่เบื้องต้นตำรวจยังไม่ได้มีข้อมูลในเรื่องนี้

หลังจากให้สัมภาษณ์เสร็จสิ้น จากนั้น ตำรวจก็คุมตัวจ่าเอ็ม มายัง สน.ชนะสงคราม โดยมี ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล คุมตัวมาในขบวนด้วยตนเอง โดยเมื่อมาถึง ก็คุมตัวขึ้นไปชั้น 4 ของ สน.ชนะสงคราม ทันที โดยมีการคุ้มกันดูแลความเรียบร้อยอย่างแน่นหนา นักข่าวพยามตะโกนถาม จ่าเอ็มอีกครั้งว่าอยากจะพูดอะไรหรือไม่ แต่จ่าเอ็ม ไม่มีท่าทีตอบรับใดๆ
 

คุมตัวตรวจร่างกาย-เก็บดีเอ็น ก่อนเริ่มสอบปากคำ


หลังจากนั้น ตำรวจคุมตัวจ่าเอ็ม ไปให้แพทย์ตรวจร่างกาย ว่ามีบาดแผลร่องรอยต่างๆ อะไรหรือไม่ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนปกติและให้กองพิสูจน์หลักฐาน ตรวจเก็บลายนิ้วมือ ดีเอ็นเอ เพื่อนำไปตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบกับพยานหลักฐาน และเป็นการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล ตามขั้นตอนเช่นกัน จากนั้นจึงจะเข้าสู่กระบวนการสอบปากคำ
คุมตัว “จ่าเอ็ม” ส่ง สน.ชนะสงคราม เจ้าตัวนิ่ง ไม่ตอบคำถามสื่อ กลัวถูกประชาทัณฑ์
 

"บิ๊กจ๋อ" เปิดเบื้องหลังตามล่า "จ่าเอ็ม" เจ้าตัวหวั่นถูกประชาทัณฑ์

 

ขณะที่ พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล เผยถึงเบื้องหลังการดำเนินการติดตามจับกุม จ่าเอ็ม ด้วยว่า ผบ.ตร.ได้สั่งการ ผบช.น.ให้ตนเป็นหัวหน้าชุดสืบสวน โดยการทำงานในครั้งนี้ ระดมนักสืบจากสืบนครบาล และสืบ บก.น.1 และ สน.ชนะสงคราม

ซึ่งจากการสืบสวนทราบว่า คนร้ายหนีออกไปทางภาคตะวันออก โดยใช้ขั้นตอน และวิธีการที่ตบตาเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนอย่างแยบยล การปฏิบัติการนี้เราได้ร่วมบูรณาการ ถือว่าเป็นการหายใจรดต้นคอ เพราะคลาดกันเพียงแค่นิดเดียว ก่อนที่ผู้ต้องหาจะหลบหนีออกไปทางช่องทางธรรมชาติ พร้อมขอบคุณทางการกัมพูชา ซึ่งถือเป็นความร่วมมือของนักสืบของทั้งสองประเทศ

กระบะที่พาจ่าเอ็มหลบหนี

แต่การปฏิบัติงานในครั้งนี้ที่รวดเร็ว ซึ่งปกติการปฏิบัติงานในประเทศกัมพูช าจะต้องมีระยะเวลาที่นานกว่านี้ แต่ในครั้งนี้ ผบ.ตร.ได้เป็นผู้ประสานงานกับทางการกัมพูชา จนทำให้เกิดความร่วมมือในการส่งตัวผู้ต้องหาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเรื่องนี้ถือว่ามีประโยชน์ของการส่งตัวไว เพราะในกระบวนการสอบสวน พยานหลักฐานต่างๆ ไม่หายไป จะทำให้สามารถขยายผลไปโค้นทั้งขบวนการ และเชื่อว่าจะสามารถสาวไปถึงตัวการ และต้นตอ

ส่วนที่ผู้ก่อเหตุมีลักษณ์ย่ามใจ จนถูกจับกุมระหว่างกินข้าวนั้น พล.ต.ต.ธีรเดช บอกว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องอนาธิปไตย เพราะหากปกติหากคนร้ายไปอยู่ฝั่งนั้นแล้ว การประสานจะยุ่งยาก และใช้ระยะเวลานานในการจับกุมตัว และตำรวจไทยไม่สามารถเข้าไปจับกุมนอกประเทศได้ ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่ตำรวจไทยที่เป็นผู้จับ แต่เป็นตำรวจกัมพูชาที่ดำเนินการจับกุม ก่อนส่งตัวให้กับเรา เราเพียงแค่ทำหน้าที่ประสานงาน
 

“ที่จริงแล้วผู้ต้องหาต้องถูกดำเนินคดีฐานลักลอบเข้าเมือง แต่ในขั้นตอนตามกฎหมายของกัมพูชา รัฐมนตรีมหาดไทยสามารถยกเว้น และผลักดันออกนอกประเทศได้”


อีกทั้ง ผู้ต้องหาใช้เวลาเข้าประเทศ 3 - 4 ชั่วโมง ก่อนที่ชุดสืบสวนของตำรวจกัมพูชาจะจับกุมตัวไว้ได้ หากปล่อยไว้นานกว่านี้ ผู้ต้องหาจะเข้าไปได้ลึก และยากต่อการติดตามจับกุมตัว

ส่วนผู้ก่อเหตุพูดอะไรหรือไม่ หลังจากที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว พล.ต.ต.ธีรเดช บอกว่า ยังไม่ได้เปิดปาก ซึ่งในการสอบสวนตามระบบจะต้องเป็นระบบส่วนตัว และมีห้องส่วนตัว

ทั้งนี้ ผู้ก่อเหตุได้ร้องขอเจ้าหน้าที่คุ้มครองเป็นพิเศษ เพราะผู้ก่อเหตุร้องขอไว้ตั้งแต่แรก เนื่องจาก กังวลเรื่องความปลอดภัย จากการถูกรุมประชาทัณฑ์ และทำร้าย วันนี้จึงได้มีมาตรการในการคุ้มครอง และรักษาความปลอดภัย

ส่วนจะกลัวถูกรุมประชาทัณฑ์เพียงอย่างเดียว หรือกลัวถูกตัดตอนหรือไม่นั้น พล.ต.ต.ธีรเดช ตอบเพียงว่า “เขาพูดแบบนั้น อย่างที่เข้าใจคือเขายังไม่ได้ร้องขอ”

ส่วนคนชี้เป้า ตอนแรกหมายจับคนชี้เป้ายังไม่ออก ออกเพียงตัวผู้ก่อเหตุ แต่หลังจากดำเนินการจับกุมคนยิงแล้ว หมายจับคนชี้เป้าก็ออก แต่ติดตรงที่คนชี้เป้าไม่ใช่คนไทย แต่ผู้ลงมือเป็นคนไทย ดังนั้นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยการต้องผ่านวิธีการทูต เบื้องต้นต้องทำให้หมายจับ ที่เพิ่งออกกลายเป็นหมายแดงให้ได้เพื่อใช้ตำรวจสากล

พล.ต.ต.ธีรเดช ยังอธิบายอีกว่า คดีที่เป็นมือปืนรับจ้าง ปกติจะใช้เวลาที่นานกว่านี้ถึง 5-7 วัน แต่วันนี้ยังไม่ถึง ชุดสืบสวนทำได้ถึงขนาดนี้ ถือเป็นการตอบโจทย์ได้อย่างหนึ่ง ซึ่งจะยกเคสนี้เป็นโมเดลหรือไม่นั้น ต้องดูที่ปัจจัย เพราะปัจจัยต่างๆ ในแต่ละเคสไม่เหมือนกัน จึงขอเป็นตัวแทนชุดสืบสวนในการขอบคุณทางการกัมพูชา โดยเฉพาะชุดที่ให้ความร่วมมือในการจับกุมให้กับเรา
พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล