เปิดข้อมูล ไวรัสตับอีกเสบ โดย "ยง ภู่วรวรรณ" ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์จุฬา เปิดข้อมูลทางการแพทย์ "40 ปี ไวรัสตับอักเสบ" ผ่านเพจเฟซบุ๊ก "Yong Poovorawan" ระบุว่า..
11 มกราคม 2568 ในช่วงระยะเวลา 40 ปีที่ได้ดูแล ไวรัสตับอักเสบ ทั้ง A, B และ C ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงโรคไวรัสตับอักเสบลดลงอย่างมาก
สมัยก่อนเมื่อ 30 ถึง 40 ปี ก่อน ในเด็กเราจะรับผู้ป่วยตับอักเสบที่นอนโรงพยาบาล มีห้องแยก โดยเฉพาะสมัยนั้นเป็นไวรัสตับอักเสบ เอ กันมาก สมัยนี้เราไม่เห็นโรคตับอักเสบ เอ กันแล้ว ประชากรส่วนใหญ่ไม่เคยติดเชื้อ และไม่มีภูมิต้านทาน กล่าวได้ว่าผู้ที่เคยติดเชื้อแล้วและมีภูมิต้านทานเกิดขึ้น 50% ของประชากร จะอยู่ที่อายุ 52 ปี ประเทศไทย ปัจจุบัน จัดเป็นแหล่งระบาดต่ำมาก (very low endemicity)
ไวรัสตับอักเสบ บี สมัยก่อนเราเป็นพาหะกันประมาณ 6-8% มะเร็งตับถือว่าพบบ่อยสุดในบรรดามะเร็งทั้งหมด ในปัจจุบันเรามีมาตรการป้องกันโดยให้วัคซีนไวรัสตับอักเสบบีในทารกแรกเกิด ให้กันมากว่า 32 ปี ทำให้ไวรัสตับอักเสบบี ในประเทศไทยลดลงจาก 6-8% มาในปัจจุบันเหลือเพียง 1.68%
ปัจจุบันโรคมะเร็งตับมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด เชื่อว่าน่าจะลดจากการครองแชมป์อันดับ 1 ของมะเร็งที่พบน่าจะลดมาอันดับที่ 2 และ 3 แล้ว เรายังประสบความสำเร็จในการลดการถ่ายทอดไวรัสตับอักเสบบีจากมารดาสู่ทารกให้เป็นศูนย์ เพราะเด็กต่ำกว่า 10 ปี ในปัจจุบันเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี น้อยกว่าร้อยละ 0.1
ไวรัสตับอักเสบ ซี ก่อนที่เราจะรู้จักกัน จะตรวจพบในประชากรไทยประมาณ 2% ปัจจุบันในปีนี้การตรวจพบไวรัสตับอักเสบซีในประเทศไทย ลดลงมาเหลือ 0.5% ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอายุเกิน 30 ปี และปัจจุบันมียารักษาให้หายขาดได้ จะเป็นตัวช่วยเร่งกำจัดไวรัสตับอักเสบ ซี ให้หมดไป
ประเทศไทยน่าจะขจัด ไวรัสตับอักเสบ ให้หมดไป หรือเหลือน้อยที่สุด ภายในปี 2573 (2030) ตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลกใด้
ทางศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จะทำการประชาสัมพันธ์ แถลงข้อมูลการศึกษาวิจัย สถานการณ์ไวรัสตับอักเสบในปัจจุบัน ในวันที่ 23 มกราคม 2568 เวลา 13.00 น ที่โรงพยาบาลจุฬา ผู้ที่สนใจติดตามได้ครับ