6 ธันวาคม 2567 ที่กระทรวงยุติธรรม นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อม นายสมบูรณ์ ศิลา ผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองเปรม นพ.วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยกทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ นางกนกวรรณ จิ๋วเชื้อพันธุ์ รองโฆษกกรมราชทัณฑ์ และทีมผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ ร่วมกันแถลงข่าว
กรณีการปล่อยตัวพักการลงโทษของ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง ผู้ต้องหากรณีคดีจำนำข้าวในรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งดำรงค์ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใน ขณะนั้น
โดยมี นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมฟังการแถลงข่าวครั้งนี้ด้วย
นายสมบูรณ์ กล่าวว่า หลักการบริหารโทษของกรมราชทัณฑ์หลังจากที่ศาลได้พิพากษาแล้วนั้น ไม่ได้อยู่เหนืออำนาจกฎหมาย หรืออยู่เหนืออำนาจศาล แต่ทุกอย่างดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน ซึ่งการพักโทษมี 2 กรณี คือ พักโทษกรณีปกติ และพักโทษกรณีพิเศษ
รวมเฉลี่ยแต่ละปีมีการพักโทษให้ผู้ต้องขังมากกว่า 20,000 ราย แต่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ เนื่องจากจะขัดต่อหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่ในกรณีบุคลที่มีชื่อเสียงนั้น ทางสื่อมวลชนได้มีการนำเสนอข่าว ทำให้การพักโทษของบุคคลที่มีชื่อเสียงปรากฏต่อสาธารณะ
การพักโทษนั้น ไม่ใช่การพ้นโทษ ผู้ได้รับการพักโทษยังคงอยู่ระหว่างการต้องโทษ แต่กฎหมายต้องการให้ผู้ถูกคุมขังมีโอกาสใช้ชีวิต เพื่อปรับตัวเข้าสู่ในสังคม โดยมีคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณา รวมถึงกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ในการพักโทษ เช่น ต้องมารายงานตัวต่อกรมควบคุมประพฤติ เป็นต้น
แต่หากผู้ได้รับการพักโทษไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ก็จะต้องกลับสู่สถานที่คุมขัง ซึ่งในแต่ละปีมีผู้ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข จนต้องกลับสู่สถานที่คุมขังเฉลี่ย 5%
โดยในส่วนของ "นายบุญทรง" นั้น ได้รับการพักโทษกรณีปกติ หลังได้รับการอภัยโทษรวม 4 ครั้ง ซึ่งครั้งสุดท้ายเหลือโทษจำคุก 10 ปี 8 เดือน แต่ "นายบุญทรง" ได้จำคุกมาแล้วเป็นเวลา 7 ปี 3 เดือน 10 วัน หรือรับโทษมาแล้ว 2 ใน 3 ทำให้เข้าเกณฑ์ได้รับการพักโทษ
ด้าน นายสมบูรณ์ ศิลา ผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองเปรม กล่าวว่า ในส่วนกรณีของ "เสี่ยเปี๋ยง" จัดเป็นผู้ป่วยกลุ่ม 608 หรือมีอาการเจ็บป่วย 8 โรคร้ายแรง ได้แก่ โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โรคความดันโลหิตสูง โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับชนิดรุนแรง โรคต่อมลูกหมากโต โรคดูกสันหลังทับเส้นประสาท โรคฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ โรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดสมองตีบ
ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่า โรคเหล่านี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและเสียชีวิตสูง ซึ่งเข้าเกณฑ์ได้รับพักโทษเป็นกรณีพิเศษ
อีกทั้ง "เสี่ยเปี๊ยง" ยังรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 หลังได้รับอภัยโทษมา 4 ครั้ง เหลือโทษ 21 ปี 11 เดือน 38 วัน จึงมีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของอนุกรรมการเรือนจำ ซึ่งที่ประชุมมีมติ 8 ต่อ 0 เห็นว่า "เสี่ยเปี๋ยง" ควรได้รับการพักโทษเป็นกรณีพิเศษจากการเจ็บป่วยร้ายแรง โดยเฉพาะโรคไตวายเรื้อรังเป็นระยะสุดท้าย
"เสี่ยเปี๋ยง" มีอาการผิดปกติมาตั้งแต่ปี 2565 จนแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ มีความเห็นว่าควรย้ายเสี่ยเปี๋ยงไปรักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพมากกว่า นั้นคือโรงพยาบาลรามาธิบดี แต่ "เสี่ยเปี๋ยง" ยังมีอาการติดเชื้อเป็นระยะ จนแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดีเห็นว่า "เสี่ยเปี๋ยง" ควรได้รับการปลูกถ่ายไต
ซึ่งเข้าเกณฑ์การพักโทษชัดเจน ก่อนจะส่งต่อให้คณะอนุกรรมการของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งมีทั้งหมด 19 คน เป็นบุคคลทั้งจาก "กรมราชทัณฑ์" "ตำรวจ" "ศาล" และ "กรมควบคุมความประพฤติ" เป็นผู้พิจารณาต่อไป
ด้าน นพ.วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยกทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ให้ข้อมูล ว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลราชทัณฑ์มีผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกไตอยู่ 120 ราย แต่เป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 15 ราย ซึ่งหากได้รับโทษครบ 1 ใน 3 ก็มีโอกาสได้รับการพิจารณาพักโทษเช่นกัน