วันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ความคืบหน้า เหตุระเบิด 4 ลูกซ้อน ที่เกิดขึ้นภายในบริเวณสถานที่ก่อสร้างรูปปั้น "เจ้าแม่กวนอิม" จำนวน 2 ลูก และบริเวณทางเข้าก่อนถึงจุดเกิดเหตุอีก2 ลูก ในพื้นที่ ต.สะกอม อ.เทพา จ.สงขลา เหตุเกิดเมื่อวานนี้ (20 พ.ย.2567)
ล่าสุด เจ้าหน้าที่ยังคงปิดกั้นพื้นที่บางส่วนที่อยู่ในรัศมี 500 เมตร เพื่อเคลียร์เส้นทางให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด เนื่องจาก บริเวณนั้นเป็นย่านชุมชน และมีรีสอร์ทให้บริการด้วย ขณะที่ เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด หรือ "อีโอดี" ได้เข้าไปตรวจสอบบริเวณแคมป์คนงานที่ได้รับความเสียหายจากแรงระเบิด ซึ่งอยู่ภายในสถานที่ก่อสร้างรูปปั้น "เจ้าแม่กวนอิม" ซึ่งเป็นตำแหน่งที่อยู่ใกล้ฐานการก่อสร้างมากที่สุด เพื่อตรวจสอบชนิดของระเบิดที่เกิดขึ้น แต่เนื่องจากสภาพอากาศที่มีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้เป็นอุปสรรคในการเข้าตรวจสอบ
ทั้งนี้ มีรายงานเบื้องต้นว่า จากการตรวจสอบในจุดเกิดเหตุนั้น หลักฐานที่พบ และความเสียหายที่ ปรากฎไม่น่าจะใช่ระเบิดที่เกิดจากการยิงด้วยอาวุธปืน M79 ตามที่มีการรายงานก่อนหน้านี้ และจากสภาพดังกล่าว ซึ่งเกิดเพลิงลุกไหม้ด้วย คนร้ายน่าจะใช้เป็นระเบิดชนิดแสวงเครื่องตั้งเวลาไว้กระทั่งเกิดเหตุระเบิดขึ้น สอดคล้องกับหลักฐานเศษสะเก็ด และชิ้นส่วนประกอบต่างๆที่ปลิวไปตกตามย่านชุมชนที่คาดว่าน่าจะเป็นเศษชิ้นส่วนของถังออกซิเจนที่ใช้สำหรับการเชื่อมเหล็กการก่อสร้าง
โดยพื้นที่ภายในสถานที่ก่อสร้าง คาดว่ามีเนื้อที่กว่า 50 ไร่ และจะมีการแบ่งการใช้งานออกเป็นสัดส่วนชัดเจน คือ ส่วนที่เป็นแคมป์คนงาน และส่วนของพื้นที่เก็บวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างต่างๆไว้เพื่อใช้งาน ซึ่งเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบเชิงลึกอย่างละเอียด หากเป็นการวางระเบิดแสวงเครื่อง เส้นทางและรูปแบบที่คนร้ายเข้ามาก่อเหตุได้อย่างไร เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นสถานที่ปิด การเข้า-ออก จะมีการตรวจสอบ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีเพียง เจ้าหน้าที่โครงการ,ผู้รับเหมา และแรงงานที่เป็นชาวเมียนมาร์ที่ทำงานอยู่ภายในเท่านั้น ส่วนสาเหตุของการระเบิดดังกล่าว จนถึงขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาระบุสาเหตุที่แท้จริง
อย่างไรก็ตาม สำหรับพื้นที่ดังกล่าวเป็นของบริษัทเอกชนรายใหญ่ เนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ ที่มีแผนการลงทุนด้านอุตสาหกรรมในพื้นที่อ.จะนะ และ อ.เทพา จ.สงขลา โดยเฉพาะโครงการพัฒนาต่าง ๆ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างท่าเทียบเรือ โรงไฟฟ้าและนิคมอุตสาหกรรมจะนะ และเป็นผู้ริเริ่มในการสร้างรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมใหญ่ที่สุดในโลก ความสูง 136 เมตร ขนาดฐานกว้าง 70 เมตร ยาว 70 เมตร และตามแผนการก่อสร้างรูปปั้น "เจ้าแม่กวนอิม" จะตั้งตระหง่านอยู่ชายฝั่งโดยหันหน้าออกไปมองทะเล
มีรายงานว่า การก่อสร้างดังกล่าว ก่อนหน้านี้มีเสียงคัดค้านจากพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ โดยมีมัสยิดจำนวน 400 แห่ง ได้รวมตัวกันยื่นรายชื่อคัดค้าน ไม่ให้มีการก่อสร้าง เพราะกังวลว่าจะไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ก่อสร้าง "เจ้าแม่กวนอิม" เท่านั้น แต่มีเบื้องลึกเบื้องหลังที่เอกชน หรือนักลงทุน ต้องการสร้างอาณาจักร หรือพื้นที่เขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยในการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลของ อ.จะนะ และ อ.เทพา จ.สงขลา