21 พฤศจิกายน 2567 ที่อาคารรัฐสภา "นายรังสิมันต์ โรม" รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ กล่าวถึงกรณีเชิญ "นายทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงต่อที่ประชุม กมธ. ในวันพรุ่งนี้ (22 พ.ย.67) ว่า บุคคลที่เชิญจะมาหรือไม่ จะทราบในเช้าวันพรุ่งนี้ว่าสุดท้ายแล้วจะมีใครมาบ้าง แต่ไม่ว่าจะมาหรือไม่มา แต่ข้อวิจารณ์ของสังคมได้เกิดขึ้นแล้ว
ฉะนั้น การที่บุคคลที่เชิญแล้วไม่มา อยากให้ฝ่ายต่างๆที่ถูกเชิญพิจารณาด้วยข้อเท็จจริงว่าการไม่มาหมายความว่าคุณไม่มีโอกาสในการชี้แจง แต่หากคุณมา แสดงว่าคุณมั่นใจว่าสิ่งที่คุณทำเป็นการกระทำที่ถูกต้อง ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการกระทำที่อยู่บนวิสัยที่ไม่ได้มีมาตรฐานพิเศษเหนือกว่าใคร ตนจึงคิดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกังวล เพราะการที่คุณมาบอกกับ กมธ. ว่าสิ่งที่คุณทำไปถูกต้องอย่างไร หรือกรณีของนายทักษิณที่ กมธ.เชิญ ซึ่งสังคมคิดว่านายทักษิณป่วยจริงหรือไม่ การมาชี้แจงถือเป็นโอกาส จะได้ลบข้อครหา ข้อวิจารณ์ต่างๆ ที่สังคมมีต่อนายทักษิณ
"นายรังสิมันต์" กล่าวต่อว่า การที่เราเปิดพื้นที่ใน กมธ. และพิจารณา จริงๆแล้ว เป็นโอกาสของทุกฝ่าย คิดว่าคำถามหลายๆ คำถามที่เราถาม เป็นคำถามที่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และพื้นฐานหลักกฎหมาย ดังนั้น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกังวลเลยว่า กมธ.จะเล่นการเมืองหรือไม่ กลั่นแกล้งกันหรือไม่
"ต่อให้คุณเชื่อแบบนั้น ถ้าคุณตอบคำถามได้ ผู้ที่ต้องการกลั่นแกล้งคุณก็จะถูกสะท้อนกลับไปที่ตัวเขาเอง สุดท้ายสังคมก็จะเชื่อในข้อเท็จจริงที่ฝ่ายรัฐบาลพยายามอธิบาย มันก็จะจบอยู่ตรงนั้น" นายรังสิมันต์ กล่าว
" นายรังสิมันต์" ยืนยันว่า อยากให้มองเป็นโอกาส และถ้าสุดท้ายเขาเหล่านั้นไม่มา ข้อวิจารณ์ต่างๆของสังคม ก็เหมือนกับว่าสังคมจะได้รับคำตอบแล้วว่าเรื่องชั้น 14 ความจริงคืออะไร
ส่วนการประชุมในครั้งนี้ จะไม่คว้าน้ำเหลวเหมือนครั้งที่ผ่านมาหรือไม่ "นายรังสิมันต์" กล่าวว่า การประชุมรอบที่แล้ว ไม่คิดว่าเป็นเรื่องคว้าน้ำเหลว แต่เราได้ข้อเท็จจริงหลายย่าง และเชื่อว่าเป็นข้อเท็จจริงที่หลายฝ่ายไม่เคยทราบมาก่อน เป็นเรื่องที่ตนคิดว่าพิศวงอยู่ เช่น การพิจารณาใช้เวลาตัดสินใจเพียง 4 นาที , การที่ไม่มีแม้กระทั่งหมอเลยที่มาดูอาการของ"นายทักษิณ" คิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คิดว่าไม่คว้าน้ำเหลว ยังยืนยันว่าการไม่ได้คำตอบก็คือคำตอบอย่างหนึ่ง
ฉะนั้น เมื่อคุณคิดว่า วิธีการที่จะทำให้ กมธ.ไม่ได้รับคำตอบหรือไม่ให้ความร่วมมือ วิธีการเหล่านี้ มันคือคำตอบของประชาชน และคือคำตอบที่สังคมจะได้รับจากผู้มีอำนาจ ตนเชื่อว่าคำตอบที่ประชาชนได้รับไม่ได้เป็นผลดีต่อผู้มีอำนาจเลย ดังนั้น ควรใช้วิธีและโอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อการสร้างความเชื่อมั่นของระบบยุติธรรม
เมื่อถามว่า "นายทักษิณ"มีเหตุผลอะไรที่จะต้องมาชี้แจงกับ กมธ. เพราะ กมธ.ไม่สามารถให้คุณให้โทษกับ "นายทักษิณ"ได้ "นายรังสิมันต์" กล่าวว่า กมธ. ให้คุณให้โทษกับนายทักษิณไม่ได้ แต่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อ"นายทักษิณ"เอง ต้องยอมรับว่าวันนี้สังคมวิจารณ์เรื่องชั้น 14 เยอะมาก เรื่องนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากทุกฝ่าย และทุกทิศทุกทาง และ "นายทักษิณ"ก็พูดเองว่าอยู่ในสถานะของการเป็นผู้ครอบครองรัฐบาล ครอบครองนายกรัฐมนตรี ดังนั้น นายทักษิณก็จะเป็นตัวแปรสำคัญของความเป็นอยู่ของรัฐบาลนี้ไม่มากก็น้อย ฉะนั้น ถ้าทำให้สถานการณ์ทางการเมือง ที่มีข้อวิจารณ์ต่อนายทักษิณและต่อรัฐบาลให้เบาลง การมาชี้แจงกรรมาธิการของนายทักษิณ ก็จะช่วยรัฐบาลได้
"สมมติว่าคุณทักษิณบริสุทธิ์ใจ มั่นใจว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิดพลาด ไม่ได้ใช้บารมี พูดง่ายๆ คือป่วยจริงๆ ผมคิดว่ามันก็จะจบ และประชาชนก็จะมองรัฐบาลและไว้วางใจมากขึ้น วันนี้เราต้องยอมรับว่าปัญหาอย่างหนึ่ง ที่เป็นปัญหารากฐานสำคัญก็คือประชาชนจำนวนมาก ไม่ไว้วางใจรัฐบาล และการไม่ไว้ใจรัฐบาลนี้ ทำให้สุดท้ายรัฐบาลทำอะไรไป ก็จะมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ตลอด เพราะคุณเริ่มต้นจากการสร้างความไม่ไว้วางใจ ที่ทำให้เรื่องชั้น 14 กลายเป็นเรื่องพิศวง พวกเราประชุมมา 55 ครั้ง เราไม่เคยได้รับบรรยากาศการพิจารณาที่ดูยากขนาดนี้มาก่อน พอคุณทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องพิศวงและเป็นเรื่องต้องห้าม เป็นเรื่องที่ไม่สามารถพิจารณาได้ สุดท้ายความไว้วางใจที่ประชาชนมองรัฐบาล ก็จะมองว่ารัฐบาลพยายามปกปิดอะไรบางอย่างเกิดขึ้นต่อไป" นายรังสิมันต์ กล่าว
สำหรับการไม่มาชี้แจง กมธ. จะทำให้การกลับบ้านของ"นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี จะยากขึ้นหรือไม่ "นายรังสิมันต์"กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไกลไปที่จะพูด และวันนี้เราไม่ได้ไปมอง ถึงการกลับบ้านของ"นางสาวยิ่งลักษณ์" วันนี้เรามองเฉพาะว่าการที่นายทักษิณไปอยู่ชั้น 14 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และถูกต้องหรือไม่ มาตรฐานแบบนี้ จะเป็นมาตรฐานที่ถูกปรับใช้กับนักโทษคนอื่น ที่มีปัญหาสุขภาพ อาจจะร้ายแรงหรือพอกับ"นายทักษิณ"ได้หรือไม่
ส่วนมองอย่างไรที่"นายทักษิณ" ระบุว่า"นางสาวยิ่งลักษณ์" จะกลับบ้านในวันสงกรานต์ปีหน้า เรื่องนี้ไม่อยากทำนายอะไรมาก เพราะเราอยู่บนพื้นฐานทางการเมืองที่ไม่แน่นอน ดังนั้น ต้องรอดูตามข้อเท็จจริงว่าสุดท้ายแล้ว จะมีกลไกทางกฎหมายอย่างไร ถ้านางสาวยิ่งลักษณ์กลับมาก็ต้องดูว่าใช้วิธีการอะไร ตนคิดว่าปัญหาการเมืองไทยมี และปัญหาที่เกิดขึ้นกับครอบครัวนายทักษิณ ซึ่งความไม่ชอบธรรมก็มี แต่วิธีการที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ ไม่ได้กลายเป็น นายทักษิณและครอบครัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความชอบธรรม หรือปัญหาทางการเมืองที่สับสนอยู่ ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดในเวลานี้คือต้องพยายามหาทางออกและแก้ปัญหาทางการเมือง แต่ขณะเดียวกันการใช้วิธีพิสดารที่จะทำให้ตัวเองสามารถกลับประเทศได้ ก็คงเป็นวิธีการที่เราไม่สามารถยอมรับได้