svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

"อดิศักดิ์" คว้าอันดับ 1 เลือกตั้งซ่อม ก.ต.ชั้นอุทธรณ์ "เศกสิทธิ์-พงษ์เดช-อนุรักษ์" เข้าวินชั้นฎีกา

"อดิศักดิ์" ปธ.ศาลอุทธรณ์ คว้าคะแนนอันดับ 1 เลือกตั้งซ่อม ก.ต.ชั้นอุทธรณ์ ด้าน "เศกสิทธิ์-พงษ์เดช-อนุรักษ์" จับมือเข้าวิน นั่ง ก.ต.ชั้นฎีกา

25 ตุลาคม 2567 ณ ห้องประชุม 701 ชั้น 7 อาคารสำนักงานศาลยุติธรรม ถนนรัชดาภิเษก แขวงจตุจักร กรุงเทพมหานคร สำนักงานศาลยุติธรรมได้ดำเนินการตรวจนับคะแนนเลือกซ่อมกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.ต.) ที่ว่างลงก่อนครบวาระการดำรงตำแหน่ง ได้แก่ ชั้นศาลฎีกา จำนวน 3 ตำแหน่ง และชั้นศาลอุทธรณ์ จำนวน 1 ตำแหน่ง ตามมาตรา 36 (2) (ก) และ(ข) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543

โดยคณะอนุกรรมการตรวจนับคะแนนเลือกตั้ง ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ตรวจนับบัตรลงคะแนน จากผู้พิพากษาทั่วประเทศที่ส่งกลับมายังสำนักงานศาลยุติธรรม ปรากฏผลผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็น ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิ ดังนี้


ประเภท ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิชั้นศาลฎีกา  จำนวน 3 คน ได้แก่

นายเศกสิทธิ์ สุขใจ

1.นายเศกสิทธิ์ สุขใจ ได้ 98 คะแนน ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา

 

นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล

2.นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล ได้   98 คะแนน รองประธานศาลอุทธรณ์ ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา



นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล

3.นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล ได้ 93 คะแนน ผู้พิพากษาศาลฎีกา

 
ประเภท ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิชั้นศาลอุทธรณ์ จำนวน 1 คน ได้แก่

นายอดิศักดิ์ ตันติวงศ์

1.นายอดิศักดิ์ ตันติวงศ์ ได้  475   คะแนนประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์

โดยผลการเลือกตั้งซ่อม ก.ต.ครั้งนี้มีที่น่าสนใจคือ มีการเลือก นายอดิศักดิ์ ตันติวงศ์ ประธานศาลอุทธรณ์ ซึ่งถือเป็นตำเเหน่งอาวุโสลำดับ 2 ขององค์กรศาลยุติธรรม ซึ่งมีคิวตามลำดับอาวุโสที่จะถูกเสนอชื่อขึ้นเป็นประธานศาลฎีกาต่อจาก นางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ในช่วงปลายปี 2568 

สำหรับ ก.ต. นั้นเป็นองค์กรทำหน้าที่ในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม มีมีหน้าที่ในการพิจารณาเเต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนชั้น มีอำนาจให้คุณให้โทษ ผู้พิพากษาที่กระทำความผิดรวมถึงคุ้มครองความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี โดย ก.ต. ทั้งคณะจะมีทั้งหมด 15 คน ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา เป็นประธาน ก.ต.โดยตำแหน่ง มี ก.ต.ชั้นศาลฎีกา 6 คน ชั้นศาลอุทธรณ์ 4 คน และศาลชั้นต้น 2 คน และ ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากบุคคลภายนอกอีก 2 คน ที่มาจากการเลือกของผู้พิพากษาเเละมีกำหนดอยู่ในตำแหน่งวาระละ 2 ปี และติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ