svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"สภาฯ"ถก ญัตติด่วน"คดีตากใบ" หวังให้ผู้กระทำผิด เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

เปิดคำอภิปราย ญัตติด่วน"คดีตากใบ"หมดอายุความ "อดิศร เพียงเกษ"  รับอยากให้มีปาฏิหาริย์ นำตัว “พิศาล-ผู้ต้องหา” มาดำเนินคดี ด้าน"รังสิมันต์” มอง"คดีตากใบ"ถูกละเลยจากนายกฯผู้พ่อสู่นายกฯผู้ลูก ส่งต่อกมธ.กฎหมายฯ ศึกษาเพิ่ม ภายใน 90 วัน พร้อมนำข้อเสนอส่งรัฐบาลด้วย 

25 ตุลาคม 2567  ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มี "นายภราดร ปริศนานันทกุล" รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ในการพิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจาเกี่ยวกับเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาผลกระทบกรณีการขาดอายุความคดีตากใบและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการฟื้นฟูความชอบธรรมของรัฐและการแก้ไขปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของ "นายรอมฎอน ปัญจอ" สส.พรรคประชาชน และ
ญัตติ ด่วนด้วยวาจาขอให้สภาผู้แทนราษฎรร่วมกันพิจารณาหาทางออกกับสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีสลายการชุมนุมคดีตากใบที่จะขาดอายุความในวันนี้เวลาเที่ยงคืน ของนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.พรรคประชาชาติ ซึ่งเปิดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ร่วมอภิปราย

"นายภราดร ปริศนานันทกุล" รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม

โดย "นายซากียา สะอิ" สส.นราธิวาส พรรคภูมิใจไทย อภิปราย ว่า สังเกตได้ว่าในคดีตากใบที่จะหมดอายุความช่วง 1-2 อาทิตย์ ที่ผ่านมาความรุนแรงจึงเกิดขึ้นมากมายจากความเข้าใจของหลายฝ่าย จึงพยายามอยากสร้างความสันติสุขโดยการตั้งคณะกรรมาธิการ เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้  แต่หลายอย่างไม่ได้เป็นไปตามที่หวัง
 


"คดีความจะหมดอายุความแล้ว เราต้องจับมือกัน เราต้องกล้าอยากรู้ว่ายังมีไหมความยุติธรรม สำหรับชาวบ้านอย่างเราจะสู้ได้ไหมจนวินาทีสุดท้าย เราไม่อยากให้ดูว่าเราเป็นคนผิด คนอื่นมองว่าเราผิดไปที่ชุมนุม อยากลบล้างสิ่งนี้ด้วยความยุติธรรมในครั้งนี้"  นายซากียา กล่าว
  

ดังนั้นจึงอยากฝากให้ผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อให้สิ่งที่ที่ตนทำไปในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา เกิดอะไรขึ้นบ้างหากเข้าสู่กระบวนการของศาลแล้วศาลจะว่าอย่างไร 

 

 "พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ

ด้าน "พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ อภิปรายว่า ความยุติธรรมใน"คดีตากใบ" ถือเป็นพลวัตในการแก้ปัญหาชายแดนใต้ ซึ่งเหตุการณ์เกิดมา 20 ปีแล้ว ทุกภาคส่วนโหยหาทางออก วันนี้เชื่อว่าพบทางออกแล้ว แต่ยังไม่มีข้อยุติในการแก้ปัญหา โดยเชื่อว่าทางออกในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือการส่งเสริมให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ซึ่งเหตุการณ์ตากใบเป็นความรู้สึกของคนทั้งประเทศ รวมถึงของรัฐบาลด้วย ซึ่งวานนี้นายกรัฐมนตรีได้แถลงขอโทษประชาชนแล้ว จึงขอยืนยันว่าในฐานะรัฐบาล เคยมีการไม่เคยมีการพูดอะไรที่จะช่วยเหลือผู้ที่ถูกออกหมายจับ มีแต่พูดว่าทำอย่างไรจะส่งเสริมให้ตำรวจและหน่วยงานด้านความมั่นคง ติดตามจับกุมเพื่อให้มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ทันเวลา ทันอายุความ แต่ขณะนี้เหลือเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมงก็ขอให้ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ ซึ่งทราบว่ามีความพยายามในการนำตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดี

ส่วนการส่งเสริมให้สังคมเกิดกระบวนการยุติธรรมนั้น เห็นว่า ควรให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่ง สส. 500 คนมาจากตัวแทนของทั้งประเทศอยู่แล้ว ดังนั้นการตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษาผลกระทบ กรณีเหตุการณ์ตากใบจะหมดอายุความ จะเป็นหนทางหนึ่งที่จะร่วมกันทำให้เกิดความเป็นธรรม เพราะถือเป็นการระดมความเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อหาทางออก

 

"นายอดิศร เพียงเกษ" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย

 

ขณะที่ "นายอดิศร เพียงเกษ" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า นับเป็นนิมิตหมายที่ดีของสภาฯ ที่ได้เปิดโอกาสให้แต่ละพรรคส่งตัวแทนมาอภิปรายเรื่องตากใบ ตากใบนี้ 20 ปีมาแล้ว บางคนอายุก็ไม่มาก ผ่านการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 9 คน รวมถึงนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนปัจุบัน เรื่องนี้เริ่มจากนายทักษิณ ชินวัตร ตั้งคณะกรรมาธิการอิสระ และแสดงความเสียใจขอโทษกับเหตุการณ์ ต่อมา พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกฯ ก็แสดงความรับผิดชอบขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนมาถึงสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนถึงนายเศรษฐา ทวีสิน ตนจึงขอให้กำลังใจผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 

"นายอดิศร"กล่าวต่อว่า "พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี"  สส.บัญชีรายชื่อ ทำหน้าที่ในคณะกรรมาธิการ ตนตั้งข้อสงสัยว่าทำไมไม่สอบถามเรื่องนี้ในขณะที่เป็นกรรมาธิการ ตนจึงอยากให้สภาแห่งนี้รับเรื่องนี้ไปให้กรรมาธิการการกฎหมายฯ ที่ดูแลเรื่องนี้ หรือกรรมาธิการอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้รับลูก พิจารณาหารายละเอียด ไม่ใช่ละเลยเพิกเฉย ให้เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นซ้ำซาก จึงขอสนับสนุนให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาเรื่องนี้และขอความแสดงความเสียใจกับผู้สูญเสีย

“ผมอยากให้เดินทางไปสู่ความปรองดอง และอยากให้กำลังใจ เที่ยงคืนนี้จะขาดอายุความ ได้แต่จำคำพูดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ว่ามีแต่ปาฏิหาริย์ อยากให้ปฏิบัติจริงๆ อยากให้ความยุติธรรมก่อเกิด ทั้งฝั่ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และทุกจังหวัดที่ไม่ได้รับความยุติธรรม” นายอดิศร กล่าว 

 

ด้าน "นายรังสิมันต์ โรม"สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน อภิปรายว่า ญัตติที่กำลังพิจารณาอยู่ในขณะนี้มีถ้อยคำสำคัญ แฝงอยู่คือคำว่าความจริงใจ ที่เชื่อว่าความจริงใจจะเป็นหัวใจที่สำคัญที่ไม่ใช่เพียงกรณีตากใบ แต่รวมไปถึงการแก้ปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วงที่ผ่านมาตนมีโอกาสต้องกระทู้ถามต่อนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลเรื่องความมั่นคง กำกับดูแลกิจการตำรวจ ว่าแทบจะไม่ได้รับคำตอบอะไรเลย ไม่ได้เห็นความจริงใจของรัฐบาลชุดนี้ในการแก้ปัญหาดับไฟใต้ ที่จะทวงความยุติธรรมให้กับผู้ที่เสียหายและผู้ที่สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบแม้แต่น้อย 
  

\"สภาฯ\"ถก ญัตติด่วน\"คดีตากใบ\" หวังให้ผู้กระทำผิด เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

นอกจากนั้น "นางสาวแพทองธาร ชินวัตร" นายกรัฐมนตรีได้เคย พูดเป็นนัยยะว่าทำไมถึงมาฟ้องเอาตอนนี้ตอนที่คดีใกล้จะหมดอายุความกลายเป็นว่าเหยื่อคนที่สูญเสียกลายเป็นแพะ เป็นคนที่ถูกตราหน้าจากสังคม หากย้อนกลับไป 20 ปีที่ผ่านมาอดีตนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นทราบดีว่าไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ระหว่างการตีกอล์ฟอยู่เข้าใจว่าคนธรรมดาต้องมีการพักผ่อน แต่เหตุการณ์ชุมนุมลากยาวจนเกิดเหตุไม่มีมีความรู้สึกในเรื่องนี้เลยหรือไม่ว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเป็นความผิดพลาดในการบริหารจัดการ 

“แต่วันนี้จากนายกผู้พ่อสู่นายกผู้ลูก เราจะส่งสัญญาณถึงการละเลยถึงความเจ็บปวดของประชาชนเหมือนเดิมอีกหรือ” นายรังสิมันต์ กล่าว
   

ทั้งนี้ หากรัฐบาล จะเดินหน้าต่อไปจะต้องตอบ 3 คำถาม ที่ฝากไว้กับรัฐบาลให้คิดคือ 1.รัฐบาลต้องตอบให้ชัดว่าเหตุการณ์ตากที่เกิดขึ้นในสมัยอดีตนายกทักษิณ ไม่ใช้อำนาจหน้าที่และปล่อยให้เหตุการณ์เกิดขึ้นได้ 2. จะมีกระบวนการและนโยบายอย่างไร ที่จะมั่นใจว่ากระบวนการยุติธรรมจะไม่เป็นเช่นนี้อีกแล้ว แล้วจะสร้างความมั่นใจอย่างไรให้กับพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 3.ขอรัฐบาลช่วยสร้างความแตกต่างในการดับไฟใต้ที่จะนำไปสู่ความแตกต่างให้ประชาชนรู้สึกว่ามีความหวัง 

นอกจากนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากทุกพรรคการเมือง ได้ร่วมกันอภิปรายอย่างกว้างขวาง จากนั้นได้ให้ผู้เสนอญัตติทั้ง2 คนอภิปรายสรุป โดยมีแนวทางเดียวกันคือให้ส่งญัตติดังกล่าวไปยังคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ศึกษาเพิ่มเติม ภายใน 90 วัน และนำข้อเสนอในสภาส่งไปยังรัฐบาลด้วย