27 กันยายน 2566 พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยผลการประชุม คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. ครั้งที่ 10/2566 ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธาน ที่มีวาระสำคัญ การคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนใหม่ แทนที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ที่จะเกษียณอายุราชการ ในวันที่ 30 ก.ย. นี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
พล.ต.ท.อาชยน กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี มีภารกิจ และมอบหมายให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้แถลงแทน การประชุมก.ตร. ครั้งที่ 10/2566 วันนี้ มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในที่ประชุมเป็นครั้งแรก มี ผบ.ตร. ให้การต้อนรับ
โดยเรื่องสำคัญในวันนี้ เป็นเรื่องของการคัดเลือก แต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. เนื่องจาก พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย. นี้ จึงได้มีการประชุมคัดเลือกแต่งตั้ง ผบ.ตร.
ซึ่งการแต่งตั้ง ผบ.ตร. คนที่ 14 มีการพิจารณาคัดเลือกรายชื่อ ผู้ที่จะเป็น ผบ.ตร. ท่านใหม่เรียบร้อยแล้ว แต่อยู่ระหว่างในขั้นตอนการธุรการ เพื่อนำความกราบบังคมทูล จึงยังไม่สามารถเปิดเผยได้ในวันนี้
พล.ต.ท.อาชยน กล่าวว่า ส่วนเรื่องที่ 2 เรื่องการขยายระยะเวลา แต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับ รอง ผบ.ตร. - ผบก. วาระประจำปี 2566 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค. 66 ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ให้มีการขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปก่อน เพื่อความเหมาะสม และได้มีการพิจารณารายชื่อ อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ จึงได้มีการขยายระยะเวลาออกไปก่อน
เมื่อถามว่า มติการคัดเลือก ผบ.ตร.คนใหม่ เป็นไปตามกระแสข่าวหรือไม่ พล.ต.ท.อาชยน กล่าวว่า ในนามของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนธุรการ ที่จะเตรียมนำความกราบบังคมทูลต่อไป
สำหรับการพิจารณา ผบ.ตร. คนใหม่ ยึดหลักตามข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ในเรื่องความอาวุโส และความรู้ความสามารถ ซึ่งมีประสบการณ์ในด้านการสืบสวนสอบสวน และป้องกันปราบปราม ส่วนเรื่องวาระในการพิจารณาเป็นเรื่องของที่ประชุม จะพิจารณาตามระเบียบนายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้พิจารณาเสนอรายชื่อให้ ก.ตร. มีมติเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ
ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ ในที่ประชุม ไม่สามารถเปิดเผยได้ ยืนยันว่า วันนี้มีการพิจารณารายชื่อ ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งใหม่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งขั้นตอนในการแต่งตั้ง จะเป็นไปตามกระบวนการ ที่ได้กำหนดไว้ในข้อกำหนด การแต่งตั้งประจำปี 2566 ต่อไป ส่วนการกลั่นกรองการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับ รองผบ.ตร.-ผบก. วาระประจำปี 2566 จะเป็นไปตามกระบวนการที่ได้กำหนดไว้
พล.ต.ท.อาชยน กล่าวอีกว่า ในการประชุมครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ฝากถึงตำรวจในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ อยากให้มีความเป็นมืออาชีพ และคุณธรรม การประชุมต่าง ๆ ให้ปฏิบัติภายใต้กรอบของกฎหมาย และสามารถที่จะชี้แจงต่อประชาชนได้
ขณะที่ นายเศรษฐา ไม่ได้ตอบคำถาม เพียงแต่ชูนิ้วโป้ง ให้กับสื่อมวลชนหลัง ผู้สื่อข่าวสอบถามว่า สบายใจแล้วหรือไม่ ก่อนจะตรวจแถวกองเกียรติยศ และเดินทางกลับทันที
เปิดบรรยากาศการเสนอชื่อ ผบ.ตร. คนที่ 14 นายกฯ เสนอชื่อ "บิ๊กต่อ"
มีรายงานว่า คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. มีทั้งหมด 16 ท่าน แต่ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ติดภารกิจไม่ได้เข้าร่วมประชุม โดยก่อนการประชุมจะเริ่ม นายกรัฐมนตรี ได้เชิญ ก.ตร. 9 ท่าน ยกเว้น พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. และพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ซึ่งเป็นแคนดิเดต ผบ.ตร.คนใหม่ เข้าหารือกันนอกรอบ ที่ห้องพรหมนอก ก่อนเริ่มประชุมในเวลา 15.00 น. โดยมีการเชิญ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย ออกจากห้องประชุม
จากนั้นที่ห้องประชุมศรียานนท์ นายเศรษฐา ได้เสนอชื่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ให้ที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยใช้วิธีลงคะแนนอย่างเปิดเผย ปรากฎว่า ก.ตร. 9 ท่าน เห็นชอบตามที่นายกฯ เสนอ มีเพียง พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ไม่เห็นชอบ ส่วนนายเศรษฐา ในฐานะประธานที่ประชุม และ นายประทิต สันติประภพ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ งดออกเสียง
สำหรับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล หรือ “บิ๊กต่อ” เกิดวันที่ 27 ม.ค.2507 จบมัธยมศึกษาที่ โรงเรียนโยธินบูรณะ ปริญญาตรีรัฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สิงห์แดงรุ่น 38 อบรมหลักสูตรการฝึกอบรมผู้มีวุฒิด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ บรรจุแต่งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรรุ่น 4
ประวัติราชการ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ บรรจุครั้งแรกในตำแหน่ง รองสารวัตร สังกัดกองกำกับการสายตรวจ กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ หรือ 191 เมื่อ 1 ก.พ. 2541 ก่อนโยกเป็นรองสารวัตรแผนก 3 กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม ตั้งแต่เป็น ร.ต.ท. โดยเป็นรองสารวัตรอยู่ 7 ปีเศษ เลื่อนขึ้นเป็นสารวัตรท่องเที่ยว 3 กองกำกับการ 1 ในปี 2548 ก่อนโยกกลับมาเป็นสารวัตรกองกำกับสายตรวจ และปฏิบัติหน้าที่ ในตำแหน่งผู้บังคับกองปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการปราบปราม
เป็นสารวัตรอยู่อีก 7 ปี ก็ขยับเป็นรองผู้กำกับการสายตรวจ และปฏิบัติการพิเศษในปี 2555 หลังจากนั้นอีก 4 ปีเศษ ก็ขยับขึ้นเป็นผู้กำกับการในหน่วยเดิม
เดือน มี.ค. 2561 เลื่อนขึ้นเป็นรองผู้บังคับการกองปราบปราม เดือน ต.ค. 2561 ได้รับการยกเว้นหลักเกณฑ์ ขึ้นเป็นผู้บังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เดือน ต.ค. 2562 เลื่อนเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
และในเดือน ต.ค.2563 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็น ผบช.ก. ก่อนขยับขึ้นเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. ในเดือน ต.ค. 2564 และเมื่อเดือน ต.ค. 2565 เลื่อนเป็น รอง ผบ.ตร. รับผิดชอบงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม
ส่วนผลงานที่สำคัญ คือจัดฝึกอบรม “แอคทีฟ ชูตเตอร์” ให้ความรู้ตำรวจทั้งสายงานปราบปราม-หน่วยปฎิบัติการพิเศษ เกี่ยวกับการเข้าระงับเหตุ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรับมือเหตุเฉพาะหน้า โดยเฉพาะเหตุกราดยิง ควบคู่กับการต่อยอดความรู้ไปยังสถานศึกษา และหน่วยงานอื่น กลายเป็นหลักสูตรที่รู้จักแพร่หลาย
นอกจากนี้ยังเป็นผู้จุดประกายนำปืน “ช็อตไฟฟ้า” ลดความสูญเสียของผู้ปฏิบัติ กระทั่งการได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานแก้ไข เรื่องอาวุธปืนหลวง ปัดฝุ่นระเบียบปืนสวัสดิการ นำ QR Code มาใช้ตรวจสอบ และติดตามแก้ปัญหา ลอบนำปืนหลวงออกไปขาย
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ยังเป็นหัวหน้าศูนย์ปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (ศปลป.ตร.), ศูนย์บริหารงานป้องกันปราบปราม (ศปป.ตร.), ศูนย์ปราบปรามการลักลอบตัดไม้ ทำลายป่า ทรัพยากรธรรมชาติ (ศปทส.ตร.), ศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ (ศปจร.ตร.), ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทาง (ศปข.ตร.)