ศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC ออกแถลงการณ์ในวันพฤหัสบดี (21 พฤศจิกายน) ระบุว่า ศาลอนุมัติหมายจับนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล และโยอัฟ กัลแลนต์ อดีตรัฐมนตรีกลาโหมของอิสราเอล ในคดีก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในฉนวนกาซา โดยทั้งคู่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรับผิดชอบต่อการโจมตีที่เป็นอันตรายต่อชีวิตพลเรือนในฉนวนกาซาในวงกว้าง, ปิดกั้นการเข้าถึงการรักษาพยาบาล และใช้ความอดอยากเป็นอาวุธ
นอกจากนี้ศาล ICC ออกหมายจับโมฮัมเหม็ด เดอิฟ อดีตผู้นำกลุ่มติดอาวุธของฮามาส ที่อิสราเอลประกาศว่าสามารถปลิดชีพเขาจากการโจมตีทางอากาศในฉนวนกาซาเมื่อเดือนกรกฎาคม แต่ฮามาสยังไม่เคยยืนยันการเสียชีวิต ศาลระบุว่า มีหลักฐานที่เชื่อว่าเดอิฟก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติจากการโจมตีของฮามาสในอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566
เมื่อเดือนพฤษภาคมอัยการของศาล ICC ยื่นขอหมายจับทั้ง 3 คน ร่วมกับผู้นำฮามาส อีก 2 คน ได้แก่ อิสมาอิล ฮานิเยห์ และยาห์ยา ซินวาร์ แต่ทั้งคู่ถูกสังหารโดยอิสราเอลแล้ว ศาลจึงถอนคำร้องขอออกหมายจับ
เนทันยาฮูกลายเป็นผู้นำอิสราเอลคนแรกที่ถูกออกหมายจับของศาล ICC หลังจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ยืดเยื้อมานาน 76 ปีแล้ว ขณะที่สงครามครั้งล่าสุดระหว่างอิสราเอลและฮามาส คร่าชีวิตชาวปาเลสไตน์ 44,056 ราย และผู้บาดเจ็บ 104,268 ราย ในช่วงเวลา 13 เดือน ส่วนอิสราเอลอ้างว่าสังหารสมาชิกฮามาสได้มากกว่า 17,000 ราย
นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู ออกแถลงการณ์ประณามการอนุมัติหมายจับ โดยบอกว่า เป็นการกระทำที่ไร้เหตุผลและไม่ถูกต้อง พร้อมทั้งปฏิเสธข้อกล่าวหา และยังวิจารณ์ด้วยว่า ศาล ICC เป็นองค์กรที่มีอคติทางการเมืองและเลือกปฏิบัติ เขาบอกด้วยว่า จะไม่ยอมจำนนต่อแรงกดดัน และไม่ท้อถอยจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายทั้งหมดของสงครามครั้งนี้
นอกจากนี้แดนนี ดานอน เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติ ประณามการตัดสินใจของศาล ICC ว่าเป็นการตันสินใจที่น่าละอาย และอิสราเอลจะหารือกับชาติพันธมิตรเพื่อผลักดันการบอยคอตต์ศาล ICC และใครก็ตามที่ร่วมมือกับ ICC
ส่วนฮามาสแสดงความยินดีกับการออกหมายจับเนทันยาฮูและกัลแลนต์ แต่ไม่แสดงความเห็นเรื่องหมายจับเดอิฟ ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคมฮามาสประณามอัยการ ICC ที่ตัดสินใจยื่นขอหมายจับผู้นำของพวกเขา
อิสราเอลไม่ได้เป็นชาติภาคีสมาชิกของศาล ICC และไม่ยอมรับอำนาจของศาล ขณะที่ชาติสมาชิกทั้ง 124 ประเทศของ ICC มีข้อผูกมัดในการจับกุมและส่งตัวบุคคลในหมายจับให้กับ ICC เมื่อบุคคลนั้นเข้าสู่ประเทศ
ขณะที่สหรัฐฯ ไม่ได้เป็นสมาชิกของ ICC และทำเนียบขาว แถลงเมื่อวานแสดงความเห็นคัดค้านการออกหมายจับต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิสราเอล และอ้างว่า ICC ไม่มีขอบเขตอำนาจดำเนินการเรื่องนี้