ดร. อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Anan Jongkaewwattana" ระบุข้อความว่า
อีกไม่นาน BA.2 อาจจะเป็นโควิดสายพันธุ์หลักแทนที่ BA.1 ซึ่งเป็นโอมิครอนสายพันธุ์หลักที่ระบาดเป็นวงกว้างในตอนนี้ ไวรัส BA.2 มีความสามารถในการแพร่กระจายได้ดีกว่า BA.1 ประมาณ 30-40% ความแตกต่างระหว่าง BA.2 กับ BA.1 นอกจากจะมีการเปลี่ยนแปลงบนโปรตีนหนามสไปค์ที่ต่างคนต่างมีการเปลี่ยนแปลงเฉพาะตัวของตัวเองแล้ว
เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่งอื่นนอกโปรตีนหนามสไปค์อาจมีส่วนทำให้ BA.2 มีคุณสมบัติที่โดดเด่นกว่า BA.1 งานวิจัยชิ้นล่าสุดจากทีมญี่ปุ่นมีผลการทดลองที่น่าสนใจ
1. ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนจากอาสาสมัครในญี่ปุ่นเมื่อนำมาทดสอบเปรียบเทียบระหว่างไวรัส BA.1 และ BA.2 พบว่า BA.2 หนีภูมิได้สูงกว่า เช่น ภูมิจาก Moderna ถูก BA.1 หนีได้ 15 เท่า แต่ BA.2 หนีได้ 18 เท่า และ ภูมิจาก AZ ถูก BA.1 หนีได้ 17 เท่า แต่ BA.2 หนีได้ 24 เท่า
2. ที่น่าสนใจคือ ภูมิจากการติดเชื้อ BA.1 มา ดูเหมือนจะถูก BA.2 หนีได้เช่นกัน ทั้งๆที่หลายคนเชื่อว่าไวรัสสองตัวนี้เป็นกลุ่มโอมิครอนเหมือนกัน แต่ความแตกต่างระหว่างสองสายพันธุ์นี้ทำให้ภูมิจาก BA.1 ถูกไวรัส BA.2 หนีได้มากถึง เกือบ 3 เท่า ผลจากหนูทดลองที่ได้รับวัคซีนที่ออกแบบจากสไปค์ของ BA.1 ก็ถูก BA.2 หนีได้มากถึง 6.4 เท่า แสดงว่า โอมิครอน 2 สายพันธุ์นี้อาจจะใช้ทำเป็นวัคซีนแทนกันไม่ได้ซะทีเดียว
3. BA.1 เป็นไวรัสที่ไม่รุนแรงในหนูแฮมสเตอร์ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะไวรัสเปลี่ยนไปจนจับโปรตีนตัวรับของสัตว์ทดลองไม่ได้ดี หรือ ไวรัสลดความรุนแรงลงจนติดปอดหนูไม่ได้ดีเหมือนสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ แต่ BA.2 ติดหนูแฮมสเตอร์ได้ดีกว่า BA.1 มาก
ทีมวิจัยเชื่อว่า BA.2 อาจจะไม่ใช่โอมิครอนทั่วไปเหมือน BA.1 ทั้งคุณสมบัติของไวรัสที่แตกต่างกัน และ ความแตกต่างทางการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน ไวรัสตัวนี้อาจจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Pi ซึ่งเป็นตัวอักษรตัวถัดไปต่อจากโอมิครอน
ดร.อนันต์ โพสต์ตั้งคำถามระบุ นักวิจัยญี่ปุ่นสรุปว่า BA.2 ดุพอ ๆ กับเดลตา มาจากผลวิจัยติดไวรัสในหนูที่ไม่เคยได้วัคซีน จะใช้อธิบายกับคนได้หรือไม่ ? เป็นคำถามสำคัญ
ล่าสุด ดร.อนันต์ ระบุว่า ตามสถิติร้อยละการตรวจที่พบคนติดเชื้อสูงสุดของประเทศไทยคือวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ซึ่งข้อมูลผู้ติดเชื้อคือ 20,128 ราย โดยช่วงนั้นข้อมูลของ ATK ยังไม่ได้มีการใช้อย่างแพร่หลาย ตัวเลขการติดเชื้อโอมิครอนตอนนี้กำลังใกล้จุดสูงสุดของเดลต้า
แต่ตัวเลขที่แตกต่างกันค่อนข้างชัดคือ จำนวนผู้เสียชีวิตในวันนั้นที่ 239 ราย แต่ช่วงการระบาดตอนนี้ยังเหลือประมาณ 10-20% ของการระบาดช่วงเดลต้า ซึ่งบ่งชี้ว่าภูมิคุ้มกันของเราตอนนี้จากวัคซีนที่ฉีดกันสูงกว่าตอนช่วงพีคเดลต้ามาก จำนวนเคสที่สูงขึ้นแสดงว่าภูมิคงจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้โดยเฉพาะโอมิครอน
แต่อาการหนักและรุนแรงภูมิจากวัคซีนทำหน้าที่ได้ดีมากอยู่ เมื่อการป้องกันการติดเชื้อไม่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน เครื่องมืออื่นๆเช่น หน้ากากอนามัย สบู่ แอลกอฮอร์ และ การระบายอากาศที่ดี คงจะต้องเป็นตัวหลักที่จะกดตัวเลขตัวนี้ลงครับ การปล่อยให้ตัวเลขการติดเชื้ออยู่ในระดับสูงนานๆมีความเสี่ยงทั้งจากการเปลี่ยนแปลงของเชื้อที่อาจเกิดขึ้น และ จำนวนผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตที่อาจสูงขึ้นตาม
การตัดสินใจที่จะ move on กับไวรัส คือ การรู้วิธีการตั้งรับที่ดี ตัดตอนป้องกันไม่ให้ศัตรูเก่งขึ้น ดีกว่าการพึ่งพาภูมิคุ้มกันจากวัคซีนอย่างเดียวที่ไวรัสพยายามหนีอยู่ตลอดเวลา และ ไวรัสมักจะชนะได้ไม่ยาก