svasdssvasds
เนชั่นทีวี

Health & Lifestyle

หัวใจวายเฉียบพลัน หัวใจล้มเหลว อันตรายที่คนอายุน้อยก็เสี่ยงได้!

เปิดสาเหตุนักกีฬาแบดมินตันจีนวัย 17 ปี เสียชีวิตกะทันหันขณะแข่งขัน หมอหัวใจชี้ภาวะหัวใจหยุดเต้นในนักกีฬาป้องกันยากมาก พร้อมเผยความเสี่ยงของกลุ่มนักกีฬาที่อายุน้อยกว่า 35 ปี

ขอแสดงความเสียใจกับการจากไปของ “จาง จื้อ เจี๋ย” นักแบดมินตันดาวรุ่งจีนอายุเพียง 17 ปี ที่เสียชีวิตขณะแข่งขันแบดมินตันทีมเยาวชนชิงแชมป์เอเชีย (Badminton Asia Junior Championships 2024) ที่ประเทศอินโดนีเซีย โดยแพทย์เผยสาเหตุเบื้องต้นน่าจะมาจากโรคหัวใจกำเริบ หลังมีอาการชักหมดสติล้มลงกลางสนามด้วยภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ซึ่งเป็นหนึ่งในอันตรายที่คนอายุน้อยก็เสี่ยงได้

 

หมอหัวใจชี้ “หัวใจหยุดเต้นกะทันหันในนักกีฬา” ป้องกันยากมาก มีโอกาสพบในนักกีฬาชายอายุน้อย

นพ.ฆนัท ครุธกูล นายกสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ และอายุรแพทย์โรคหัวใจ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าโดยส่วนใหญ่นักกีฬาอาจจะมีโรคประจำตัว หรือเป็นเรื่องของกรรมพันธุ์ แต่ไม่รู้ว่าตัวเองมีโรคนี้อยู่ เพราะไม่แสดงอาการ

“แม้จะเป็นนักกีฬา ที่ผ่านการตรวจร่างกาย แต่ระบบและเครื่องมือบางอย่างไม่สามารถตรวจพบ และคนที่เป็นโรคหัวใจอาจไม่รู้ตัวมาก่อน หากถึงช่วงที่จังหวะหัวใจเต้นเร็วมากหรือทำงานหนักมาก ร่างกายเครียดมาก เช่น  ระหว่างการแข่งขันในแมตช์สำคัญ อาการก็จะแสดงออกมาได้”

ทั้งนี้ จากข้อมูลทางการแพทย์พบว่า อัตราการเสียชีวิตจากหัวใจหยุดเต้นกะทันหันในนักกีฬายังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่ป้องกันได้ยาก พบการเสียชีวิตจากหัวใจหยุดเต้นกะทันหันในนักกีฬาอายุน้อยประมาณ 1 ใน 200,000 รายต่อปี ส่วนใหญ่พบขณะกำลังมีการแข่งขันหรือการซ้อม ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มักพบว่าเป็นนักกีฬาฟุตบอล บาสเกตบอล ฮอกกี้น้ำแข็ง หรืออเมริกันฟุตบอล ซึ่งเป็นกีฬาที่มีนักกีฬาร่วมแข่งขันเป็นจำนวนมากและเป็นกีฬาที่ใช้การออกแรงมาก อย่างไรก็ตาม อุบัติการณ์นี้ยังน้อยกว่าที่พบในประชากรทั่วไปมาก ซึ่งอยู่ที่ 1 ใน 1,300-1,600 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ

ขณะที่ นพ.วิทวัส ศิริประชัย เจ้าของเพจ Drama-addict ได้ระบุผ่านโพสต์ในเพจว่า ถ้าตามข่าวจะสังเกตเห็นว่ามีคนเล่นแบดมินตันแล้วเกิดอาการแบบนี้บ่อยมาก สาเหตุเกิดจากการเล่นแบดเป็นกีฬาที่ความเข้มข้นสูงมาก จะมีการขยับตัวต่อเนื่องเป็นระยะเวลานึงเป็นช่วงๆ ซึ่งในช่วงที่ขยับตัวไม่หยุดนั้น จะทำให้ชีพจรขึ้นไปสูงมากๆ เหมือนการออกกำลังกายแบบ HIIT และในบางคนที่อาจมีโรคประจำตัวซ่อนอยู่ การที่หัวใจเต้นเร็วมากๆ จะไปกระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ที่อันตรายถึงชีวิต เช่น VT/VF ได้ เมื่อเราพบคนที่กำลังออกกำลังกายอยู่ดีๆ จู่ๆ ก็ฟุบไปเลย สาเหตุมักมาจากหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดนี้

สำหรับวิธีช่วย ถ้าคนนั้นหมดสติปลุกไม่ตื่น ให้เริ่มทำการ CPR ทันที และรีบโทร 1669 ที่สำคัญที่สุดคือ AED เพราะจะสามารถทำให้หัวใจที่เต้นผิดจังหวะกลับมาเต้นตามปกติได้ และช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตสูงถึง 50% ดังนั้น ต้องมี AED ประจำที่สนามแบดและสนามกีฬาทุกแห่ง

1 ใน 50,000

สถิติของประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า นักกีฬามีโอกาสเสียชีวิตถึง 1 ใน 50,000 คนต่อการแข่งขันกีฬาระดับวิทยาลัย และอาจจะสูงถึง 1 ใน 5,000 คนในการแข่งขันบาสเกตบอล โดยนักกีฬาที่อายุมากกว่า 35 ปีมีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตมากถึง 5% ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอายุของนักกีฬา และพบในนักกีฬาผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

ความเสี่ยงของกลุ่มนักกีฬาที่อายุน้อยกว่า 35 ปี

ส่วนใหญ่มักเกิดจาก “ความผิดปกติของหัวใจที่มีมาแต่กำเนิด” ในอดีตนั้นพบว่าสาเหตุหลักนั้นเกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว ซึ่งสุดท้ายแล้วจะก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้การนำไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ส่งผลให้หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้ แต่ในการศึกษาในช่วงหลังพบสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นจากหัวใจหนาตัวน้อยลง อาจเป็นเพราะการตรวจคัดกรองโรคหัวใจในนักกีฬาถูกบรรจุเป็นภาคบังคับสำหรับนักกีฬาอาชีพที่แพร่หลายมากขึ้น ทำให้สาเหตุของการเสียชีวิตของนักกีฬาอายุน้อยในช่วงหลังๆ ตรวจไม่พบความผิดปกติของโครงสร้างของหัวใจ จึงถูกสรุปว่าการเสียชีวิตนั้นมีสาเหตุมาจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเฉียบพลัน (Sudden Arrhythmic Death Syndrome; SADS) มากขึ้นแทน

ในกลุ่มนักกีฬาที่อายุมากกว่า 35 ปี

สาเหตุของการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันที่อาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ในคนกลุ่มนี้ จะมาจากเรื่องของ “เส้นเลือดหัวใจตีบ” มากกว่าความผิดปกติของโครงสร้างของหัวใจ ซึ่งสาเหตุของเส้นเลือดหัวใจตีบที่พบบ่อยนั้น ได้แก่ การมีภาวะไขมันในเลือดสูง หรือมีโรคร่วมอื่นๆ เช่น เบาหวาน หรือมีภาวะไตเสื่อม หรืออาจเกิดจากอุปนิสัยส่วนตัว เช่น สูบบุหรี่มาเป็นระยะเวลานานๆ การใช้สารเสพติด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สาเหตุอย่างภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเฉียบพลันก็ยังคงพบได้อยู่ แต่พบได้ในอัตราส่วนที่น้อยลงเมื่อเทียบกับกลุ่มนักกีฬาที่อายุน้อยกว่าข้างต้น

ปัจจุบันคนอายุน้อย ยังไม่สูงวัย ทำไมถึงหัวใจล้มเหลว?

สำหรับเหตุผลที่ทำให้ “ภาวะหัวใจล้มเหลว” ถูกพบได้ในคนไข้ที่มีอายุน้อยมากขึ้น นอกจากสาเหตุเบื้องต้นที่กล่าวมาแล้ว ยังมาจาก “พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปของผู้คนในปัจจุบัน” ที่หันมานิยมบริโภคอาหารจำพวกฟาสต์ฟู้ดส์เยอะขึ้น นิยมบริโภคอาหารที่มีรสหวาน บริโภคน้ำตาลเยอะขึ้น รวมไปถึงบริโภคอาหารรสจัด รสเค็มที่มีเกลือ มีโซเดียมสูง ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยนำไปสู่โรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ได้ง่ายขึ้น ซึ่งโรคทั้งสองนี้ถือว่าเป็นพิษต่อหัวใจและหลอดเลือด ทำให้มีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวได้ง่าย และเร็วขึ้นกว่าเดิมแม้จะยังมีอายุน้อยอยู่

นอกจากนี้พฤติกรรมที่ขาดการออกกำลังกาย ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวเร่งโอกาสเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้เช่นกัน เพราะเมื่อร่างกายไม่ออกกำลังกาย และทานอาหารไม่เหมาะสม จนทำให้น้ำหนักเกินมาตรฐาน ก็จะเป็นสาเหตุนำไปสู่การเกิดโรคในกลุ่ม Non-communicable Disease หรือ NCDs ซึ่งก็คือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ฯลฯ ซึ่งเป็นพิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นพิษต่อหลอดเลือด จนเป็นสาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลวในที่สุดนั่นเอง

สังเกตอาการอย่างไรว่าเข้าข่ายหัวใจล้มเหลว?

ในระยะเริ่มแรกของภาวะหัวใจล้มเหลว คนไข้จะมีอาการที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน โดยจะรู้สึกว่า “ออกแรงได้น้อยลง เหนื่อยง่ายเวลาออกแรง” ในระยะต่อมาเมื่อเป็นหนักขึ้น ก็จะพบว่ามีอาการ “เหนื่อยแม้กระทั่งทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ แม้กิจวัตรประจำวันที่เคยทำได้ปกติ ที่ไม่เคยเหนื่อย ก็กลับรู้สึกเหนื่อยเมื่อต้องทำ” และในระยะต่อมาที่รุนแรงมากขึ้นก็จะพบว่า “แม้กระทั่งนั่งอยู่เฉยๆ ก็ยังรู้สึกเหนื่อย นอนราบแล้วไอ ขาบวม ตลอดจนน้ำหนักขึ้นเร็วกว่าปกติ” ซึ่งหากพบเห็นอาการในระยะนี้ จำเป็นต้องตระหนักไว้ให้ดีว่า ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะเป็นอันตรายมาก อาจทำให้หัวใจล้มเหลว จนถึงขั้นเสียชีวิตฉับพลันได้

ดูแลตัวเองอย่างไร ให้ห่างไกลหัวใจล้มเหลว

สำหรับภาวะหัวใจล้มเหลวนั้น ถ้าเป็นแล้วไม่มีทางรักษาให้หายขาด ดังนั้น ยิ่งหากเราปล่อยให้ตัวเองต้องเจอภาวะนี้เร็วขึ้น ก็จะยิ่งเท่ากับเป็นการทำให้ชีวิตเราต้องลำบากมากขึ้น มีความสุขน้อยลง เพราะปกติ คนส่วนใหญ่เป็นตอนอายุ 50 ปีขึ้นไป ก็ยังลำบากเลย แล้วถ้ามาเป็นตั้งแต่ 30 ต้นๆ ก็ยิ่งลำบาก ยิ่งเสียโอกาสในการใช้ชีวิตเข้าไปใหญ่ ดังนั้น เพื่อให้เราปลอดภัย มีสุขภาพแข็งแรงที่ห่างไกลจากภาวะหัวใจล้มเหลวนั้น สิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องทำตั้งแต่วันนี้ และเดี๋ยวนี้เลยก็คือ “การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต” เพื่อป้องกันไม่ให้เส้นเลือดเราเสื่อมเร็ว เราต้องดูแลตัวเองเรื่องอาหารการกิน และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ระวังอย่างให้ความดันสูง อย่าให้อ้วน อย่าให้น้ำหนักเกินมาตรฐาน อย่าให้ไขมันในเลือดสูง อย่าให้เป็นเบาหวาน อย่าสูบบุหรี่ อย่าดื่มเหล้า และก็อย่าเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะหากไม่ดูแลเรื่องเหล่านี้ล่ะก็ โอกาสที่เราจะหัวใจล้มเหลวตั้งแต่อายุน้อยๆ ก็จะยิ่งมีมากยิ่งขึ้น