svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

ทำความเข้าใจ 4 โรครุมเร้าเข้าข่ายกลุ่มเปราะบางของอดีตนายก อันตรายแค่ไหน!!

ปัญหาสุขภาพ : ชวนรู้จัก 4 โรคประจำตัวรุมเร้าอดีตนายก ทั้งภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, ปอดอักเสบเรื้อรัง, ความดันโลหิตสูง และกระดูกสันหลังเสื่อมทับเส้นประสาท เปิดอาการโรค ความเสี่ยงด้านสุขภาพ พร้อมวิธีป้องกัน

ภายหลัง นพ.วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เปิดเผยโรคที่ยังเป็นประเด็นและยังจำเป็นที่จะต้องเฝ้าของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ประกอบด้วยการมีประวัติโรคประจำตัวเป็น “โรคหัวใจ มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด” และอยู่ระหว่างการติดตามการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางอย่างใกล้ชิด และรับประทานยาละลายลิ่มเลือดอยู่ต่อเนื่องในปัจจุบัน กรณี “มีปัญหาทางปอด” เคยมีประวัติเป็น “ปอดอักเสบรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด” ทำให้ภาวะปอดอักเสบเรื้อรัง ถึงแม้ว่าจะหายแล้ว แต่ยังคงพบว่า มีพังผืดในปอด ส่งผลให้มีความผิดปกติต่อเนื่องในการแลกเปลี่ยนออกซิเจน ทำให้มีอาการเหนื่อยง่าย  ซึ่งทั้ง 2 ส่วน ถือว่าจำเป็นต้องได้รับการเฝ้าระวังและดูแลโดยบุคลากรทางด้านการแพทย์เพื่อประเมินว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร 

เมื่อประกอบกับการเป็นผู้สูงอายุที่มี “ความดันโลหิตสูง” ซึ่งอยู่ระหว่างการควบคุมและรักษาโดยการรับประทานยา ซึ่งการตรวจเบื้องต้นในวันนี้ ก็ยังพบความดันโลหิตที่ยังผิดปกติอยู่ และการพบมี “ภาวะกระดูกสันหลังเสื่อม” ในหลายระดับ และที่สำคัญมีตรวจพบด้วย MRI พบการกดทับเส้นประสาท ส่งผลทำให้มีการปวดเรื้อรัง การเดิน การทรงตัวที่มีความผิดปกติ 

ทำความเข้าใจ 4 โรครุมเร้าเข้าข่ายกลุ่มเปราะบางของอดีตนายก อันตรายแค่ไหน!!

โดยจากประวัติข้อมูลเบื้องต้นการตรวจร่างกายโดยทีมแพทย์ จึงเห็นว่ามีภาวะเป็น “กลุ่มเปราะบาง” ซึ่งตามแนวทางปฏิบัติของเรือนจำทั่วประเทศ ทางผู้บริหารมีนโยบาย กลุ่มเปราะบางจำเป็นจะต้องอยู่ในพื้นที่ ที่จำเป็นจะต้องเฝ้าระวังใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัย และก็กรณีที่มีอาการเจ็บป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้ทันท่วงที เพื่อลดการสูญเสีย มาดูกันว่าแต่ละโรคอันตรายแค่ไหน

รู้จัก “ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด”

ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันที่มีกลไกการเกิดมาจากลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหัวใจที่ตีบแคบอยู่ก่อนแล้ว อาการที่เกิดจากการมีเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอต่อความต้องการของหัวใจที่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเฉียบพลัน หรือที่เราเรียกว่า “อาการหัวใจวาย” โดยผู้ป่วยมักมีอาการแน่นหน้าอกเป็นอาการเตือนที่สำคัญ ดังนี้

  • เจ็บหน้าอก (Chest Pain) ทั้งแบบทันทีทันใดหรือเจ็บเป็นๆ หายๆ
  • อาการแน่นหน้าอกหายใจไม่ค่อยออก  อึดอัด จุกเสียดบริเวณลิ้นปี่
  • เจ็บแน่นคล้ายของหนักมากดทับ หรือบีบรัด อาจร้าวไปบริเวณต่างๆ เช่น คอ หัวไหล่ หรือแขนด้านซ้าย
  • มักเป็นนานติดต่อกันมากกว่า 20 – 30 นาที นั่งพักแล้วอาการไม่ดีขึ้น
  • อาการเหนื่อยขณะออกแรง (Dyspnea)
  • เหนื่อย เพลีย  นอนราบไม่ได้ (Congestive Heart Failure)
  • หมดสติหรือหัวใจหยุดเต้น (Unconscious or Cardiac Arrest)

สาเหตุที่สำคัญของการเกิดโรค

  • พันธุกรรม  สำหรับบุคคลที่มีประวัติในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • อายุ ที่เพิ่มมากขึ้นจากสถิติพบในเพศชายอายุ ตั้งแต่  40  ปี และเพศหญิงตั้งแต่  45 ปีขึ้นไป
  • เพศ จากสถิติพบว่าเพศชายมีโอกาสและปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมากกว่าเพศหญิง
  • การสูบบุหรี่ สารนิโคตินในบุหรี่ทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัว ความยืดหยุ่นของหลอดเลือดเล็กลง
  • โรคประจำตัวอื่นๆ  เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน เป็นต้น
  • การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
  • ขาดการออกกำลังกาย ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก เผาผลาญพลังงานน้อย และการสะสมของไขมัน

การป้องกัน "โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด"

ผู้ที่มีอาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเป็นครั้งแรก จะรู้สึก “เจ็บหน้าอกเวลาออกกำลังกาย หรือเหนื่อยง่ายกว่าปกติโดยหาสาเหตุไม่ได้” ควรรีบพบแพทย์แต่เนิ่นๆ เพื่อที่จะได้วินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง พร้อมทั้งจะได้รับการรักษา และป้องกันไม่ให้โรคลุกลามไปมากขึ้น กล้ามเนื้อหัวใจส่วนที่ยังดีอยู่จะได้ทำงานเป็นปกติต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม การป้องกันไม่ให้เกิดโรค คือ วิธีที่ดีที่สุด ซึ่งเราสามารถป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้โดยการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังนี้

  • ไม่สูบบุหรี่
  • ควบคุมความดันโลหิต และเบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • หลีกเลี่ยงอาหารหวาน และเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ
  • ทานอาหารที่มีส่วนช่วยบำรุงหัวใจ เช่น ปลาทะเล ผักใบเขียว และผลไม้ อัลมอลด์ ถั่วชนิดต่างๆ ธัญพืชไม่ขัดสี อะโวคาโด น้ำมันมะกอก เป็นต้น
  • ควบคุมน้ำหนัก ให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอเหมาะ
  • ออกกำลังกายแบบแอโรบิคอย่างสม่ำเสมอ
  • ฝึกสมาธิ ทำให้จิตใจให้ผ่องใส
  • หมั่นตรวจเช็กสุขภาพของตนเองเป็นประจำ ด้วยการตรวจสุขภาพประจำปี

 

รู้จัก “ปอดอักเสบเรื้อรังจากการติดเชื้อโควิด-19”

ปอดอักเสบทำให้กระบวนการแลกเปลี่ยนออกซิเจนทำงานได้ไม่ดี ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้หายใจอึดอัด หายใจลำบาก มีระดับความรุนแรงตั้งแต่รุนแรงน้อยไปจนถึงรุนแรงมากถึงขั้นเสียชีวิต

อาการปอดอักเสบสามารถสังเกตได้ดังนี้

  • หายใจไม่ทัน หายใจไม่สะดวก
  • หอบเหนื่อยง่ายไม่สามารถทำกิจกรรมที่เคยทำได้
  • มีอาการไอเพิ่มขึ้น
  • ในช่วงแรกจะไม่หอบเหนื่อย อาการจะตามมาในภายหลังทดสอบได้ด้วยการวัดค่าออกซิเจนในเลือด (SpO2) ก่อนและหลังปั่นจักรยานอากาศ หรือเดินข้างเตียง 3 นาที หากพบว่าค่าที่ออกมา drop ตั้งแต่ 3 % ขึ้นไปถือว่าเสี่ยงติดเชื้อ Covid-19

กลุ่มเสี่ยงปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโควิด-19

  • ผู้สูงอายุ เนื่องจากอายุที่มากขึ้นอวัยวะภายในร่างกายจะเริ่มเสื่อมสภาพลงตามไปด้วย
  • ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคเกี่ยวกับปอดเรื้อรัง ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายโรค เช่น โรคถุงลมโป่งพอง, หอบหืด, หรือมะเร็งปอด เป็นต้น
  • ผู้ที่มีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน ระดับดัชนีมวลกาย (Body mass index) หรือ BMI ตั้งแต่ 25 ขึ้นไป
  • ผู้ที่มีโรคเพิ่มความเสี่ยงปอดอักเสบ เช่น โรคตับ, ความดันโลหิตสูง, ไตวายเรื้อรัง, โรคเบาหวาน, โรคหัวใจ และมะเร็ง เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังมีภูมิต้านทานต่ำจากความเสื่อมสภาพทั่วไปของร่างกาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน  ไตวาย  หัวใจ ไขมันพอกตับ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนจากปอดอักเสบ  เช่น ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว หรือที่อันตรายที่สุด คือการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้

ทำความเข้าใจ 4 โรครุมเร้าเข้าข่ายกลุ่มเปราะบางของอดีตนายก อันตรายแค่ไหน!!

รู้จัก “โรคความดันโลหิตสูง”

ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการแต่อย่างใด อาจมีอาการปวดมึนท้ายทอย ตึงที่ต้นคอ เวียนศีรษะ บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะตุบๆ เหมือนไมเกรน ในผู้ป่วยที่เป็นมานาน อาจมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ  และเมื่อมีอาการมากอาจโคมา และเสียชีวิตได้

หากปล่อยไว้นาน ไม่รักษา! อาจส่งผลเสียต่อร่างกายดังนี้

  • เลือดไปเลี้ยงไตไม่พอ ไตวายเรื้อรัง
  • หลอดเลือดหัวใจหนา หัวใจขาดเลือด หัวใจวาย
  • หลอดเลือดตีบ โป่งพอง เลือดไปเลี้ยงอวัยวะได้น้อยลง
  • มีผลต่อเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงจอประสาทตา ทำให้จอประสาทตาเสื่อม
  • เป็นสาเหตุของอัมพฤกษ์ อัมพาต

ความดันโลหิตสูง เพชฌฆาตเงียบทำลายหัวใจ

1. โรคความดันโลหิตสูง คือ ภาวะแรงกดดันในหลอดเลือดแดงที่มีค่าสูงเกินปกติ (140/90 มิลลิเมตรปรอท)

2. ความดันโลหิตสูง ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ทำให้ผนังหัวใจหนาตัวและถ้าไม่ได้รักษาอย่างถูกต้อง ผนังหัวใจจะยืดออกและเสียหน้าที่ ทำให้เกิดหัวใจโต และหัวใจวายได้ ดังนั้นถ้าป้องกันความดันโลหิตสูง ก็สามารถป้องกันอันตรายจากโรคหัวใจได้

3. ความดันโลหิตสูง ส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติหรือสัญญาณเตือน ยกเว้นผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงระยะรุนแรงก็อาจมีอาการแสดง เช่น ปวดศีรษะรุนแรง หายใจได้สั้นลง เลือดกำเดาไหล

4. นอกจากโรคความดันโลหิตสูงที่เสี่ยงทำให้เกิดโรคหัวใจแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่น หากเป็นโรคเบาหวาน โรคคอเลสเตอรอลในเลือดสูง โรคอ้วน ก็สามารถเป็นโรคหัวใจได้เช่นกัน

5. สามารถป้องกันโรคความดันโลหิตสูงได้ด้วยการ ลดกินเกลือ (โซเดียม) เพิ่มการรับประทานผักผลไม้(รสหวานน้อย) ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์น้อยลง งดสูบบุหรี่ รวมถึงหลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่

 

รู้จัก “โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน”

โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน (Spondylolisthesis) เป็นโรคที่พบได้บ่อยทั้งในวัยรุ่นและวัยผู้สูงอายุ โดยมีสาเหตุที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุ ในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ ภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนมักเกิดจากความเสื่อมของแนวกระดูกสันหลัง ทั้งในบริเวณหมอนรองกระดูกและข้อต่อกระดูกสันหลัง ซึ่งจะทำให้กระดูกสันหลังเกิดความไม่มั่นคงและส่งผลทำให้มีการเลื่อนของชิ้นกระดูกสันหลังตามมาในที่สุด

สาเหตุของโรคกระดูกสันหลังเคลื่อน

สาเหตุของอาการปวดหลังในผู้ป่วยกระดูกสันหลังเคลื่อนมักเกิดจากความไม่มั่นคง (Instability) ของแนวกระดูกสันหลัง ซึ่งมักเริ่มจากหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม ตามด้วยข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม และส่งผลให้กระดูกสันหลังเกิดการ “เลื่อน” ซึ่งเมื่อกระดูกสันหลังเกิดการเลื่อนตัวออกจากกันจะทำให้เกิดการตีบแคบของโพรงเส้นประสาท และเมื่อมีการตีบแคบลงจนกระทั่งเกิดการกดทับเส้นประสาทก็จะส่งผลทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดร้าวลงขา ชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือมีปัญหาการควบคุมระบบขับถ่ายตามมาในที่สุด

อาการโรคกระดูกสันหลังเคลื่อน

โดยทั่วไปอาการของผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนมักประกอบไปด้วย 2 อาการหลัก ได้แก่ อาการปวดหลังและอาการปวดร้าวลงขา ซึ่งทั้งสองอาการไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นด้วยกันก็ได้ แม้ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอาการทั้งสองอย่างร่วมกัน แต่อาจแตกต่างกันตรงที่บางคนมีอาการหลักเป็นอาการปวดหลัง บางคนอาจมีอาการหลักเป็นการปวดร้าวลงขา

นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังเคลื่อนส่วนหนึ่งอาจไม่มีอาการใด ๆ และอาจตรวจพบโดยบังเอิญจากภาพถ่ายรังสีเอกซเรย์ อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยกระดูกสันหลังเคลื่อนเมื่อเป็นมากขึ้นมักทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้

  • ปวดตึงกล้ามเนื้อบริเวณหลังส่วนล่าง สะโพก และต้นขาด้านหลัง
  • ปวดหลังบริเวณบั้นเอวส่วนล่างเวลาก้มหรือแอ่นหลัง และอาการปวดดีขึ้นเมื่อได้นอนหรือนั่งพัก
  • ถ้าอาการกระดูกสันหลังเคลื่อนเป็นมากขึ้นจนกดทับเส้นประสาท อาจทำให้มีอาการปวดร้าวลงขา ชาขาหรือชาเท้า กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง รวมถึงมีปัญหาในการขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะ