svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

22 เมษา "วันคุ้มครองโลก" ร่วมปกป้องสิ่งแวดล้อม ส่งต่อโลกน่าอยู่ให้ลูกหลาน

21 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วันคุ้มครองโลก หรือ Earth Day ตรงกับวันที่ 22 เมษายนของทุกปี เพื่อปลุกจิตสำนึกร่วมตระหนักปัญหาสิ่งแวดล้อม ปกป้องและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อส่งต่อโลกที่น่าอยู่ให้กับลูกหลานของเรา

วันที่ 22 เมษายน ของทุกปี "วันคุ้มครองโลก" ได้รับการประกาศจาก โครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ (United Nations Environment Program "UNEP") ตั้งแต่พ.ศ. 2513 โดยทั่วโลกจะจัดกิจกรรมวันคุ้มครองโลกเป็นประจำทุกปี 

นอกจากวันคุ้มครองโลก 22 เมษายนแล้ว ยังมี "วันคุ้มครองโลก" ที่กำหนดขึ้นจากช่วงวิษุวัต (equinox) เช่นกัน วิษุวัตเป็นช่วงที่ในกลางวันและกลางคืนมีระยะเวลาเท่ากัน และเป็นการเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิในซีกโลกเหนือ และฤดูใบไม้ร่วงในซีกโลกใต้ โดยนับจากเหตุการณ์ธรรมชาติที่แกนขั้วโลกจะตั้งได้ฉากกับเส้นศูนย์สูตรมากที่สุด ในช่วงวันที่ 20-21 มีนาคมของทุกปี
22 เมษา "วันคุ้มครองโลก" ร่วมปกป้องสิ่งแวดล้อม ส่งต่อโลกน่าอยู่ให้ลูกหลาน

  ความเป็นมา "วันคุ้มครองโลก"  
วันคุ้มครองโลก มีที่มาจาก เกย์ลอร์ด เนลสัน (Gaylord Nelson) สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ริเริ่ม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 ต่อมา ได้ตัดสินใจขอให้ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี ยกเรื่องสิ่งแวดล้อมขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่ง เคเนดี เห็นด้วยและได้ออกเดินสายทั่วประเทศ เป็นเวลา 5 วัน 11 รัฐ ในช่วงเดือนกันยายนพ.ศ. 2506 ก่อนที่ประธานาธิบดีเคเนดีจะถูกลอบยิงเสียชีวิต

การเดินสายครั้งนั้นนับเป็นจุดเริ่มต้นของการริเริ่มวันคุ้มครองโลก จนในปี พ.ศ. 2512 สมาชิกวุฒิสภาเนลสันได้ผลักดันให้มีการจัดการชุมนุมประชาชนระดับรากหญ้าทั่วประเทศขึ้น เพื่อให้แสดงความคิดเห็นในปัญหาสิ่งแวดล้อม และได้เชิญชวนให้ทุก ๆ คนร่วมการชุมนุมเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดกระแสความห่วงใยในวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ของสังคมอเมริกันในขณะนั้น นำสู่ความสำเร็จของการก่อตั้งวันคุ้มครองโลกขึ้นในเวลาต่อมา

ความสำเร็จของวันคุ้มครองโลกยังส่งผลให้วุฒิสมาชิกเนลสัน ได้รับรางวัล Presidential Medal of Freedom จากประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นเกียรติยศสูงสุดสำหรับประชาชนทั่วไป ในฐานะผู้ก่อตั้งวันคุ้มครองโลก (Earth Day)
22 เมษา "วันคุ้มครองโลก" ร่วมปกป้องสิ่งแวดล้อม ส่งต่อโลกน่าอยู่ให้ลูกหลาน

  วันคุ้มครองโลก ในประเทศไทย  
สำหรับ ประเทศไทย ได้มีจัดกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเช่นกัน โดยเริ่มจากการรณรงค์วันคุ้มครองโลก ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2533 โดยโรงเรียนสอนภาษาสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา 

ทั้งนี้ ปี พ.ศ. 2533 ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในประเทศไทย อันเป็นผลจากการเสียชีวิตของสืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นักวิชาการ และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่ตัดสินใจปลิดชีพตัวเองในวันที่ 1 ก.ย.2533 ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประเทศไทยมีการตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างมาก

คณะอาจารย์และนักศึกษาจาก 16 สถาบัน ได้ร่วมกันจัดงานวันคุ้มครองโลกขึ้น จากนั้นเป็นต้นมาจึงได้มีการรณรงค์อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้คนและหน่วยงานต่าง ๆ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลกระทบอันร้ายแรงจากการกระทำของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและโลกของเรา
22 เมษา "วันคุ้มครองโลก" ร่วมปกป้องสิ่งแวดล้อม ส่งต่อโลกน่าอยู่ให้ลูกหลาน
  เป้าหมายของ "วันคุ้มครองโลก"  
ในการจัดกิจกรรมในวันคุ้มครองโลก ในทุกปีมีเป้าหมายสำคัญ ได้แก่

  • เพื่อลดอัตราการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่อย่างหนาแน่นในบรรยากาศ
  • เพื่อกำจัดคลอโรฟลูออโรคาร์บอนซึ่งเป็นตัวทำลายสภาพโอโซนและก่อให้เกิดการสะสมความร้อนให้หมดสิ้นไป
  • เพื่ออนุรักษ์สภาพป่าที่เหลืออยู่ ทั้งที่เป็นป่าเบญจพรรณและป่าดงดิบ
  • เพื่อห้ามการซื้อ-ขายสิ่งมีชีวิตที่อาจทำให้ภาวะการเจริญพันธุ์ลดลงหรือหมดสิ้นไป
  • เพื่อคงสภาพระดับประชากรไว้ให้อยู่ในสภาพที่สมดุลกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่
  • เพื่อสร้างพลังอำนาจจากองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกให้ร่วมกันปกป้องบรรยากาศ น้ำ และสภาพอื่น ๆ ให้พ้นจากการกระทำที่มิชอบของมนุษย์
  • เพื่อสร้างสำนึกในอันที่จะรักษาโลกไว้ทั้งบุคคล ชุมชนและชาติ

22 เมษา "วันคุ้มครองโลก" ร่วมปกป้องสิ่งแวดล้อม ส่งต่อโลกน่าอยู่ให้ลูกหลาน
สำหรับกิจกรรมต่าง ๆ จะจัดขึ้นเพื่อเรียกร้องให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการอนุรักษ์โลกใบนี้ไว้ อาทิ

  • การร่วมชุมนุมและเดินขบวนเพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และเน้นย้ำเป้าหมายสำคัญในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
  • จัดการประชุมและสัมมนา เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของวันคุ้มครองโลก และเผยแพร่ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม
  • การส่งเสริมการปลูกต้นไม้ทั่วทุกหนทุกแห่ง โดยเฉพาะแถบแอฟริกา เคนยา ไนจีเรีย และนามิเบีย เป็นต้น
  • การอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่เหลืออยู่ในเมือง หมู่บ้าน และภูเขา
  • รณรงค์ให้มีการอนุรักษ์ป่าธรรมชาติเพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า
  • เน้นการคุมกำเนิดเพื่อให้จำนวนประชากรได้คงอยู่ในระดับคงเดิม
  • ให้การศึกษาแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
  • ร่วมกันรักษาความสะอาดและทำความสะอาดบริเวณบ้าน ชุมชน สถานที่ทางธรรมชาติและสถานที่สาธารณะต่าง ๆ

  ช่วยโลกลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร?  
สำหรับสิ่งที่เราสามารถทำได้ เพื่อช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโลกนั้น The Global Goals ระบุมีหลายวิธีที่เราสามารถปฏิบัติได้เพื่อช่วยรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change เช่น

  • ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตและการจัดจำหน่ายเนื้อสัตว์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนมาก
  • ลดการใช้พลาสติก ด้วยการหันมาใช้ขวดและถุงที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมทั้งการคัดแยกขยะ
  • ซื้อสินค้า Fairtrad (แฟร์เทรด) เพื่อช่วยส่งเสริมการพัฒนาระบบการค้าที่เป็นธรรมอย่างยั่งยืน
  • รีไซเคิลกระดาษ และหันมาใช้บริการแบบ Paperless (ไม่ใช้กระดาษ) เพื่อลดเอกสาร เช่น รับใบเสร็จต่าง ๆ ผ่านอีเมลแทนที่จะให้ร้านค้าพิมพ์ใส่กระดาษออกมา
  • สนับสนุนองค์กรหรือหน่วยงานที่มีภารกิจในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยอาจร่วมกิจกรรมหรือบริจาคเงิน

22 เมษา "วันคุ้มครองโลก" ร่วมปกป้องสิ่งแวดล้อม ส่งต่อโลกน่าอยู่ให้ลูกหลาน
ที่มาเนื้อหาและภาพประกอบ :

logoline