จากปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 สะสมในบรรยากาศเป็นเวลานาน ทำให้บางครั้งเราไม่สามารถทำกิจกรรมภายนอกอาคาร กระทบต่อการดำรงชีวิตและสุขภาพอนามัยของประชาชนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งภาครัฐได้กำหนดมาตรการควบคุม ป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2562
สำหรับการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปีก่อนต่อทะเบียนรถยนต์ในช่วงวิกฤตฝุ่น PM2.5 อาทิ รถปิคอัพ รถบัส และรถบรรทุก ซึ่งใช้เครื่องยนต์ดีเซลจะปล่อยควันดำจำนวนมาก เป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 จากแหล่งกำเนิด โดยกำหนดให้มีการตรวจสภาพ 1 ครั้ง/ปี อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี ขึ้นไป (รถยนต์ที่จดทะเบียนก่อน พ.ศ. 2547) จำนวนกว่า 2 ล้านคัน เป็นรถยนต์ในกลุ่มที่มีมาตรฐานและเทคโนโลยีการควบคุมมลพิษเข้มงวดต่ำ โดยเฉพาะรถยนต์ขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลจำพวกรถบัสและรถบรรทุกเป็นรถยนต์ที่มีมาตรฐานการระบายมลพิษระดับ EURO 1 ลงไป ประกอบกับรถยนต์เหล่านี้ถูกใช้งานหนักเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน ทำให้เครื่องยนต์และชิ้นส่วนเกิดการเสื่อมสภาพส่งผลให้ปล่อยมลพิษเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี ขึ้นไป มีสัดส่วนมากกว่าช่วงอายุการใช้งานอื่นๆ ในรถยนต์ประเภทเดียวกัน
นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ฝุ่นละออง PM2.5 เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุและมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับกิจกรรมในแต่ละพื้นที่ สำหรับกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และเมืองใหญ่ที่มีปัญหาการจราจรหนาแน่นและติดขัด จะเป็นสาเหตุหลักของการปล่อยฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งจากการศึกษาการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิดประเภทต่างๆ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบฝุ่นละออง PM2.5 เกิดจาก
โดยภาคการขนส่งทางถนนจะมาจากรถบรรทุกและรถปิคอัพที่ปล่อยฝุ่นละออง PM2.5 สูงถึง 44% และรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี ขึ้นไป จะเป็นกลุ่มที่มีอัตราการปล่อยฝุ่นละออง PM2.5 มากที่สุด
เนื่องจากไม่มีเทคโนโลยีควบคุมหรือลดปริมาณฝุ่นละออง จากสถิติการจดทะเบียนรถยนต์ทั่วประเทศของกรมการขนส่งทางบก รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลจะมีสัดส่วนของรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี สูงที่สุด
“เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในเมืองใหญ่ จึงพิจารณามาตรการเพิ่มความถี่การตรวจสภาพรถยนต์ประจำปีสำหรับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลและมีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี ขึ้นไป จาก 1 ครั้งต่อปี เป็น 2 ครั้งต่อปี หรือทุก 6 เดือน เพื่อให้รถยนต์กลุ่มนี้ได้รับการดูแลบำรุงรักษาที่มากขึ้น เป็นส่วนช่วยในการป้องกัน ควบคุมและลดการเกิดฝุ่นละออง PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศโดยรวม” นางสาวปรีญาพร กล่าวว่า
ทั้งนี้ เพื่อให้มีข้อมูลที่รอบคอบและครบถ้วน กรมควบคุมมลพิษ จึงขอเชิญชวนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการกำหนดให้เพิ่มความถี่ในการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี สำหรับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลและมีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี ขึ้นไป จำนวน 2 ครั้งต่อปี เพื่อใช้ประกอบการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 จากรถยนต์ใช้งานต่อไป ...คิดเห็นเช่นไรกับเรื่องนี้ก็ไปร่วมแสดงแสดงความเห็น กันได้ ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2567