svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

"ไมโครพลาสติก" แทรกซึมในอาหาร-น้ำดื่ม-อากาศ ประเทศไหนครองแชมป์

รวมผลการศึกษาที่บ่งชี้ว่า “ไมโครพลาสติก” แทรกซึมในอาหาร-น้ำดื่ม-อากาศ ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ในระยะยาว

จากการศึกษาที่น่าสนใจซึ่งถูกตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Environmental Science & Technology ได้กล่าวถึงพฤติกรรมการกินของแต่ละประเทศ เทคโนโลยีการแปรรูปอาหาร อายุประชากร และอัตราการหายใจ ว่าปัจจัยทั้งหมดนี้มีส่วนทำให้เกิดความแตกต่างในการทำให้แต่ละประเทศบริโภคไมโครพลาสติกเข้าไป 

โดยผลวิจัยระบุว่าผู้คนในประเทศจีน และมองโกเลีย หายใจเอาอนุภาคไมโครพลาสติกเข้าไปในระดับที่สูงมากอยู่ที่ 2.8 ล้านอนุภาคต่อวัน ขณะที่ผู้คนในสหราชอาณาจักร และไอร์แลนด์ หายใจเอาอนุภาคไมโครพลาสติกเข้าไปประมาณ 7.9 แสนอนุภาคต่อวัน โดยพบว่าในลอนดอน มีปริมาณไมโครพลาสติกในอากาศสูงโดยเฉพาะไมโครไฟเบอร์จากสิ่งทออะคริลิก ผู้อยู่อาศัยในสหรัฐ หายใจเอาอนุภาคไมโครพลาสติกเข้าไปประมาณ 3 แสนอนุภาคต่อวัน (อันดับที่ 6 จาก 10 อันดับ) ขณะที่มีเพียงผู้อยู่อาศัยในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและภูมิภาคใกล้เคียง เช่น สเปน โปรตุเกส และฮังการี  มีการหายใจเอาอนุภาคไมโครพลาสติกเข้าไปน้อยเพียงประมาณ 6 หมื่น-2.4 แสนอนุภาคต่อเดือน

สรุปว่า ประเทศที่สูดฝุ่นไมโครพลาสติกเข้าไปเยอะสุด 3 อันดับแรกได้แก่ จีน มองโกเลีย และสหราชอาณาจักร ส่วนประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ อยู่ในอันดับต้นๆ ของการบริโภคไมโครพลาสติกเข้าไปมากที่สุด ขณะที่ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 11 จากทั้งหมดที่ทำการศึกษา 109 ประเทศ

ไมโครพลาสติก ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่พบทั้งในดิน น้ำ อากาศ ร่างกาย และในอาหาร

“ไมโครพลาสติก” อันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์

ไมโครพลาสติกถูกพบใน “ปอด” ของมนุษย์ “เนื้อเยื่อรก” ของมารดาและทารกในครรภ์ นมแม่ และเลือดของมนุษย์ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่านาโนพลาสติกเป็นมลพิษจากพลาสติกประเภทที่น่าเป็นห่วงที่สุดต่อสุขภาพของมนุษย์

การศึกษาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 พบว่าผู้ที่มีไมโครพลาสติกหรือนาโนพลาสติกในหลอดเลือดแดงที่คอ มีโอกาสเป็นโรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง หรือเสียชีวิตภายใน 3 ปี มากกว่าผู้ที่ไม่มีพลาสติกในร่างกายถึงสองเท่า เนื่องจากอนุภาคขนาดจิ๋วสามารถเข้าไปในเซลล์และเนื้อเยื่อแต่ละส่วนในอวัยวะสำคัญได้ ซึ่งอาจขัดขวางกระบวนการของเซลล์ และสะสมสารเคมีที่รบกวนต่อมไร้ท่อ เช่น บิสฟีนอล พทาเลท สารหน่วงไฟ โพลีฟลูออริเนต (PFAS) และโลหะหนัก โดยสารเหล่านี้แพร่กระจายไปทั่วร่างกาย ทั้งตับ ไต และสมอ

ทั้งนี้ พทาเลทและบิสฟีนอล สามารถขัดขวางการผลิตและการควบคุมฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนอื่นๆ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เป็นโรคมะเร็ง เบาหวาน โรคอ้วน ความผิดปกติของพัฒนาการทางระบบประสาท ตลอดจนเพิ่มความเสี่ยงภาวะมีบุตรยาก และส่งผลต่อความพิการแต่กำเนิด รวมถึงปัญหาสุขภาพอื่นๆ 

“ฟาสต์ฟู้ด-อาหารแปรรูป” มีไมโครพลาสติก?

มีรายงานที่น่าสนใจจาก Consumer Report องค์กรพิทักษ์ผู้บริโภค ที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนมกราคม 2567 ระบุว่าพบ “ไมโครพลาสติก” ปนเปื้อนอยู่ในอาหารเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ Phthalates ที่เป็นสารเคมีที่ทำให้พลาสติกมีความยืดหยุ่นและอ่อนตัว มีความทนทาน ปนเปื้อนอยู่ในอาหารจากซูเปอร์มาร์เก็ตและอาหารฟาสต์ฟู้ด 84 รายการ จากการตรวจอาหาร 85 รายการ

โดยระบุด้วยว่า 79% ของตัวอย่างอาหารมีสารประกอบ “บิสฟีนอล เอ” (bisphenol A) ซึ่งเป็นสารเคมีอีกชนิดหนึ่งที่พบในพลาสติก และบิสฟีนอลอื่นๆ แม้ว่าระดับจะต่ำกว่าการทดสอบในปี 2552 ก็ตาม

แม้ว่าปริมาณ Phthalates ที่พบในอาหารยังไม่ได้อยู่ในระดับที่เป็นอันตรายตามที่หน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐและยุโรปกำหนด แต่ไม่ได้หมายความว่าอาหารที่เรากินอยู่ทุกวันจะปลอดภัย เพราะสารเหล่านี้ไม่ควรอยู่ในอาหารตั้งแต่แรก

 

“พืชผัก-เนื้อสัตว์” มีไมโครพลาสติก?

เพราะมีพลาสติกปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อมทุกที่ในโลก ดังนั้ เมื่อมันแตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ มากพอ ผักและผลไม้สามารถดูดซับไมโครพลาสติกผ่านระบบรากของมัน และถ่ายโอนสารเคมีเหล่านั้นไปยังลำต้น ใบ เมล็ดพืช และผลไม้ของพืช เช่นเดียวกับสัตว์ต่างๆ ที่เผลอกินไมโครพลาสติกเข้าไปโดยที่ไม่รู้ตัว เมื่อพืชและสัตว์เหล่านี้กลายเป็นอาหารของมนุษย์ ก็จะส่งมอบไมโครพลาสติกมาให้มนุษย์ด้วยเช่นกัน

จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ของออสเตรเลีย พบว่า ข้าว 100 กรัม จะมีไมโครพลาสติกปะปนอยู่ประมาณ 3-4 มิลลิกรัม และจะเพิ่มขึ้นเป็น 13 มิลลิกรัม หากเป็นข้าวหุงกึ่งสำเร็จรูป โดยนักวิจัยแนะนำว่าการซาวข้าวก่อนหุงจะช่วยลดการปนเปื้อนพลาสติกได้มากถึง 40% 

ในขณะที่ การศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม พบว่า มีอนุภาคพลาสติกขนาด 10 ไมโครเมตรจำนวน 52,050-233,000 ชิ้น อยู่ในผักและผลไม้หลายชนิด โดยแอปเปิลและแคร์รอตเป็นผักและผลไม้ที่มีการปนเปื้อนมากที่สุด ส่วนผักกาดหอมเป็นผักที่มีการปนเปื้อนน้อยที่สุด

ส่วนการศึกษาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม ที่ทำการศึกษาโปรตีนที่บริโภคมากกว่า 12 ชนิด พบว่า กุ้งชุบเกล็ดขนมปังมีพลาสติกที่มีขนาดเล็กที่สุด ประมาณ 300 ชิ้นต่อมื้อ ตามมาด้วยนักเก็ตจากพืช นักเก็ตไก่ ปลาพอลล็อก ส่วนโปรตีนที่มีการปนเปื้อนน้อยที่สุดคือ “อกไก่”

 

“เครื่องปรุง” มีไมโครพลาสติก?

เครื่องปรุงเองก็มีไมโครพลาสติกปะปนอยู่เช่นกัน จากการศึกษาในปี 2023 พบว่าเกลือสีชมพูหิมาลัยหยาบที่ขุดจากพื้นดินมีไมโครพลาสติกปนเปื้อนมากที่สุด รองลงมาคือ เกลือดำและเกลือทะเล ส่วนการศึกษาอีกชิ้นในปี 2022 ระบุว่า น้ำตาลเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์ได้รับไมโครพลาสติก

 

“อากาศ” มีไมโครพลาสติก?

ไม่เฉพาะแค่ในอาหารเท่านั้นที่มีการปนเปื้อนของไมโครพลาสติก แต่อากาศที่เราใช้หายใจก็ปนเปื้อนด้วย โดยการศึกษาใหม่พบว่าประเทศที่สูดฝุ่นไมโครพลาสติกเข้าไปเยอะสุด 3 อันดับแรกได้แก่ จีน มองโกเลีย และสหราชอาณาจักร ขณะที่ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 11 จากทั้งหมดที่ทำการศึกษา 109 ประเทศ โดยประเมินจากปริมาณพลาสติกที่ผู้คนทั่วโลกกินและหายใจโดยไม่รู้ตัว ซึ่งสิ่งนี้มันเกิดจากการที่เศษพลาสติกที่ไม่ผ่านการย่อยสลายและกระจายตัวออกสู่สิ่งแวดล้อม

ปิดท้ายด้วยวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Chemistry Letters เผยว่า นักวิทยาศาสตร์ได้ปีนภูเขาไฟฟูจิและภูเขาโอยามะ เพื่อรวบรวมน้ำจากหมอกที่ปกคลุมยอดเขา จากนั้นจึงใช้เทคนิคการถ่ายภาพขั้นสูงกับตัวอย่างน้ำที่เก็บมาได้ เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติทางกายภาพและเคมี ซึ่งผลปรากฏว่า ทีมงานตรวจพบโพลีเมอร์ 9 ชนิด และยาง 1 ชนิดในไมโครพลาสติกที่ลอยอยู่ในอากาศ โดยมีขนาดตั้งแต่ 7.1-94.6 ไมโครเมตร

งานวิจัยระบุด้วยว่าน้ำจากก้อนเมฆแต่ละลิตรมีพลาสติกเป็นส่วนประกอบตั้งแต่ 6.7-13.9 ชิ้น ยิ่งไปกว่านั้น ไฮโดรฟิลิก (Hydrophilic) หรือโพลีเมอร์ที่ชอบน้ำนั้นมีอยู่มากมาย บ่งชี้ว่าอนุภาคดังกล่าวมีบทบาทสำคัญต่อการเกิดเมฆ ซึ่งส่งผลกระทบสืบเนื่องต่อระบบภูมิอากาศ