แม้ "คาร์บอน" จะเป็นตัวการทำให้เกิด "ภาวะโลกร้อน" แต่สิ่งหนึ่งที่เราจะลืมไม่ได้คือคาร์บอนเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งมีชีวิต นั่นหมายความว่าเราไม่อาจมุ่งลดและกำจัดคาร์บอนอย่างเดียวได้ แต่เราต้องทำให้มันอยู่ในโลกด้วยความสมดุลตามธรรมชาติ
บนโลกมีระบบนิเวศมากมายที่อยู่ได้ด้วยการซึมซับคาร์บอน แต่ก็มีคาร์บอนส่วนเกินที่มนุษย์สร้างขึ้นมาจนกลายเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ซึ่งระบบนิเวศอิงคาร์บอนที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันมากคือ “Blue Carbon” และ “Green Carbon”
เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน เรามาทำความเข้าใจง่ายๆ สำหรับสองคำนี้กันก่อน ในส่วนของ “Green Carbon” เป็นคาร์บอนที่ดูดซับโดยต้นไม้ ผืนป่า และผืนดินที่ปกคลุมด้วยพืชพันธุ์ ผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช การดูดซับคาร์บอนลักษณะนี้เป็นที่คุ้นเคยของคนทั่วไป เนื่องจากการศึกษาขั้นพื้นฐานสอนให้เรารู้ว่าพืชเจริญเติบโตโดยการสังเคราะห์แสง และมีคาร์บอนไดออกไซด์เป็นปัจจัยหลัก พืชและป่าจึงมีส่วนสำคัญในการหมุนเวียนคาร์บอน ด้วยความที่ Green Carbon อยู่บนผืนดินและกักเก็บคาร์บอนส่วนเกินไว้ในผืนดิน เราจึงเรียกว่า Terrestrial Carbon Sink หรือคาร์บอนซิงค์ภาคพื้นดิน ซึ่งนับว่าผืนป่าเป็นตัวดูดซับ Green Carbon ที่ทรงอานุภาพ
ทว่า อานุภาพของ Green Carbon ยังไม่อาจเทียบได้กับ Blue Carbon หรือคาร์บอนที่ดูดซับโดยระบบนิเวศทางทะเล โดยสิ่งมีชีวิตที่มีบทบาทสำคัญคือ ป่าชายเลน บึงเกลือ หญ้าทะเล และสาหร่ายขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบนิเวศชายทะเล เช่น ป่าชายเลน ที่มีบทบาทอย่างมากในการดูดซับคาร์บอนให้ถูกดึงลงไปในผืนดินใต้ทะเล หรือดินเลนชายฝั่ง และมหาสมุทร คือคาร์บอนซิงค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือเรียกว่า Oceanic Carbon Sink ซึ่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 1 ใน 4 ของที่มนุษย์ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ
สำหรับประเทศไทย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ตั้งเป้าหมายพื้นที่ดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตไว้สำหรับปีที่ผ่านมารวม 31,488 ไร่ และเป็นพื้นที่ในเขต EEC ราว 2,400 ไร่ ด้านประโยชน์ของป่าชายเลนที่มีทั้งความหลากหลายทางชีวภาพ กรองน้ำเสียก่อนไหลลงทะเล หรือทำหน้าเป็นแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทำให้ Blue Carbon จากโครงการป่าชายเลนมีราคาซื้อขายที่สูงเมื่อเทียบกับเครดิตอื่นๆ โดยข้อมูล S&P Platts blue carbon จากป่าชายเลนมีราคาซื้อขายอยู่ที่ 13 – 35 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งสามารถสร้างแรงจูงใจดึงดูดแหล่งเงินทุนใหม่ๆ ในตลาด (Voluntary Carbon Market) สู่เป้าหมาย Net-Zero หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์
Blue Carbon นั้นสำคัญอย่างไร?
คริสเตียน เนลเลมานน์ และคณะนักวิจัยจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า บรรดาคาร์บอนชีวภาพทั้งหมดที่ถูกดูดซับไว้ในโลกมากกว่าครึ่งนั้น (55%) ดูซับไว้โดยคาร์บอนซิงค์ทางทะเล ไม่ใช่คาร์บอนซิงค์ภาคพื้นดิน นี่คือความสำคัญของ Blue Carbon และในบรรดาพื้นที่กักเก็บคาร์บอนทั้งหมดของมหาสมุทรนั้น พื้นที่เติบโตของพืชในทะเลมีอัตราส่วนกักเก็บคาร์บอนกว่า 50% และเป็นไปได้ว่าอาจมากถึง 70% ของคาร์บอนซิงค์ในมหาสมุทร แม้ว่าแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชในมหาสมุทรจะครอบคลุมน้อยกว่า 0.5% ของพื้นที่ก้นทะเลก็ตาม แสดงให้เห็นถึงความสำคัญยิ่งยวดของพืชทะเลที่แม้จะมีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับพืชบกที่กักเก็บ Green Carbon แต่พืชทะเลก็มีความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนสูงกว่า และกักเก็บได้ยาวนานหลายพันปี
การทำหน้าที่และบทบาทของ Blue Carbon
ป่าโกงกาง : โกงกางทั่วโลกคาดว่ามีพื้นที่อยู่ที่ระหว่าง 83,495 - 167,387 ตารางกิโลเมตร และคิดเป็นพื้นที่กักเก็บคาร์บอนถึง 10% ทั่วโลก ปัจจุบันประเทศที่มีป่าโกงกางมากที่สุดในโลกคือ อินโดนีเซีย คิดเป็น 30% ของทั้งโลก และเมื่อรวมผืนป่าโกงกางอินโดนีเซีย บราซิล มาเลเซีย และปาปัวนิวกินี จะมีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนถึง 50%
หญ้าทะเล : แม้ว่าพื้นที่เติบโตของหญ้าทะเล จะมีสัดส่วนเพียง 0.1% ของพื้นที่พื้นมหาสมุทร แต่พวกมันมีอัตราการกักเก็บคาร์บอนในมหาสมุทรทั้งหมด 10-18% หรือคิดเป็นปริมาณถึง 19.9 กิกะตันของคาร์บอนในทะเล โดยปัจจุบันโลกของเรามีพื้นที่หญ้าทะเลอยู่ที่ราว 300,000 - 600,000 ตารางกิโลเมตร
ที่ลุ่มชื้นแฉะริมทะเล : ที่ลุ่มชื้นแฉะริมทะเล หรือบึงน้ำเค็ม มีพื้นที่รวมกันทั่วโลกประมาณ 22,000 - 400,000 ตารางกิโลเมตร และทำให้ที่ลุ่มชื้นแฉะริมทะเลเป็นระบบกักเก็บคาร์บอนชีวภาพธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก โดยระดับความลึกของชั้นดินใต้น้ำกักเก็บคาร์บอนที่มีอายุถึง 5,000 ปี
สาหร่ายทะเล : มีหลักฐานว่าสาหร่ายผลิตสารประกอบที่มีความทนทานสูง และทำให้คาร์บอนชีวภาพอาจกักเก็บอยู่ในตะกอนหรือเคลื่อนย้ายไปยังทะเลลึกและเก็บไว้เป็นเวลานานนับพันปี ดังนั้นการอนุรักษ์พื้นที่การเติบโตของสาหร่ายทะเลตามธรรมชาติ และการเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเล จึงมีส่วนในการบรรเทาและการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แหล่งข้อมูล : กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม / bluecarbonsociety