svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

อิหร่านปล่อยดาวเทียมวิจัยขึ้นสู่วงโคจร เจอตะวันตกวิจารณ์หนัก

อิหร่านปล่อยดาวเทียมเพื่อการวิจัยดวงใหม่ขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จ ซึ่งเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นของการพัฒนาด้านอวกาศ แต่เจอเสียงวิจารณ์และต่อต้านจากชาติตะวันตก

สื่อทางการอิหร่าน รายงานเมื่อวันเสาร์ว่า ดาวเทียมเพื่อการวิจัย “ชามราน-1” (Chamran-1)  ที่มีน้ำหนัก 60 กก. ได้รับการปล่อยขึ้นสู่วงโคจรด้วยจรวดขนส่ง “กาเอม-100” (Ghaem-100) และดาวเทียมสามารถส่งสัญญาณแรกกลับสู่โลกแล้ว

รายงานระบุด้วยว่า ภารกิจหลักของดาวเทียมดวงนี้ คือ การทดสอบอุปกรณ์และระบบซอฟต์แวร์สำหรับเทคโนโลยีการปล่อยสู่วงโคจรทั้งในแง่ความสูงและขั้นตอน และประสบความสำเร็จด้วยดี

จรวดกาเอม-100 ผลิตโดยกองกำลังการบินและอวกาศของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (IRGC) จรวดนี้เป็นจรวดขนส่งดาวเทียมแบบ 3 ท่อน และใช้เชื้อเพลิงแข็งลำแรกของประเทศ จรวดลำนี้เคยใช้ส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรครั้งแรกเหนือพื้นโลก 500 กม. เมื่อเดือนมกราคม

รัฐบาลชาติตะวันตกย้ำเตือนหลายครั้งไม่ให้อิหร่านปล่อยจรวดดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า จรวดชนิดนี้ใช้เทคโนโลยีแบบเดียวกับขีปนาวุธทิ้งตัว ซึ่งสามารถใช้ติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ 

แต่อิหร่านยืนยันมาโดยตลอดว่า ไม่ได้มุ่งพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และการปล่อยจรวดและดาวเทียมล้วนเป็นการใช้ประโยชน์ในทางพลเรือนหรือป้องกันประเทศเท่านั้น และสอดคล้องกับมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

เมื่อเดือนมกราคม อิหร่านปล่อยดาวเทียม “โซเรย์ยา” (Sorayya) ขึ้นสู่วงโคจร ที่ระดับความสูงเหนือพื้นโลก 750 กม. ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดเท่าที่เคยทำได้ และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ รัสเซียช่วยปล่อยดาวเทียมเซนเซอร์และถ่ายภาพระยะไกลของอิหร่านขึ้นสู่วงโคจร ทำให้เผชิญเสียงประณามจากสหรัฐฯ

การปล่อยดาวเทียมล่าสุดมีขึ้นในขณะที่สหรัฐฯ และชาติยุโรป กล่าวหาว่า อิหร่านส่งมอบขีปนาวุธทิ้งตัวให้รัสเซียใช้ทำสงครามในยูเครน แต่อิหร่านปฏิเสธข้อกล่าวหา