svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ผลสอบเครื่องบินสิงคโปร์ ชี้ความสูงลดฉับพลัน ส่งผลมีผู้บาดเจ็บ

สิงคโปร์เผยผลสอบเบื้องต้นเหตุเครื่องบินของสิงคโปร์แอร์ไลน์ตกหลุมอากาศว่า การเปลี่ยนแปลงของขนาดแรงโน้มถ่วงอย่างฉับพลัน และระดับความสูงลดลงอย่างรวดเร็วในเสี้ยววินาที อาจเป็นสาเหตุให้ลูกเรือและผู้โดยสารที่ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

สำนักงานสอบสวนความปลอดภัยด้านการขนส่ง  (TSIB ) ของสิงคโปร์ เผยแพร่รายงานผลการสอบสวนเบื้องต้นในวันพุธเกี่ยวกับเหตุการณ์เครื่องบินโดยสารของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ ที่เดินทางจากกรุงลอนดอนไปสิงคโปร์ ประสบเหตุตกหลุมอากาศเหนือเมียนมา ทำให้ต้องลงจอดฉุกเฉินที่กรุงเทพฯ  โดยอาศัยผลการวิเคราะห์เบื้องต้นด้วยข้อมูลที่ได้จากเครื่องบันทึกข้อมูลการบินและเครื่องบันทึกเสียงในห้องนักบิน

ผลสอบเครื่องบินสิงคโปร์ ชี้ความสูงลดฉับพลัน ส่งผลมีผู้บาดเจ็บ

ชุดสอบสวนของ TSIB พบว่า เครื่องบินโบอิง 777-300ER  เที่ยวบิน SQ321 บินที่ระดับความสูง 37,000 ฟุต ขณะอยู่ทางตอนใต้ของเมียนมา และบริเวณใกล้กันมีพายุกำลังก่อตัว ในช่วงบ่ายวันที่ 21 พฤษภาคม และการตกหลุมอากาศ ทำให้แรงโน้มถ่วง หรือ แรง G เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วง 4.6 วินาที ส่งผลให้ระดับความสูงของการบินลดลงอย่างกะทันหัน 178 ฟุต จากระดับ 37,362 ฟุต เป็น 37,184 ฟุต  ซึ่งทำให้เครื่องบินเกิดแรงสั่นสะเทือนมากพอที่ส่งผลให้ผู้โดยสารและลูกเรือได้รับบาดเจ็บ

ผลสอบเครื่องบินสิงคโปร์ ชี้ความสูงลดฉับพลัน ส่งผลมีผู้บาดเจ็บ

รายงานระบุว่า ในช่วงหนึ่ง แรง G ตกฮวบจาก +1.35g เป็น -1.5g ภายใน 0.6 วินาที ซึ่ง แรง G ที่เป็นค่าลบ จะทำให้คนรู้สึกตัวเบา หรือ ลอยได้ ผู้โดยสารและลูกเรือที่ไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย ก็จะลอยขึ้น และต่อมาแรง G พุ่งขึ้นจาก -1.5g  เป็น +1.5g ภายใน 4 วินาที ทำให้ผู้โดยสารที่ลอยอยู่ร่วงตกลงมา จนได้รับบาดเจ็บ และคนหนึ่งเสียชีวิตเนื่องจากหัวใจวาย

สิงคโปร์แอร์ไลน์ออกแถลงการณ์ยอมรับผลการสอบสวนเบื้องต้นจาก TSIB และบอกว่า จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับทางการในการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า ยังเหลือผู้โดยสาร 26 คนของเที่ยวบิน SQ321 ที่ยังรักษาตัวในกรุงเทพฯ