ในขณะที่นานาชาติกำลังพุ่งความสนใจกับการปฏิบัติการค้นหากู้ภัยเรือดำน้ำไททัน ที่จมหายไปในมหาสมุทรแอตแลนติก นอกชายฝั่งของแคนาดาตั้งแต่วันอาทิตย์ (18 มิถุนายน2566) ระหว่างดำน้ำเพื่อพาผู้โดยสารไปชมซากเรือไททานิก มีรายงานว่า แอรอน นิวแมน นักลงทุนในบริษัทโอเชียนเกต เอ็กซ์พิดิชัน ที่เคยเดินทางไปกับยานดำน้ำไททันเพื่อชมซากเรือไททานิกในปี 2564 เปิดเผยว่า อับเฉา หรือ วัตถุที่ใช้ถ่วงน้ำหนักให้เรือทรงตัวได้ของเรือดำน้ำไททัน ถูกออกแบบให้สามารถปล่อยอับเฉาโดยอัตโนมัติ เพื่อทำให้เรือดำน้ำที่ดำดิ่งลงไปใต้น้ำครบ 24 ชั่วโมงแล้ว สามารถโผล่ขึ้นสู่ผิวน้ำได้
ลูกเรือสามารถปล่อยอับเฉาด้วยการโคลงเรือ หรือ การใช้ตัวปั๊ม แต่หากไม่ได้ผล สายที่รัดอับเฉาไว้ถูกออกแบบให้ขาดออกหลังผ่านไป 24 ชั่วโมง เพื่อให้เรือขึ้นสู่ผิวน้ำโดยอัตโนมัติ
นอกจากนี้ จอช เกตส์ พิธีกรช่องดิสคัฟเวอรี ที่เคยร่วมการทดสอบของเรือดำน้ำไททันในปี 2564 เปิดเผยว่า เขาเพิ่งรู้เมื่อปีที่ล้วว่า มี 4 วิธีในการปล่อยอับเฉาเพื่อให้เรือขึ้นสู่ผิวน้ำในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ได้แก่ ระบบคอมพิวเตอร์, ระบบวาล์ว ที่เปิดปิดด้วยมือ, ระบบไฮโดรลิก และการปลดออกจากแคร่เลื่อนที่ติดกับเรือดำน้ำ
ขณะที่เรือดำน้ำไททัน (Titan) ซึ่งแท้จริงแล้ว คือ ยานใต้น้ำขนาดเล็ก ไม่สามารถขับเคลื่อนได้เอง และต้องมีเรือแม่ โพลาร์ พรินซ์ (Polar Prince) ช่วยลากจูงเรือไปยังจุดหมายก่อนปล่อยให้ยานไททันดำดิ่งลงไป ไททันมีความยาว 6.7 เมตร สามารถรองรับผู้โดยสารรวม 5 คน มีพื้นที่ภายในค่อนข้างจำกัด โดยทั้งหมดต้องนั่ง และมีเพียงคนเดียวที่สามารถยืดขาได้ และยานถูกปิดสนิทจากด้านนอกด้วยน็อต 17 ตัว ทุกคนจึงไม่สามารถออกมาเองได้
ก่อนหน้านี้ยานใต้น้ำไททันเคยได้รับคำเตือนเรื่องความปลอดภัยหลายครั้งจากพนักงานและผู้เชี่ยวชาญ เดวิด ล็อคริดจ์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการทางทะเลของโอเชียนเกต เคยระบุในรายงานด้านวิศวกรรมในปี 2561 แสดงความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของยานดำน้ำไททัน ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ทำให้ถูกไล่ออก และเขายื่นฟ้องบริษัทในปีเดียวกัน แต่มีการไกล่เกลี่ยยุติคดีได้ในปีเดียวกัน
เขาระบุว่า ไททันอยู่ระหว่างการพัฒนาว่าจำเป็นต้องมีการทดสอบเพิ่มเติม และผู้โดยสารอาจได้รับอันตรายเมื่อลงไปยังระดับความลึกที่สุด ในขณะที่บริษัทอ้างว่า ไททันถูกออกแบบให้ดำน้ำได้ลึก 4,000 เมตร แต่ล็อคริดจ์ ระบุว่า หน้าต่างเรือได้รับการรับรองว่า เหมาะสำหรับลงใต้ทะเลลึกเพียง 1,300 เมตร
มีรายงานด้วยว่า อดีตพนักงานอีกคน ของโอเชียนเกต เคยสะท้อนความกังวลเรื่องความหนาของตัวเรือเช่นเดียวกับล็อคริดจ์ โดยพนักงานคนนี้ ระบุว่า ตัวเรือหนาเพียง 5 นิ้ว ทั้งที่วิศวกรบอกเขาว่า ควรหนา 7 นิ้ว
นอกจากนี้สมาคมเทคโนโลยีทางทะเล ซึ่งประกอบด้วยวิศวกรด้านมหาสมุทร นักเทคโนโลยี ผู้กำหนดนโยบาย และนักวิชาการ เคยทำหนังสือเตือนถึงโอเชียนเกตในปี 2561 ว่า จำเป็นต้องมีใบรับรองประเมินความเสี่ยงทางทะเล DNV-GL ซึ่งทั่วโลกมีเรือดำน้ำเพียง 10 ลำ ที่สามารถดำน้ำได้ลึก 12,000 ฟุต (3,657.6 เมตร) หรือมากกว่านั้น และมีใบรับรองดังกล่าว แต่ยานดำน้ำไททันไม่มีใบรับรอง
ในจดหมายระบุว่า สิ่งพิมพ์สำหรับสื่อสารการตลาดของบริษัท มีเนื้อหาโฆษณาว่า การออกแบบของยานดำน้ำไททัน จะได้มาตรฐานหรือเกินมาตรฐานของ DNV-GL แต่สมาคม ระบุว่า ดูเหมือนว่า โอเชียนเกตไม่มีเจตนาจะปฏิบัติตามกฎเพื่อให้ได้ใบรับรอง และการโฆษณาดังกล่าวจึงอาจเป็นการทำให้เข้าใจผิดและละเมิดหลักปฏิบัติในวิชาชีพ
ขณะที่ตามข้อมูลของไททันในเวบไซต์ของโอเชียนเกต ไม่ระบุว่า ไททันมีใบรับรอง DNV-GL หรือไม่