นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 4/2567 และภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 ขยายตัวได้ 3.2% โดยการผลิต และค่าใช้จ่ายปรับตัวดีขึ้นทุกตัว โดยการลงทุนรวมขยายตัว 5.1% โดยภาครัฐขยายตัวได้ 39.4% และการส่งออกสินค้าขยายตัวได้ 8.9% อย่างไรก็ตามการลงทุนภาคเอกชนยังติดลบ 2.1% โดยเมื่อปรับฤดูกาลแล้วเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 เมื่อปรับฤดูกาลแล้วขยายตัว 0.4%
เศรษฐกิจไทยปี 2567 ขยายตัว 2.5% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 2% ในปี 2566 ด้านการใช้จ่าย การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการอุปโภคภาครัฐบาลขยายตัว 4.4% และ 2.5% ตามลำดับ การลงทุนภาครัฐขยายตัว 4.8%
ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนลดลง 1.6% ส่วนมูลค่า การส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ขยายตัว 5.8% ด้านการผลิต สาขาที่พักแรม และบริการ ด้านอาหาร สาขาการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า สาขาการขายส่ง และการขายปลีก และสาขาก่อสร้าง ขยายตัว 9.5% 9.0% 3.8% และ1.3% ตามลำดับ
ขณะที่สาขาการผลิตสินค้า อุตสาหกรรม และสาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง ลดลง 0.5% และ 1.0% ตามลำดับ รวมทั้งปี 2567 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 18.58 ล้านล้านบาท (5.26 แสนล้าน ดอลลาร์ สรอ.) เพิ่มขึ้นจาก 17.95 ล้านล้านบาท (5.15 แสนล้านดอลลาร์ สรอ.) ในปี 2566 ผลิตภัณฑ์ มวลรวมในประเทศต่อหัวของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 264,607.7 บาทต่อคนต่อปี (7,496.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อคน ต่อปี) เพิ่มขึ้นจาก 256,345.4 บาทต่อคนต่อปี (7,363.3 ดอลลาร์ สรอ. ต่อคนต่อปี) ในปี 2566
สำหรับ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.0 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 0.4% และ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 2.3 ของ GDP ทั้งนี้ สศช.ยังคงประมาณการจีดีพีปี 2568 ที่ 2.3 – 3.3% หรือค่ากลาง 2.8%
หนุน กนง.คงดอกเบี้ย เก็บกระสุนนโยบายการเงินรับนโยบายทรัมป์
สำหรับข้อเสนอของภาคเอกชนที่เสนอให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เข้ามาช่วยภาคเศรษฐกิจโดยการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงว่าในขณะนี้ถือว่าเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในภาวะที่ขยายตัวได้ดี ขณะที่รัฐบาลมีการเร่งรัดมาตรการทางเศรษฐกิจ ทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณ และเร่งรัดการลงทุนอยู่ความจำเป็นในการใช้นโยบายการเงินจึงยังไม่มากนัก
ทั้งนี้ในการพิจารณาของ กนง.เชื่อว่าดูข้อมูลทางเศรษฐกิจหลายส่วน รวมทั้งพิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจในระยะต่อไป รวมทั้งปัจจัยเศรษฐกิจ และนโยบายของสหรัฐภายหลังการเข้ามาดำรงตำแหน่งของโดนัลด์ ทรัมป์ ด้วย ซึ่งในขณะนี้ทิศทางเงินเฟ้อของสหรัฐนั้นมีการปรับขึ้นจากนโยบายขึ้นภาษีสินค้านำเข้า และผลักดันแรงงานอพยพออกนอกประเทศ
จึงมีความเป็นไปได้ที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FOMC) อาจจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยได้แทนที่จะลด แล้วหากของไทยเรามีการลดดอกเบี้ยลงก่อน สวนทางกับที่สหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ย ก็อาจส่งผลต่อค่าเงินบาทที่จะอ่อนค่าลงได้เนื่องจากผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยน หากค่าเงินบาทอ่อนลงมากๆ แม้จะมีผลดีกับการส่งออก และการท่องเที่ยว แต่ปัจจัยเรื่องของการนำเข้าโดยเฉพาะการนำเข้าพลังงานจะกระทบต่อไทยอย่างมาก กนง.มีการพิจารณาข้อมูลทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน เชื่อว่าการที่จะคงดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ก่อนเพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าด้วย
สำหรับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2568 รัฐบาลมีวงเงินที่เตรียมไว้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกประมาณ 1.57 แสนล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้คาดว่าจะลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้ภายในครึ่งแรกของปีนี้ ส่วนในครึ่งหลังของปีงบประมาณได้เสนอให้รัฐบาลทำโครงการลงทุนในแหล่งน้ำขนาดเล็ก กระจายการลงทุนไปทั่วประเทศ ซึ่งนอกจากจะได้ประโยชน์ในการทำระบบรองรับน้ำท่วมน้ำแล้งแล้วยังทำให้มีดีมานต์การใช้รถกระบะมากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้จะช่วยให้เกิดการผลิตในอุตสาหกรรมรถยนต์เชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะรถกระบะที่ผู้รับเหมาจะมีการซื้อรถมากขึ้นช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์มีการฟื้นตัวได้ด้วย
ส่วนโครงการที่เสนอนี้จะใช้งบประมาณจากส่วนใดนั้นอาจจะต้องใช้งบกลางรายการสำรองจ่ายฉุกเฉิน และกรณีจำเป็นเร่งด่วน แต่ในส่วนนี้ต้องหารือกับสำนักงบประมาณ และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องถึงความเป็นไปได้ของแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการนี้ว่าหากจะเดินหน้าโครงการในลักษณะนี้จะสามารถใช้งบประมาณจากแหล่งใดได้บ้าง