นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงข่าวผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย (จีดีพี) ไตรมาส 3/2567 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3% โดยรวมเศรษฐกิจไทยใน 9 เดือนที่ผ่านมาขยายตัวได้ 2.3% โดยในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้จากการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวได้ครั้งแรกในรอบ 6 เดือน การส่งออกสินค้า และบริการ และการอุปโภคภาครัฐยังขยายตัวในเกณฑ์สูง การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ 3.4% การใช้จ่ายในภาคบริการขยายตัวได้ 6.5% สาขาก่อสร้างขยายตัวได้ 15.5% การส่งออกสินค้า และบริการขยายตัวถึง 10.5% การนำเข้าสินค้า และบริการขยายตัวได้ 9.6%
สำหรับรายได้ของการท่องเที่ยวในปี 2567 คาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 1.5 ล้านล้านบาท และเพิ่มขึ้นในปีต่อไป เสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทยอัตราว่างงานอยู่ที่ 1.02% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.6% ดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ที่ 2.0 พันล้านดอลลาร์ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ 2.43 แสนล้านดอลลาร์ และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนก.ย.อยู่ที่ 11.63 ล้านล้านบาท 63.3% ของจีดีพี
สศช.คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวได้ 2.6% ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวได้ 1.9% และในปี 2568 จะขยายตัวได้ ในกรอบ 2.3 - 3.3% โดยมีค่ากลางที่ 2.8% โดยในปีหน้าจะมีแรงหนุนจากการลงทุนในเรื่องของเซมิคอนดักเตอร์ แต่ต้องมีการระวังปัจจัยนโยบายที่ไม่แน่นอนจากการเข้ามาของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องเฝ้าระวังความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทั้งต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย
สำหรับการบริหารเศรษฐกิจในปี 2568 จะต้องให้ความสำคัญกับประเด็นต่อไปนี้
1.การขับเคลื่อนการส่งออกให้ขยายตัวต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับมาตรการ การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือผลกระทบจากการยกระดับมาตรการกีดกันการค้าที่รุนแรงขึ้น
2.การปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาด และการใช้นโยบายที่ไม่เป็นธรรม
3.การขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชน เพื่อให้เป็นส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว เร่งรัดการลงทุนในภาคการก่อสร้าง เบิกจ่ายให้เป็นไปตามเป้าหมาย
4.การดูแลเกษตร และสนับสนุนการปรับตัวในภาคการผลิตการเกษตรของเกษตรกร
5.การให้ความช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ที่ประสบปัญหาด้านการเข้าถึงสภาพคล่อง และแก้ปัญหาหนี้สิน
สำหรับผลการเลือกตั้งสหรัฐฯที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพลับรีกัน ชนะการเลือกตั้งและจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯสมัยที่ 2 ว่าหากเปรียบเทียบกับช่วงทีโดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อครั้งก่อนนโยบายที่ออกมาเริ่มกระทบกับเศรษฐกิจโลกตั้งแต่เริ่มประกาศนโยบายในปี 2561 และกระทบกับเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2562 – 2563 โดยกระทบกับเรื่องการค้าและการลงทุนจากนโยบายการกีดกันทางการค้าที่มีมากขึ้น
ทั้งนี้จากนโยบายของทรัมป์ที่ประกาศออกมาว่าจะมีการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนไม่น้อยกว่า 60% จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยมากขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมซึ่งทำให้เศรษฐกิจมีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งปัจจัยจะมาจากความรุนแรงของมาตรการ และช่วงเวลาที่จะมีการบังคับใช้
ซึ่งในช่วงที่ทรัมป์ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนี้ในช่วงต้นปีหน้าก็เป็นไปได้ว่าจะมีการเอามาตรการขึ้นมาบังคับใช้ได้เลยเพราะมีข้อมูลที่เตรียมพร้อมอยู่แล้ว ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้เศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัว โดย สศช.คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2568 จะขยายตัวได้ 3% ขณะที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.3 – 3.3% มีค่ากลางอยู่ที่ 2.8% โดยคาดว่าการส่งออกจะชะลอตัวลงจากปีนี้จาก 3.8% เหลือ 2.6%
ทั้งนี้จากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ที่จะส่งผลต่อการค้าและอัตราแลกเปลี่ยน สศช.แนะนำให้ผู้ส่งออก และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องควรมีการทำประกันความเสี่ยงอัตราค่าเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงธุรกิจ
“จากความเสี่ยงธุรกิจที่เพิ่มขึ้นนั้นในปีหน้าเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจึงต้องดูช่วงเวลาที่เหมาะสม และทำแบบพุ่งเป้ามากขึ้น ขณะเดียวกันต้องดูในเรื่องของมาตรการลงทุน และเร่งรัดการลงทุนของภาครัฐที่จะช่วยพยุงและลดความเสี่ยงและแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยด้วย”
ทั้งนี้ สศช.ยังเสนอแนะแนวทางบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้และปี 2568 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลก และภาคการส่งออกดังนี้
1.การขับเคลื่อนภาคการส่งออกให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือผลกระทบจากการยกระดับมาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น
โดย
1)การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดโลกเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้า ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการรักษาแรงส่งในกลุ่มสินค้าส่งออกหลักที่ขยายตัวได้ดีและมีศักยภาพ อาทิ กลุ่มอาหารและเกษตรแปรรูป สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม ให้ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเร่งรัดการส่งออกไปยังตลาดที่ยังมีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเกณฑ์ดี และการสร้างตลาดใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และอาเซียน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการเร่งรัดแก้ไขปัญหาการค้าชายแดนเพื่อเชื่อมโยงกลุ่มประเทศ CLMV
2)การติดตามและประเมินสถานการณ์การดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าที่จะมีผลต่อการส่งออกของไทยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าเพื่อเตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ควบคู่ไปกับการเร่งรัดมาตรการส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้าในระยะต่อไป
3)การปฏิบัติตามกรอบกติกาการค้าโลก รวมทั้งข้อกำหนดและแนวทางการปฏิบัติในประเทศคู่ค้า ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ความตกลงทางการค้าเสรี (FTA) ที่มีอยู่ให้มากขึ้น รวมทั้งเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และเตรียมศึกษาเพื่อเจรจากับประเทศคู่ค้าสำคัญใหม่ ๆ พร้อมทั้งการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences: GSP) และการใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)
4)การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกโดยมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมีมูลค่าสูงให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดสำคัญ ๆ รวมทั้งได้มาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาดและข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้าเพื่อสามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางในประเทศให้มีความพร้อมในการรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และสามารถเชื่อมโยงสินค้าที่ผลิตได้ภายในประเทศกับห่วงโซ่การผลิตโลกได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ควรให้ผู้ประกอบการสินค้าที่มีสัญญาณการลดลงของความต้องการในตลาดโลกและมีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำต่อเนื่องพิจารณาทบทวนและปรับเปลี่ยนแผนการผลิตและการส่งออกสินค้า
และ 5)การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก