svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

หนี้นอกระบบพุ่ง สวนทางหนี้ครัวเรือนลดต่ำ 90% หลังแบงก์เข้มปล่อยกู้

สภาพัฒน์ เปิดสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไตรมาส 2 ปี 2567 ลดเหลือ 89.6% ลดต่ำ 90% ครั้งแรกรอบ 3 ปีครึ่ง แต่ห่วงแนวโน้มรายจ่ายครัวเรือนตึงตัว ผิดชำระหนี้สูง จับตาแบงก์เข้มปล่อยกู้ กดดันพึ่งหนี้นอกระบบ พบข้อมูลหนี้นอกระบบแตะ 6.7 หมื่นล้าน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 2567 เรื่องสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย โดยระบุว่าหนี้สินครัวเรือนไตรมาส 2 ปี 2567 ขยายตัวอัตราชะลอลง โดยมีมูลค่า 16.32 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.3% ลดลงจากระดับ 2.3% ของไตรมาสก่อนหน้า ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลดลงจาก 90.7% มาอยู่ที่ 89.6%

ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีย้อนหลังพบสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีไตรมาส 2 ปี 2567 ลดเหลือ 89.6% ลดลงต่ำกว่าสัดส่วน 90% ต่อจีดีพี เป็นครั้งแรกรอบ 15 ไตรมาส หรือ 3 ปีครึ่ง นับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2563 ซึ่งขณะนั้นสัดส่วนอยู่ที่ 91.2%

นอกจากนี้ แม้หนี้ครัวเรือนจะลดต่ำสุดนับแต่เกิดโควิด-19 แต่เป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบประเทศอื่นในเอเชีย ส่วนหนึ่งมาจากภาระหนี้ที่สูงประกอบกับคุณภาพสินเชื่อลดลงต่อเนื่อง ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น สะท้อนจากเงินให้กู้แก่ภาคครัวเรือนของธนาคารพาณิชย์ที่มีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 หรือ 38.5% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมดหดตัวเป็นครั้งแรกที่ 1.2%
 

หนี้นอกระบบพุ่ง สวนทางหนี้ครัวเรือนลดต่ำ 90% หลังแบงก์เข้มปล่อยกู้

“เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส ต้องดูว่าหนี้ครัวเรือนลดแล้วหรือยัง ถ้าดูตัวเลขไตรมาส 2 ปีนี้ หนี้ครัวเรือนลดลงมาก ขณะที่เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ดีขึ้น ถ้ารักษาช่องการขยายตัวให้ชะลอลงเรื่อย ๆ ได้ คงทำให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนดีขึ้น" นายดนุชา กล่าว

ขณะที่ ความสามารถการชำระหนี้ของครัวเรือนลดลงต่อเนื่อง จากข้อมูลบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ไตรมาส 2 ปี 2567 ยอดคงค้างสินเชื่อบุคคลที่ค้างชำระเกิน 90 วันขึ้นไป (NPLs) มีจำนวนบัญชี 9.6 ล้านบัญชี มูลค่า 1.16 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวม 8.48% เพิ่มขึ้นจาก 8.01% ของไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นในสินเชื่อทุกวัตถุประสงค์

สำหรับ NPLs ที่เกิดขึ้นของครัวเรือนส่วนใหญ่กว่า 71% อยู่ที่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) และเมื่อพิจารณาการขยายตัวของ NPLs ที่เพิ่มขึ้น 12.2% พบว่ามีสาเหตุการขยายตัวมาจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก

รวมทั้งเมื่อพิจารณาสินเชื่อที่ค้างชำระ 30-90 วัน (SMLs) มีมูลค่า 5 แสนล้านบาท หรือมีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวม 3.66% ลดลงจาก 4.72% ของไตรมาสก่อนหน้า แต่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังเป็นสินเชื่อประเภทเดียวที่มีสัดส่วนหนี้ SMLs ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น

นายดนุชา กล่าวว่า ต้องติดตามแนวโน้มการก่อหนี้กลุ่มสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น โดยเป็นหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตราผิดนัดชำระสูง ซึ่งหากครัวเรือนไม่ระวังก่อหนี้หรือไม่มีวินัยการเงินจะติดกับดักหนี้ 

ทั้งนี้ แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แก้ปัญหาผ่านมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม แต่สัดส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด และมีสัดส่วนของมูลค่าหนี้เสียสูงสุดเมื่อเทียบหนี้ครัวเรือนอื่น

หนี้นอกระบบพุ่ง สวนทางหนี้ครัวเรือนลดต่ำ 90% หลังแบงก์เข้มปล่อยกู้

รวมทั้งต้องติดตามความเสี่ยงจากการต้องหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบของครัวเรือน จากสถานการณ์คุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง รวมถึงมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่เข้มงวดต่อเนื่องและมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้น เริ่มกระทบการเข้าถึงสินเชื่อลูกหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้ที่กู้ในระบบเต็มวงเงินแล้วทำให้ไม่เหลือทางเลือกจนต้องพึ่งหนี้นอกระบบ

ทั้งนี้ การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) ปี 2566 พบว่า ครัวเรือนไทยก่อหนี้นอกระบบมูลค่า 6.7 หมื่นล้านบาท และส่วนใหญ่ 47.5% ก่อหนี้เพื่อใช้จ่ายอุปโภคบริโภค โดยสะท้อนปัญหาขาดสภาพคล่องของครัวเรือน 

สำหรับการก่อหนี้นอกระบบจะทำให้ลูกหนี้เสี่ยงตกอยู่ในวังวนหนี้สินไม่รู้จบ ทั้งจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินกฎหมายกำหนด ซึ่งบางครั้งสูงถึง 20% ต่อเดือน หรือ 240% ต่อปี หรือการถูกโกงจากสัญญาที่ไม่ชัดเจน หรือใช้วิธีการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายและรุนแรง

ขณะที่ ผลกระทบของอุทกภัยต่อสภาพคล่องและความสามารถการชำระหนี้ของครัวเรือน จากสถานการณ์อุทกภัยวงกว้างมีผู้ประสบภัยกว่า 3.3 แสนครัวเรือน คิดเป็นความเสียหายต่อเศรษฐกิจถึง 4.65 หมื่นล้านบาท ทำให้ครัวเรือนมีปัญหาสภาพคล่องจากรายได้ที่ลดลง และอาจนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้

ส่วนแนวทางการดูแลสถานการณ์หนี้ครัวเรือนให้ดีขึ้นต้องมีมาตรการช่วยเหลือ โดยเฉพาะหนี้ที่เกี่ยวกับความมั่นคงในชีวิต เช่น หนี้บ้าน หรือหนี้รถยนต์ หรือหนี้ธุรกิจ 

หนี้นอกระบบพุ่ง สวนทางหนี้ครัวเรือนลดต่ำ 90% หลังแบงก์เข้มปล่อยกู้

ขณะที่ แนวทางการลดอัตราเงินนำส่งเงินสมทบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ต้องรอแนวทางที่ชัดเจนว่าจะมีรูปแบบใด แต่ สศช.มองว่าจะเป็นช่องทางหนึ่งช่วยแก้ปัญหาได้

“การใช้เงินจาก FIDF ลดภาระดอกเบี้ยให้ผู้เป็นหนี้เสียถือว่าจำเป็นเพราะการคลังมีข้อจำกัด แม้ทำให้ชำระหนี้ช้าลงบ้าง ส่วนจะได้ผลแค่ไหนต้องประเมินเมื่อโครงการบังคับใช้ แต่สิ่งที่เอามาใช้จากส่วนนี้ถือเป็นการเอาทรัพยากรทางการเงินมาใช้ แม้ไม่ใช้งบประมาณแต่ต้องดูให้รอบคอบตรงเป้าในกลุ่มที่จำเป็นเลือกกลุ่มที่มีโอกาสรอดได้เพื่อให้มาตรการบรรลุผล” นายดนุชา กล่าว