พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หารือนอกรอบกับ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า การหารือร่วมกันวันนี้ ประเด็นมีทั้งประเด็น หนี้ครัวเรือน , ดอกเบี้ยนโยบาย , ค่าเงินบาท รวมถึงเงินเฟ้อ โดยประเด็นหลักการแก้หนี้ครัวเรือนในส่วนผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) และธนาคารพาณิชย์ เพราะแบงก์รัฐได้มีการดำเนินการไปแล้วโดยวิธีการแก้หนี้ครัวเรือน คือการทำให้คนที่ยังมีโอกาส สามารถไปต่อได้ ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้
อีกส่วน คือ กลุ่มเปราะบาง ที่มีการค้างชำระหนี้ และเป็นหนี้เสียแล้ว ซึ่งมีราว 7-8 แสนบัญชี ที่ยังมีปัญหาในการชำระหนี้ ดังนั้นก็เป็นกลุ่มที่ต้องเข้าไปดูแล ส่วนรายละเอียดจะทำอย่างไร ยังต้องติดตามต่อไป เพราะมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ที่จำเป็นต้องร่วมมือระหว่างสถาบันการเงิน กระทรวงการคลัง และธปท. ที่จะเข้ามาดูแลส่วนนี้
ส่วนจะเป็นการแฮร์คัตหนี้ (hair cut) หรือไม่นั้น หลักการคือ จะไม่ได้ไปลดหนี้โดยไม่มีเหตุผล เพราะจะทำให้เกิดพฤติกรรมผิดนัดชำระหนี้ หรือ Moral Hazard ซึ่งแนวทางในการแก้หนี้เหล่านี้ มองว่าเป็นโครงสร้างที่สามารถเป็นไปได้ ที่จะช่วยให้หนี้ครัวเรือนลดลงได้
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การแก้หนี้ครัวเรือน แก้หนี้ค้างชำระของประชาชนในปัจจุบัน เป็นปัญหาที่แก้ยากกว่าอดีต หากเทียบกับวิกฤติปี 2540 เนื่องจากปี 2540 มีผู้ที่เจอปัญหาคือผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงไม่มีกี่ราย การแก้หนี้จึงไม่ยากมากนัก แต่ปัจจุบัน มีผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นการแก้หนี้รายย่อยยากกว่ามาก
ทั้งนี้ มองว่า การลดดอกเบี้ย ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถทำได้ แต่ก็เชื่อว่า ธปท.น่าจะมีเครื่องมืออื่นมากกว่านั้น และปัจจุบันพบว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ ปัญหาสภาพคล่อง แต่ปัญหามาจากผู้ปล่อยสินเชื่อที่มีความกังวล และไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ ดังนั้น การเข้าถึงสินเชื่อไม่ได้มาจากปัญหาสภาพคล่อง เพราะวันนี้สภาพคล่องมีอยู่ในระบบค่อนข้างมาก ซึ่งเหล่านี้ ถือเป็นภาพที่เห็นในทิศทางเดียวกันกับ ธปท.
อย่างไรก็ตาม การแก้หนี้ครัวเรือนจะแก้ด้วยโมเดลเดียวกันกับการแก้หนี้ของลูกหนี้แบงก์รัฐหรือไม่ มองว่า การแก้หนี้มีหลายเครื่องมือ โดยหากไม่ไปลดหนี้ ทางที่ดีที่สุดคือ การลดภาระหนี้ โดยการยืดระยะเวลาการชำระหนี้ให้ยาวออกไปที่น่าจะเป็นเครื่องมือที่สามารถทำได้หรือไม่ รวมถึงไปดูว่าจะลดดอกเบี้ยได้หรือไม่ ดังนั้น เครื่องมือใหญ่ๆ มี 2-3 เครื่องมือที่สามารถทำได้
สำหรับ การหารือด้านดอกเบี้ยนโยบาย มีการหารือกันหลายประเด็น ทั้งการประชุมกนง. ที่จะถึงวันที่ 16 ต.ค.นี้ รวมถึงการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ยุโรป และการออกมาตรการทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจีน ที่มีผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศต่างๆ ที่ทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้ามาในประเทศต่างๆ ร่วมถึงประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม มองว่า การลดดอกเบี้ยลง ก็เป็นผลดีกับผู้กู้ใหม่ กับคนที่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ และยังมีผลดีตามมาคือ ทำให้ต้นทุนทางการเงินผ่านตลาดเงิน หรือบอนด์ยีลด์ ปรับตัวลดลงแม้จะไม่มากนัก ที่ช่วยลดภาระทางการเงินลดลงได้
สำหรับความเห็นต่างระหว่าง ธปท.และกระทรวงการคลัง ทั้ง 2 ฝ่าย เข้าใจกันดีเพราะมีหลายมุมที่มองด้านเดียวกัน แต่การแก้ปัญหาต้องมีความเห็นหรือผลกระทบด้านอื่น แม้กระทั่งความเห็นเกี่ยวกับดอกเบี้ยที่ลดลง กับการมีสภาพคล่องเพื่อให้คนมีโอกาสกลับมาฟื้นตัวได้ ที่ส่วนตัวมองว่า การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า เพราะหากลดดอกเบี้ย หากลดเป็นหลักเบสิกพอยต์ ก็อาจมีผลไม่มาก ขณะที่การพิจารณาดอกเบี้ย หาก กนง.ไม่ลดดอกเบี้ยก็ต้องมีเหตุผลว่าเหตุใดไม่ลด หรือลดดอกเบี้ยก็ต้องชี้แจ้งเหตุผลได้
ทั้งนี้ แม้ดอกเบี้ยจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถทำได้ แต่เชื่อว่า ธปท.น่าจะมีหลายเครื่องมือมากกว่านั้น โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาด้านการเข้าถึงสภาพคล่อง เพราะปัญหาที่เห็นตรงกันกับแบงก์ชาติ คือ สภาพคล่องในระบบมีจำนวนมาก ดังนั้นการเข้าถึงสินเชื่อไม่ได้ ไม่ได้มาจากด้านสภาพคล่อง แต่มาจากผู้ปล่อยสินเชื่อที่มีความกังวลและไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ
นอกจากนี้ ยังแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันเกี่ยวกับค่าเงินบาท โดยยอมรับว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทไม่มีใครสามารถคาดการณ์ทิศทางของเงินบาทได้ ดังนั้นต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิด แต่ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา เชื่อว่า ยังสามารถดูแลค่าเงินบาทได้
รวมทั้งค่าเงินบาทที่มีผลกระทบต่อภาคการส่งออกนั้น มองว่า ต้องมาวิเคราะห์กันต่อว่าเป็นอย่างไร แต่เบื้องต้นมองว่า ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการส่งออกในเชิงปริมาณ และส่วนตัวมองว่า การท่องเที่ยว และการส่งออกจะกลับมาเติบโตดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไปจะมีการหารือร่วมกันกับแบงก์ชาติอีกครั้งภายในเดือนนี้ โดยเฉพาะการหารือกรอบเงินเฟ้อ โดยมองว่าเงินเฟ้อในไตรมาส 4 ปีนี้ น่าจะอยู่ที่ราว 1% ดังนั้นหากรวมทั้งปีแล้วเงินเฟ้อไม่น่าจะถึงเป้าหมายที่ 1-3%ตามกรอบเงินเฟ้อ ดังนั้นประเด็นที่หารือกันคือ เมื่อเงินเฟ้อหลุดกรอบแล้วจะทำอย่างไร ที่จะเป็นประเด็นหลักในการหารือกัน และทำความเข้าใจกัน