นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน หรือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง และแข็งค่ารวดเร็ว ส่วนหนึ่งมาจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ หลังตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐที่ออกมาเริ่มชะลอตัว และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่าตลาดคาดไว้ที่ 0.50% รวมถึง เงินเยนที่แข็งค่าขึ้น หลังเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงิน ส่งผลให้ตลาดประเมินว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในระยะถัดไป รวมถึงการแข็งค่าของเงินหยวน จากการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่หนุนเซ็นติเมนต์ของนักลงทุนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เงินหยวนแข็งค่า และดึงให้ค่าเงินบาทและภูมิภาคปรับตัวแข็งค่าขึ้น
ทั้งนี้ ธปท. ได้เข้าไปติดตามสถานการณ์เงินบาทอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะช่วงที่มีความผันผวนสูง เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยการเข้าไปดูแลเงินบาท สะท้อนผ่านทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ทุนสำรองที่เพิ่มขึ้นก็มาจากหลายส่วน ส่วนหนึ่งจากดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง ทำให้การตีราคาสินทรัพย์ใน (Valuation) ในทุนสำรองปรับเพิ่มขึ้นด้วย ที่เป็นส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการเข้าไปดูแลค่าเงินบาทของ ธปท.
ค่าเงินบาทเราไม่ได้แข็งค่าสุด มาเลเซียวันนี้แข็งค่า 11% แต่เราก็อยู่อันดับสอง อันดับสาม แต่ยังอยู่สูงกว่าคนอื่นๆ และเรามีปัจจัยเฉพาะตัวด้วยจากเสถียรภาพรัฐบาลที่ดีขึ้น จากการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เริ่มเข้ามาแล้ว ส่งผลให้เซ็นติเมนต์ในตลาดหุ้นต่างๆ ดีขึ้น รวมถึงทองคำที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ธปท. เข้าไปดูแลในด้านอัตราแลกเปลี่ยนคือ การทำงานของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะเวลาที่มีปัจจัยเปลี่ยนแปลงจากภายนอกเข้ามากระทบค่อนข้างมาก ทำให้ด้านเสถียรภาพด้านราคาปรับตัวค่อนข้างมากและค่อนข้างแรง และมีผลทำให้เงินบาทผันผวนสูง ดังนั้น สิ่งที่ธปท. ติดตามคือ ทั้งการเปลี่ยนแปลงของราคา การทำธุรกรรมต่างๆ ว่ามีส่วนทำให้ดีมานด์ซัพพลายยังทำงานปกติหรือไม่ หากผันผวนผิดปกติธปท. ก็เข้าไปดูแล
สำหรับการแข็งค่าของค่าเงินบาท ที่มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจ มองว่าต้องมองเป็น 2 มุม หากเป็นผู้ส่งออกก็อาจเสียประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาท แต่อีกด้านสำหรับผู้นำเข้าก็สามารถซื้อสินค้าในราคาที่ต่ำลงได้ และได้รับผลกระทบน้อยกว่ากลุ่มแรก แต่กลุ่มที่กระทบมากที่สุดคือ Import Content ไม่มาก เช่น กลุ่มสินค้าเกษตร
ขณะเดียวกัน ในด้านนักท่องเที่ยว อาจได้รับผลกระทบบ้าง กรณีที่เดินทางเข้ามาแล้ว อาจมีการลดการใช้จ่ายลง แต่ยังไม่กระทบต่อแผนการเดินทางมาท่องเที่ยวไทย เพราะจองการเดินทางล่วงหน้า ทั้งนี้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เข้าไทยในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจีน มาเลเซีย ที่มีค่าเงินแข็งค่ากว่าไทย ดังนั้นจึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก