ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ระบุ จากกรณีธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.5% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ไม่น้อยแต่เป็นระดับที่ตลาดรับรู้และคาดการณ์ไปแล้วระดับหนึ่ง การลดดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นการสะท้อนว่าเฟดเพิ่มน้ำหนักในการดูแลเศรษฐกิจและการจ้างงาน ลดน้ำหนักเรื่องเงินเฟ้อลง ในแง่การชะลอตัวเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะชะลอตัวไม่รุนแรง (Soft Landing) มากขึ้น โอกาสที่จะ Hard Landing น้อยลง
ทั้งนี้ เมื่อเฟดลดดอกเบี้ยไม่ได้เป็นเหตุผลหลักที่ไทยจะต้องปรับลดตาม ซึ่งหากถามว่าการลดดอกเบี้ยของเฟด มีผลต่อกดดันต่อการลดดอกเบี้ยของ กนง.หรือไม่นั้น การที่เฟดลดดอกเบี้ยหรือไม่ลดดอกเบี้ยแรงกดดันต่อ กนง.มีอยู่แล้ว เพราะถือเป็นตัวแปรหนึ่งที่ กนง.ต้องนำมาพิจารณาในการดำเนินนโยบายการเงิน เนื่องจากการที่เฟดลดดอกเบี้ย กระทบต่อภาพรวม ตัวแปรต่าง ๆ ที่ต้องคำนึงถึงในการพิจารณาดอกเบี้ย
ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินของไทยจะเน้นภายในประเทศเป็นหลัก 3 ปัจจัยหลักคือ แนวโน้มเศรษฐกิจจะเข้าสู่ศักยภาพหรือไม่ อัตราเงินเฟ้อจะเข้ากรอบเป้าหมายหรือไม่และเสถียรภาพการเงิน ซึ่งทั้ง 3 ปัจจัยยังไม่เห็นอะไรที่เปลี่ยนไปจากประเมิน ยกเว้นเสถียรภาพการเงินที่เห็นว่า Credit Risk สูงขึ้น ทำให้สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ชะลอตัวส่งผลให้สภาพคล่องในระบบตึงตัวขึ้น
ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ครั้งต่อไปยังเป็นไปตามกำหนดเดิม คือ วันที่ 16 ต.ค. 2567 แต่หากมองว่ามีความจำเป็นที่ต้องประชุมเป็นพิเศษก็สามารถทำได้
สำหรับสถานการณ์ค่าเงินบาทของไทย ยอมรับว่าแข็งค่าขึ้นจากดอลลาร์ที่อ่อนค่า รวมถึงราคาทองคำที่ All Time Hight เนื่องจากไทยเป็นสกุลเงินที่เคลื่อนไหวและสัมพันธ์กับทองค่อนข้างสูง ส่งผลให้เป็นอีกปัจจัยที่ซ้ำเติมต่อค่าเงินบาทของไทย ค่าเงินบาทที่ผันผวนสูงและเร็วจากการคาดการณ์การดำเนินนโยบายของเฟด ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันบาทแข็งค่าขึ้น 3.1% มาจากดอลลาร์ที่อ่อนค่า เฟดลดดอกเบี้ย ซึ่งเป็นการปรับตามกลไกตลาด แต่สิ่งที่ธปท.ไม่อยากเห็นคือ สิ่งที่ทำให้เกิดความผันผวนและไม่สะท้อนปัจจัยพื้นฐาน เช่น การเก็งกำไร เงินร้อนที่เข้ามา ซึ่งปัจจุบันยังไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ แต่ธปท.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด