กำลังอยู่ในความสนใจ และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก สำหรับกรณีข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลเพื่อไทย กับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนปัจจุบัน “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566
โดยนายกรัฐมนตรี "เศรษฐา ทวีสิน" ออกมาแสดงความเห็นถึงอัตราดอกเบี้ยของไทยที่อยู่ในระดับสูง และคาดหวังแนวทางการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของแบงก์ชาติจะปรับลดลงให้สอดคล้องสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ
“เศรษฐา” เชิญผู้ว่าฯแบงก์ชาติ หารือนโยบายการเงินการคลัง ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 2 ต.ค.2566
จนมาล่าสุดปมร้อนดังกล่าวร้อนแรงขึ้นอีก เมื่อหัวหน้าพรรคเพื่อไทย "อุ๊งอิ๊งค์" แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นเวทีแสดงวิสัยทัศน์ในงาน "10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10" ซึ่งกล่าวทำนองต่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ "แบงก์ชาติ" เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
ทำให้ประเด็นการ “ปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติ” ถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง เมื่อมีแนวโน้มนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจการลงทุนของรัฐบาล และนโยบายทางการเงินของแบงก์ชาติสวนทางกัน
แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย
“ปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติ” ได้ แต่ต้องมีเหตุผล
ถามว่ารัฐบาลมีอำนาจในการสั่ง “ปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติ” หรือไม่ ตาม พ.ร.บ. ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ฉบับปรับปรุงล่าสุด 2551 ระบุไว้ในมาตรา 28/19 (4)ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติได้ แต่จะต้องมีเหตุผลในการสั่งปลด และมีข้อพิสูจน์ว่ามีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง หรือทุจริตต่อหน้าที่
นอกจากนี้ยังมีมาตรา 28/19 (5) มีบทบัญญัติว่า (5)ให้อำนาจคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย สามารถเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง เสนอคณะรัฐมนตรี สั่งปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติได้อีกทางด้วย หากกรณีมีข้อพิสูจน์และหลักฐานว่าผู้ว่ามีความผิดบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ