svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เชียงใหม่ทำให้ตระกูลชินวัตรมั่งคั่งได้อย่างไร?

เชียงใหม่ทำให้ตระกูลชินวัตรมั่งคั่งได้อย่างไร?
14 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> NationTV
logoline

วันที่ 14 มีนาคม 2567 คือครั้งแรกในรอบ 17 ปี ที่ ทักษิณ ชินวัตร ได้มีโอกาสกลับไปเยือนเชียงใหม่ บ้านเกิดที่เขาเติบโตและถิ่นฐานที่ตระกูลชินวัตรเริ่มสร้างความมั่งคั่ง ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดที่เรียกได้ว่าเป็นเศรษฐี ตอนนี้ก็นับเป็นเวลากว่า 100 ปี รวมเป็นทายาททั้งหมด 6 รุ่น

การเดินทางไปเชียงใหม่ของ 'ทักษิณ ชินวัตร' อดีตนายกรัฐมนตรี ระหว่าง 14-16 มีนาคม  หลายฝ่ายอาจโฟกัสไปที่แง่มุมทางการเมืองเป็นสำคัญ เช่น การกลับไปกอบกู้เชียงใหม่ให้กลับมาเป็นของพรรคเพื่อไทย หลังจากต้องเสียเก้าอี้ ส.ส. ให้กับพรรคก้าวไกลไปถึง 7 ที่นั่ง จากทั้งหมด 10 ที่นั่ง หรือ การพบกับกลุ่มคนเสื้อแดง เพื่อรื้อฟื้นความหลังเมื่อวันวาน

ทักษิณ ชินวัตร กลับเชียงใหม่ 14 มีนาคม 2567. ภาพจาก Nation STORY ทักษิณ ชินวัตร กลับเชียงใหม่ 14 มีนาคม 2567. ภาพจาก Nation STORY

แต่ในส่วนตัวแล้วมองว่าการกลับเชียงใหม่ของ 'ทักษิณ' มีอีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ ประวัติศาสตร์การเริ่มสร้างความมั่งคั่งของครอบครัวชินวัตรที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งบางคนอาจมองเห็นความเป็นอภิมหาเศรษฐีของตระกูลนี้จากธุรกิจโทรคมนาคม

'ครอบครัวชินวัตร' ถ้านับถึงปัจจุบันที่ทักษิณมีฐานะเป็นอากง อุ้มหลาน 7 คนแล้ว จะมีทั้งสิ้นถึง 6 รุ่นเลยทีเดียว ธุรกิจแรกเริ่มของตระกูลนี้ไม่ได้เริ่มต้นที่เชียงใหม่ เนื่องจากทวดของทักษิณ คือ 'คูชุนเส็ง' ชาวจีนอพยพมาที่จังหวัดจันทบุรี ได้ทำอาชีพเป็นนายอากรบ่อนเบี้ยที่จังหวัดดังกล่าวตั้งแต่เมื่อปี 2451 หรือในสมัยรัชกาลที่ 5 และสมรสกับ 'ทองดี' คนไทย (ย่าทวดของทักษิณ) มีลูกชาย 'เชียง ชินวัตร' (ปู่ของทักษิณ) 
 

ต่อมาทวดของทักษิณได้เริ่มขยับขยายโอกาสในการประกอบธุรกิจที่เชียงใหม่ด้วยการได้รับความช่วยเหลือจากหลวงนิกรจีนกิจ เพื่อให้ไปประมูลอากรบ่อนเบี้ยที่อำเภอแม่ริม อำเภอสันทราย และอำเภอดอยสะเก็ด แต่ธุรกิจการเก็บอากรก็มาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อย่าทวดของทักษิณถูกยิงระหว่างไปเก็บอากร ทำให้ต้องเปลี่ยนมาค้าขายม้าและวัวที่ใช้สำหรับบรรทุกสัมภาระแทนที่สันกำแพง ซื้อไหมดิบจากเมียนมาและจีน เพื่อนำมาจ้างชาวบ้านทอเป็นโสร่งกับซิ่นไหมกลับไปขายเมียนมา

การประกอบธุรกิจของครอบครัวชินวัตร ดำเนินไปพร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะคนรุ่นที่ 2 ของตระกูล นำโดย 'เชียง ชินวัตร' ภายหลังเส้นทางรถไฟสายเหนือจากกรุงเทพถึงเชียงใหม่ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2464 ทำให้ธุรกิจของครอบครัวต้องปรับตัวครั้งใหญ่ การค้าวัวและม้าหรือการซื้อขายสินค้าตามแนวชายแดนที่เคยทำมาตลอดถูกแทนที่ด้วยการนำเข้าสินค้ามาจากกรุงเทพแทน เช่น การนำน้ำตาล เกลือ น้ำมัน จากกรุงเทพไปขายในพื้นที่ห่างไกลอย่างอำเภอฝาง รวมไปถึงการนำแบบเสื้อจากกรุงเทพมาประยุกต์ให้เข้ากับวัฒนธรรมการแต่งกายของคนเชียงใหม่ จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจผ้าไหม

ทักษิณ ชินวัตร กลับเชียงใหม่ 14 มีนาคม 2567. ภาพจาก Nation ทักษิณ ชินวัตร กลับเชียงใหม่ 14 มีนาคม 2567. ภาพจาก Nation
 

ทั้งนี้ หากบอกว่าชินวัตรรุ่นที่ 4 อย่างทักษิณ คือ คนที่ทำให้เป็นตระกูลอภิมหาเศรษฐี แต่ถ้าย้อนกลับไปดูจะพบว่าคนรุ่นที่ 3 นำโดย 'เลิศ ชินวัตร' (บิดาของทักษิณ) ต่างหากที่เป็นจุดเริ่มต้นและผู้นำทางความคิด นำมาซึ่งปรัชญา 'คิดใหม่ ทำใหม่' จนกลายเป็นสารตั้งต้นที่ทำให้ครอบครัวชินวัตรมีความแข็งแกร่งในทางเศรษฐกิจมาถึงทุกวันนี้

เหตุผลที่ต้องบอกว่า 'เลิศ ชินวัตร' เป็นคนคิดใหม่ทำใหม่นั้น เนื่องจากภายหลังแต่งงานกับ 'ยินดี ระมิงวงศ์' (มารดาของทักษิณ) และเริ่มมีบุตร ปรากฏว่าได้ตัดสินใจออกมาจากกงสีของครอบครัว เพื่อมาบุกเบิกธุรกิจของตัวเอง ทำให้จากที่เคยเป็นผู้บริหารธุรกิจหลายประเภทของตระกูล ต้องมาเริ่มต้นสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยตัวเองในฐานะพ่อค้าร้านขายกาแฟที่เชียงใหม่ ส่วนคู่ชีวิตกลายเป็นแม่ค้าเข็นผ้าขายในตลาดสันกำแพง ซึ่งร้านกาแฟที่เป็นห้องแถวไม้แห่งนี้เอง คือ บ้านหลังแรกของเด็กชายทักษิณ ชินวัตร 

‘เลิศ ชินวัตร’ สมัยวัยหนุ่มเริ่มแสดงความเป็นคนหัวก้าวหน้าให้คนทั่วไปได้เห็น เช่น การลงทุนซื้อเครื่องปั่นมะพร้าวจากกรุงเทพ มาทำมะพร้าวบดขายเป็นคนแรกของอำเภอสันกำแพง การนำเครื่องแช่เย็นมาดัดแปลงเพื่อขายโอเลี้ยงและแช่ขนุนเพื่อทำหวานเย็นขายให้คนในสันกำแพง ซึ่งถือเป็นความแปลกใหม่คนอำเภอสันกำแพงในเวลานั้นที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ทุกบ้านเหมือนในปัจจุบัน 

จากธุรกิจร้านกาแฟเล็กๆ ก็ไปสู่กิจการสวนส้มเขียวหวาน ซึ่งเป็นการสวนเทรนด์ธุรกิจทางการเกษตรของเชียงใหม่ในเวลานั้นที่จะเน้นการปลูกข้าวเจ้า ข้าวเหนียว หรือสวนผัก แค่นั้นยังไม่พอตระกูลชินวัตรยังได้ร่วมกับตระกูลพรหมชนะในการเป็นตัวแทนของธนาคารนครหลวงไทย สาขาเชียงใหม่อีกด้วย แต่อย่างที่ได้อธิบายไปในข้างต้นว่าวิวัฒนาการของธุรกิจครอบครัวชินวัตรล้อไปตามความเจริญที่เข้ามาเชียงใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการต่อสู้กับแนวความคิดคอมมิวนิสต์ ซึ่งรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เวลานั้น พยายามใช้กลไกในการพัฒนาด้านต่างๆ ลงไปในพื้นที่ เพื่อสร้างเกราะป้องกันไม่ให้คอมมิวนิสต์เข้ามาแทรกซึม ทำให้เชียงใหม่ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว

ถนนหลายเส้นทางถูกตัดขึ้น เกิดเป็นระบบทางหลวงเชื่อมโยงจังหวัดและภูมิภาคเข้าด้วยกัน รวมไปถึงการสร้างเขื่อนภูมิพลเพื่อผลิตไฟฟ้าและบริหารจัดการระบบชลประทาน จากสถานการณ์นี้เองที่กลายเป็นโอกาสของการสร้างธุรกิจอื่นๆ ของครอบครัว เช่น ธุรกิจการเดินรถเมล์ในจังหวัดเชียงใหม่ ธุรกิจบันเทิงอย่างโรงภาพยนตร์ที่มีชื่อว่า ‘ศรีวิศาล’ และ ‘ชินทัศนีย์’ ที่แหวกแนวด้วยการนำภาพยนตร์จากต่างประเทศมาฉาย หรือการเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์หรูจากต่างประเทศยี่ห้อ BMW รวมถึงกิจการปั๊มน้ำมัน ซึ่งธุรกิจทั้งหมดล้วนรองรับกับการเจริญเติบโตของเชียงใหม่

ชินทัศนีย์. ภาพถ่ายโดย ทักษิณ ชินวัตร ชินทัศนีย์. ภาพถ่ายโดย ทักษิณ ชินวัตร

แต่อาณาจักรธุรกิจครอบครัวชินวัตรที่เชียงใหม่ก็มาถึงช่วงขาลงจนหลายกิจการต้องปิดตัวลง ขณะที่ทายาทหลายคนก็ออกไปบุกเบิกธุรกิจที่อื่นนอกเชียงใหม่ เช่น ธุรกิจผ้าไหมที่พัทยาและภูเก็ต ก่อนที่จะมาประสบความสำเร็จสูงสุดในธุรกิจโทรคมนาคมที่ทำให้ ‘ชินวัตร’ กลายเป็นตระกูลหนึ่งที่มีความมั่งคั่งมากที่สุดในประเทศไทย

ในตอนหนึ่งของหนังสือ ‘ตาดูดาว เท้าติดดิน’ จะพบว่า ‘ทักษิณ’ เคยวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้อาณาจักรธุรกิจที่เชียงใหม่ประสบปัญหาว่า “การทำธุรกิจในแบบของพ่อมีช่องโหว่มากเกินไป พ่อวิ่งไปข้างหน้าแต่ลืมระวังข้างหลัง ไม่ทันคิดสร้างทายาทมารับช่วงต่อ ไม่มีคนคอยดูแลรายละเอียดในสิ่งที่พ่อบุกไว้ และวิ่งเร็วเกินไปจนไม่มีใครฉุดอยู่ เหมือนรถไฟที่เครื่องแรงเกิน พอไปถึงโค้งรั้งไว้ไม่ไหว มันก็ตกรางเอา แม่เองก็เอาพ่อไม่อยู่ แม่เป็นแม่บ้านมากกว่านักธุรกิจ ลำพังเลี้ยงลูก 9 คนก็เหนื่อยโขอยู่แล้ว ตอนนั้นพี่เยาวลักษณ์เรียนอยู่ที่ออสเตรเลีย น้องผมอีก 7 คน ล้วนยังเล็ก”

“แต่เหนือสิ่งอื่นใด ผมสรุปได้อย่างมั่นใจว่ามรดกจากพ่อที่ปรากฏในตัวผมชัดเจนที่สุดนั้นคือแพตเทิร์นการทำธุรกิจ หรือสไตล์กล้าเสี่ยงกล้าลอง ชอบของใหม่ทันสมัย และการทำงานด้วยจินตนาการ เพียงแต่ผมโชคดีกว่าตรงที่มีโอกาสเรียนสูง และมีกองหลังหรือภรรยาช่วยเก็บรายละเอียดให้ได้เท่านั้นเอง”

ทักษิณ ชินวัตร กลับเชียงใหม่ 14 มีนาคม 2567. ภาพจาก Nation STORY ทักษิณ ชินวัตร กลับเชียงใหม่ 14 มีนาคม 2567. ภาพจาก Nation STORY

เส้นทางการก่อร่างสร้างตัวของครอบครัวชินวัตรกว่า 100 ปีจากจันทบุรี มาสู่เชียงใหม่ จนมาถึงการก้าวขึ้นมาเป็นอภิมหาเศรษฐี ล้วนมาจากปรัชญา ‘คิดใหม่ ทำใหม่’ ที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งไม่ใช่ปรัชญาเฉพาะการทำธุรกิจเท่านั้น แต่ดีเอ็นเอนี้ยังส่งต่อไปถึงงานการเมืองผ่านพรรคเพื่อไทยอีกด้วยอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
 

logoline