นายอนุชา บูรพชัยศรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะกรรมการบริหารหน่วยประจำชาติไทยในสหภาพรัฐสภา และผู้แทนรัฐสภาไทย เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีวาระพิจารณาการติดตามการปฏิบัติตามข้อมติปี 2024 เรื่อง "Impact of artificial intelligence on democracy, human rights and the rule of law" หรือ ผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ต่อประชาธิปไตย, สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม ในห้วงการประชุมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 150 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่าง ที่กรุงทาชเคนต์ สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน ระหว่างวันที่ 5 ถึง 9 เมษายน 2568 ว่า ประเด็นดังกล่าวมีความสำคัญ และเหมาะสมแก่ยุคสมัย ซึ่งประเทศไทยได้มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำข้อเสนอแนะของข้อมติไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยในปี 2567 สภาผู้แทนราษฎรได้จัดตั้งคณะกรรมการวิสามัญว่าด้วยปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งมีหน้าที่ในการพัฒนายุทธศาสตร์ระดับชาติเชิงกลยุทธ์ในการกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ ตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของคณะกรรมาธิการฯ ทั้งการกำหนดกลยุทธ์ระดับชาติ, การส่งเสริมนวัตกรรม, การเพิ่มความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และการสร้างความตระหนักรู้และความสามารถในการปรับตัวของสาธารณชนในภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงนี้
นายอนุชาได้นำเสนอต่อที่ประชุมว่า ในการพิจารณาออกกฎหมายของไทย ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลในกรอบกฎหมาย และและมองไปข้างหน้า เพื่อปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐาน ควบคู่ไปกับความสามารถในการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น ความยืดหยุ่นในการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ ๆ การปกป้องความเป็นส่วนตัว การไม่เลือกปฏิบัติ และศักดิ์ศรีของมนุษย์ ตลอดจนความโปร่งใส และความรับผิดชอบในการพัฒนาและใช้งาน AI พร้อมยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมอย่างรอบด้าน ทั้งจากภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม เพื่อให้มั่นใจว่ามีความชอบธรรม และมีประสิทธิภาพ
นอกจากนั้น นายอนุชา ยังได้นำเสนอการพัฒนา และผลของการนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาใช้ในการส่งเสริมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรมไทย อาทิ สมาชิกวุฒิสภาไทย ที่ได้จำลองวิดีโอที่สร้างด้วย AI ซึ่งเป็นภาพจำลอง ขณะกำลังอภิปรายในการทำหน้าที่วุฒิสภา ซึ่งถือเป็นการสาธิตที่เกินความเป็นจริง เพื่อให้สาธารณชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามที่ของ AI จากการหลอกลวงทางดิจิทัล และเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการป้องกันการใช้ AI ที่เข้มแข็ง พร้อมย้ำว่า ประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นในการร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศ เพื่อให้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ถูกใช้เพื่อเสริมสร้างประชาธิปไตย ปกป้องสิทธิมนุษยชน และรักษาหลักนิติธรรม และหวังว่าจะได้มีความร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับสมาชิกรัฐสภาจากชาติอื่น ๆ ในการสร้างอนาคตดิจิทัลที่ปลอดภัย ครอบคลุมและาอดคล้องกับมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชน