นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร สส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ในฐานะเลขาธิการหน่วยประจำชาติไทยในสหภาพรัฐสภา และนายอัคร ทองใจสด ในฐานะกรรมการบริหารหน่วยประจำชาติไทยในสหภารัฐสภา เป็นผู้แทนรัฐสภาไทย เข้าร่วมการประชุมพร้อมร่วมกันอภิปรายในการประชุมยุวสมาชิกรัฐสภา ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ของสหภาพรัฐสภา ที่มีการพิจารณามุมมองของยุวชนสมาชิกรัฐสภา ต่อร่างข้อมติของคณะกรรมาธิการวิสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ เรื่อง “The role of parliaments in advancing a Two-State solution in Palestine" หรือ บทบาทของรัฐสภาในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในปาเลนส์ไตน์ ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ร่างข้อมติที่ที่ประชุมจะมีการพิจารณา ในห้วงการประชุมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 150 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ ที่กรุงทาชเคนต์ สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน ระหว่างวันที่ 4 ถึง 11 เมษายน 2568 ว่า ในการเลือกตั้งประเทศไทยเมื่อปี 2566 ประเทศไทยมีสมาชิกรัฐสภาที่เป็นเยาวชนตามเกณฑ์ของสหภาพรัฐสภา หรือ อายุต่ำกว่า 40 ปี ประมาณร้อยละ 29 หรือ 146 คนของสภาผู้แทนราษฎร แต่วุฒิสภาของไทย ไม่มีเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญของไทย กำหนดให้ต้องมีอายุมากกว่า 40 ปี แต่รัฐสภาก็ได้ขยายเกณฑ์ให้ยุวสมาชิกรัฐสภา ให้ครอบคลุมถึง 45 ปีเพื่อให้ทั้ง 2 สภาของไทยร่วมงานกันได้
โดยปัญหาความขัดแย้งในปาเลนส์ไตน์นั้น ยุวสมาชิกรัฐสภาในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย ระบุว่า ประเทศไทยได้ติดตามความคืบหน้าสถานการณ์ในตะวันออกกลางด้วยความเป็นห่วง และพร้อมสนับสนุนร่างมติฯ ที่มุ่งเสริมสร้างแนวทางสองรัฐในปาเลสไตน์ เพื่อสันติภาพและความมั่นคงในระยะยาวและเน้นย้ำการดำเนินการตามข้อเรียกร้องการหยุดยิงอย่างเต็มที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรม และเร่งฟื้นฟูสันติภาพ และเสถียรภาพในภูมิภาคโดยเร็ว
ยุวสมาชิกรัฐสภา ยังเรียกร้องให้ทุกฝ่าย ยึดมั่นตามมติของสหประชาชาติ และยุติข้อพิพาทผ่านการเจรจาโดยยึดกฎหมายระหว่างประเทศ และผ่านการมีส่วนร่วมโดยตรงกับรัฐสภา หรือความร่วมมือรัฐสภาหลาย ๆ ประเทศ และหน่วยงานสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง และในฐานะยุวสมาชิกรัฐสภา ยังขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายปกป้องพลเรือน โดยเฉพาะสตรีและเยาวชน รวมถึงกลุ่มเปราะบาง และเรียกร้องให้ฝ่ายที่ขัดแย้งทุกฝ่าย ป้องกันการกระทำที่จะทำให้เกิดความตึงเครียด และหลีกเลี่ยงการโจมตีพลเรือน และบุคลากรที่ไม่ใช่ทหาร รวมถึงเจ้าหน้าที่ขององค์กรด้านมนุษยธรรมโดยเด็ดขาด
นอกจากนั้น ยุวสมาชิกรัฐสภา ยังได้อภิปรายในวาระกลยุทธ์ของรัฐสภาในการบรรเทาผลกระทบความขัดแย้งระยะยาว และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะมีการพิจารณารับร่างข้อมติคณะกรรมาธิการวิสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน หัวข้อ ''Parliamentary strategies to mitigate the long-lasting impact of conflicts, including armed conflict, on sustainable development'' ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ร่างข้อมติที่ที่ประชุมจะมีการพิจารณาด้วยว่า ประเทศไทยรับทราบว่า ร่างมติดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ให้สอดคล้องกับข้อตกลงเพื่ออนาคตที่สหภาพรัฐสภาเพิ่งลงนามไป ซึ่งร่างมติดังกล่าว ได้เน้นย้ำถึงบทบาทของรัฐสภาให้ยึดมั่นในหลักการสิทธิมนุษยชนในช่วงวิกฤตการณ์ต่าง ๆ และสอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทย ที่มีต่อหลักการของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และมุ่งส่งเสริมองค์กรการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมที่เข้มแข็งในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ และสนับสนุนความพยายามด้านมนุษยธรรมอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง
ยุวสมาชิกรัฐสภา ยังย้ำว่า ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อก้าวไปสู่ "ภาวะปกติใหม่" เพื่อช่วยให้ประเทศต่างๆ สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ได้อย่างครอบคลุม โดยไม่ปล่อยให้ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัวของชุมชน และประเทศชาติ ซึ่งในเรื่องดังกล่าวนี้ ประเทศไทย ยังคงอยู่ในอันดับ 1 ในอาเซียน โดยเฉพาะด้านการขจัดความยากจน, สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และการศึกษาที่มีคุณภาพ