นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรีของสหภาพรัฐสภา และนางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร สส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ในฐานะเลขาธิการหน่วยประจำชาติไทยในสหภาพรัฐสภา เข้าร่วมการการประชุมสหภาพรัฐสภาสตรี (Forum of Women Parliamentarians) ในห้วงการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 150 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (The 150th IPU Assembly and related meetings) ระหว่างวันที่ 5-9 เมษายน 2568 ณ กรุงทาชเคนต์ สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน ซึ่งจะมีการพิจารณารับร่างข้อมติ ที่จะนำเสนอโดยคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ในหัวข้อ ''The role of Parliaments in advancing a two-State solution in Palestine" หรือ บทบาทของรัฐสภาในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง 2 รัฐในปาเลนส์ไตน์ ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ร่างข้อมติที่ที่ประชุมจะมีการพิจารณา
โดยนางสาววิสาระดี ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้นำเสนอรายงานในการอภิปรายต่อร่างข้อมติของคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ หัวข้อ The role of Parliaments in advancing a two-State solution in Palestine หรือ บทบาทรัฐสภาในการแก้ปัญหาพื้นที่ปาเลสไตน์ โดยได้แสดงความกังวลในผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อสิทธิสตรี และความเท่าเทียมทางเพศ กระทบจากทั้งความรุนแรง ความอดอยาก และความหิวโหยต่อพลเรือนจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็ก และสตรี ประสบความยากลำบาทในทางเศรษฐกิจ และการรักษาพยาบาลโดยเฉพาะต่อหญิงตั้งครรภ์ ดังนั้น การเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาแบบ 2 รัฐ จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อช่วยเหลือเด็ก และสตรี พร้อมสนับสนุนให้ผู้หญิง มีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสันติภาพ และการไกล่เกลี่ย สร้างความปรองดองจากความขัดแย้ง และเสียใจที่การสนับสนุนจากบทบาทของผู้หญิงในบางครั้งถูกมองข้าม และถูกกีดกันจากกระบวนการเจรจาสันติภาพ ดังนั้น การให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมจึงมีความจำเป็น และมีคุณค่าในเชิงยุทธศาสตร์
ขณะที่ นางสาวสรัสนันท์ ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้กล่าวอภิปรายในหัวข้อ "Let’s learn from each other. The achievements and impact of global and regional of networ of women parliamentarians" หรือ การถอดบทเรียนความสำเร็จ และผลลัพธ์เครือข่ายสมาชิกรัฐสภาหญิงระดับโลก และระดับภูมิภาคว่า เครือข่ายสตรีสมาชิกรัฐสภามีบทบาทสำคัญ ในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และการเสริมพลังให้สตรี ซึ่งเครือข่ายระดับชาติที่รัฐสภาไทย สามารถเสริมพลังให้สตรีในแวดวงการเมืองได้ทั้ง การหารือในระดับสมาชิกรัฐสภาตรี โดยมองข้ามพรรคการเมือง เพื่อผลักดันนโยบายที่ตอบสนองต่อเพศ และให้คำปรึกษาแก่ผู้นำหญิง การผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เมื่อผู้หญิงร่วมกันทำหน้าที่ ก็จะปรากฏผลที่เป็นรูปธรรม และสมาชิกรัฐสภาหญิงของไทย ยังได้ร่วมกันผลักดันร่างกฎหมายเกี่ยวข้อกับความเท่าเทียมในการจ่ายค่าจ้าง การคุ้มครองจากสังคม และการป้องกันความรุนแรงต่อผู้หญิง ซึ่งความพยายามเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐสภาสตรีไทย ทำให้ผู้หญิงทุกคน มีโอกาสทำงานเพื่อสังคมโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติหรืออุปสรรค
นางสาวสรัสนันท์ ยังระบุว่า ประเทศไทย เชื่อมั่นว่า เครือข่ายระดับภูมิภาค และระดับโลกจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่มีความหมาย ตลอดจนสร้างผลที่เป็นรูปธรรม ทำให้ความเท่าเทียมทางเพศ และการเสริมพลังสตรี เป็นสิ่งสำคัญต่อการกำหนดนโยบาย และการปกครอง