12 พฤศจิกายน 2567 ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับ "เทศกาลประเพณียี่เป็ง" หรือ "งานลอยกระทงเชียงใหม่ 2567" โดยปีนี้ทางจังหวัดเชียงใหม่ นำโดย นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เน้นในด้านการแสดงศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดฯ ซึ่งเป็นจุดเด่นในด้านการท่องเที่ยว และเน้นด้านความปลอดภัยในการท่องเที่ยวเป็นหลัก เพื่อให้นักท่องเที่ยวและประชาชนได้สัมผัสกับความงดงามของวัฒนธรรมล้านนาอันงดงามและทรงคุณค่า รักษาจารีตประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน ภายใต้แนวคิด "มนต์สเน่ห์แม่ระมิงค์ แสงศิลป์ ถิ่นวัฒนธรรม"
โดยขณะนี้จังหวัดเชียงใหม่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวแล้ว และคาดว่าในช่วงเทศกาลยี่เป็ง จะมีเงินสะพัดมากกว่า พันล้านบาท ซึ่งจะสามารถช่วยให้เชียงใหม่ฟื้นตัวจากภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ได้
รวมพิกัดงานลอยกระทงเชียงใหม่ 2567
ประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่ 2567 โดย เทศบาลนครเชียงใหม่
งาน "ลอยกระทง สายน้ำแห่งวัฒนธรรม"
แสงเทศกาล "ยี่เป็ง" เรียนรู้คลองแม่ข่า และไนท์บาซาร์ เชียงใหม่ (Festival of Light Mae Kha & Night Bazaar)
ต๋ามผางปะตี๊ด ส่องฟ้า ฮักษาเมือง
เทศกาลโคมล้านนา ปู่จาผางประทีปหนองบัวพระเจ้าหลวง
งานยี่เป็งและตลาดนัดสีเขียว
งานประเพณียี่เป็งล้านนาแห่งลุ่มน้ำปิง
งานลอยกระทงเทศบาลตำบลสันผักหวาน
งานอนุรักษ์ยี่เป็งในวิถีชุมชน
งานสืบสานยี่เป็งลอยกระทง
งานลอยกระทง ยี่เป็งเมืองแจ่ม
งานลอยกระทงเมืองฝาง
งานยี่เป็งเวียงท่ากาน แบบย้อนยุค
เปิดซุ้มประดับไฟมงคล รับ "เทศกาลยี่เป็ง"
ขณะที่ เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา นายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ นำผู้บริหารของเทศบาลนครเชียงใหม่ ร่วมเปิดซุ้มประดับไฟ เทศกาลยี่เป็งเชียงใหม่ ประจำปีพุทธศักราช 2567 อย่างเป็นทางการ ซึ่งเทศบาลนครเชียใหม่ จัดทำซุ้มประดับไฟมงคล "พิงคราษฎร์ภักดี เฉลิมพระจักรี ฑีฆายุโก" เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567
โดยได้ร่วมกับอาจารย์จากภาควิชาศิลปะไทยและวัฒนธรรมสร้างสรรค์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดสร้างซุ้มไฟประดับในรูปแบบซุ้มโขง 14 ซุ้ม บนถนนท่าแพไปจนถึงลานข่วงประตูท่าแพ รวมระยะทางกว่า 200 เมตร เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลยี่เป็งหรือลอยกระทงของจังหวัดเชียงใหม่
สำหรับซุ้มโขงดังกล่าวนี้เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาคลาสสิคร่วมสมัยสไตล์โคโลเนียล ที่นำเสนออัตลักษณ์ของล้านนา ซุ้มที่ 1 และซุ้มที่ 14 เป็นลวดลายเครือเถาพรรณพฤกษา และดอกพุตตาล อันเป็นเอกลักษณ์ของการตกแต่งประดับหน้าบันวิหารล้านนา ตรงกลางซุ้มประดับรูปเทวดาอันเชิญดวงตราสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติฯ โดยมีตราเทศบาลนครเชียงใหม่อยู่เบื้องล่าง วางบนฐานประดับลายบัวคว่ำบัวหงาย
ส่วนในซุ้มที่ 2 ถึง 13 ด้านหนึ่งประดับประดาด้วยลวดลายปีเปิ้ง ตามคติความเชื่อระบบปฏิทินของจีนโบราณ ที่ถูกกำหนดใช้เป็นรูปสัตว์ 12 นักษัตรแทนในรอบ 12 ปี โดยความเชื่อเรื่องนักษัตรมงคลประจำปีเกิดเหล่านี้ มีทั้งไทยและล้านนาตั้งแต่อดีต แต่ล้านนาเปลี่ยนปีกุน จากเดิมนักษัตรหมู มาเป็นช้างแทน การนับปีเปิ้ง จะเริ่มจากปีนักษัตรหนู แล้วสิ้นสุดที่ปีนักษัตรช้างนั่นเอง อีกด้านหนึ่งประดับด้วยลายจักราศีสากล เพื่อให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ร่วมกันเฉลิมฉลองในประเพณีเดือนยี่เป็ง
ขณะที่โครงสร้างเสาบัวประดับหัวเสา ประดับด้วยลายบ่างหรือลายค้ำใต้ฐานเขียง ตกแต่งลายลูกแก้วและบัวคว่ำบัวหงาย ลายพรรณพฤกษา มวลดอกไม้พื้นเมืองเช่น ดอกสัปปะรด ดอกก๋ากอก และดอกพุดตาน ผูกลวดลายที่ถูกจำลองจากลายประดับหน้าบันวิหารล้านนา อาทิ วัดแสนฝาง วัดบุพพาราม และวัดล้านนาที่ปรากฏตลอดเส้นทางบนถนนท่าแพอย่างงดงาม
ลวดลายที่สร้างขึ้นทั้งหมดทำด้วยมืออย่างปราณีตและพิถีพิถัน พร้อมประดับดวงไฟหลากหลายขนาด ตลอดจนเปิดเสียงเพลงบรรเลงสไตล์ล้านนาตลอดระยะเวลาของการเปิดไฟประดับ เพื่อความสุขของพี่น้องประชาชนในทุกมิติ ให้สมกับการเป็นนครที่สง่างามทางวัฒนธรรม จึงเป็นที่มาของโครงการตกแต่งเมืองเฉลิมฉลองในเทศกาลยี่เป็ง ในรูปแบบซุ้มประดับไฟมงคล "พิงคราษฎรภักดี เฉลิมพระจักรี ทีฆายุโก" อันมีความหมายว่า "พสกนิกรชาวเชียงใหม่ น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และถวายความจงรักภักดี ขอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน" โดยซุ้มประดับไฟจะเปิดให้ประชาชนได้ชื่นชมความสวยงามไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์
ตำนานผางประทีป
อย่างที่กล่าวไปตอนต้น หนึ่งในงานลอยกระทงเชียงใหม่ มีกิจกรรม "ต๋ามผางปะตี๊ด ส่องฟ้า ฮักษาเมือง" การจุดผางปะติ๊ด หรือผางประทีป ในงานประเพณีเดือนยี่เป็งนั้น มีตำนานเล่าไว้อย่างไร เรามาอ่านกัน
การจุดผางปะติ๊ด ในงานประเพณีเดือนยี่เป็ง ตามตำนานเล่าไว้ว่า แม่กาเผือกได้ออกไข่มา 5 ฟอง เมื่อไข่ฟักออกมาแม่กาก็เสียชีวิตไป ไข่ทั้ง 5 ฟองเป็นพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ องค์ที่ 4 คือ องค์พระศรีอริยเมตไตรย และองค์ที่ 5 คือพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป การทำผางปะติ๊ดจึงทำไส้เทียนเป็นรูปตีนกา เพื่อรำลึกถึงพระคุณของแม่กาขาวและบูชาพระพุทธคุณ บูชาแม่พระคงคา และสืบสานประเพณีอันดีงามของล้านนา
เปรียบดั่งการต่อดวงชีวิตให้สว่างไสวเหมือนดวงประทีป
นางเสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจุดผางปะติ๊ด ว่า การจุดผางปะติ๊ด เป็นสิ่งที่ดี เพราะจะได้บูชาเมือง จุดเพื่อสืบสานประเพณีวัฒนธรรม และเหมือนกับการต่อดวงชีวิตให้สว่างไสวเหมือนดวงประทีป ซึ่งเป็นประเพณีที่สวยงาม ดีกว่าการปล่อยโคมไฟ ที่ชาวเชียงใหม่ต้องหวาดผวา โคมไฟไม่มีเสียงเตือน เวลาตกมาก็ไม่รู้จะตกตรงไหน ชาวบ้านในเชียงใหม่ต้องหวาดกลัวว่าจะตกมาที่บ้านตนเองหรือไม่ หากตกมาช่วงเวลา 02.00 - 03.00 น. หรือช่วงที่นอนหลับไปแล้ว ก็เป็นอันตรายอย่างมากที่จะเกิดไฟไหม้
เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ ยังบอกด้วยว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยวยังไม่ทราบ ก็อยากให้ช่วยกันรณรงค์งดการปล่อยโคม หันมาจุดผางปะติ๊ด หรือผางประทีป ที่สวยงาม ปลอดภัยมากกว่า
เตือนหากปล่อยโคมลอยในพื้นที่ห้ามปล่อย จะมีความผิด
ด้าน เพจ ททท.สำนักงานเชียงใหม่ - TAT Chiang Mai โพสต์ระบุว่า การปล่อยโคมลอยในประเพณียี่เป็ง 2567 สามารถปล่อยโคมลอยในวันที่ 15 และ 16 พ.ย. 2567 ตั้งแต่เวลา 19:00 - 01:00 น. ในพื้นที่นอกเขตการบินที่ได้รับอนุญาต
หากปล่อยโคมลอยในพื้นที่ห้ามปล่อย จะมีความผิดตาม พ.ร.บ. การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พร้อมแจ้งรายละเอียดพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต และโคมลอยที่ถูกต้อง โดยสามารถแสกนอ่านได้จากคิวอาร์โค้ดในภาพด้านล่าง
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก :
ททท.สำนักงานเชียงใหม่
เทศบาลนครเชียงใหม่
ศูนย์มรดกเมืองเทศบาลนครเชียงใหม่
Visitlanna Association สมาคมการค้าวิศิษฎ์ล้านนา