"...หากไปดูผลงานที่ผ่านมาของรัฐบาลชุดนี้ ที่การกระทำไม่สอดรับกับคำพูดเท่าไรนัก พร้อมยกตัวอย่าง 3 นโยบายของรัฐบาล ที่ไม่ต้องกับข้อเท็จจริงเพียงแค่ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา ทั้งค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่ได้ 400 บาททั่วประเทศตามที่ได้หาเสียง แต่กลับขึ้นเพียง 4 จังหวัดและ 1 อำเภอ, นโยบายค่าไฟ ที่นายกรัฐมนตรีปล่อยปละเลยและไม่ให้ กกพ.มีมติใด ๆ ออกมาต่อสัญญารับซื้อไฟฟ้า จนเกิดการกีดกันทางการค้า..."
เนื้อหาข้างต้น เป็นบางห้วงบางตอนที่ "พริษฐ์ วัชรสินธุ" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน สื่อสารตอบโต้ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ ในการขึ้นเวทีปราศรัยช่วยหาเสียงให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง"นายกอบจ เชียงใหม่" เมื่อวานนี้( 23 ธันวาคม 2567 ) หลังจาก"ทักษิณ" พาดพิง "คนรุ่นใหม่จากพรรคประชาชน" มีแต่คนพูดเก่ง ทำงานไม่เป็น พร้อมยก "เพื่อไทย" ทำงานดีเป็นมีผลงาน
เมื่อมาพิเคราะห์ ถ้อยความ "พริษฐ์" หรือโฆษกพรรคสีส้ม มองเข้าไปถึงการบริหารงานรัฐบาลพรรคเพื่อไทย 1 ปี สามเดือน สิ่งที่เปลี่ยนแปลงเห็นจะมีการเปลี่ยนตัวนายกฯจาก "เศรษฐา ทวีสิน" มาเป็น "แพทองธาร ชินวัตร " ในขณะที่นโยบายไม่ได้เปลี่ยน เห็นได้จากการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาถึงสองครั้ง ซึ่งนโยบายแต่ละเรื่องก็เป็นชุดความคิดเดิมที่ให้ไว้เมื่อครั้งหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ แถมการแถลงนโยบายรอบสองโดย "นายกฯแพทองธาร" นั้น ยังถือเป็นการตอกย้ำเสียด้วยซ้ำว่า ต้องทำตามที่สัญญาหาเสียง ชนิด คอการเมืองขีดเส้นใต้ซ้ำ พร้อมทำตัวหนาในชุดนโยบายต่างๆ ชนิดหนาแล้วหนาอีก และหนาต่อไป
เพื่อชี้ให้เห็นว่า คำกล่าวของ "โฆษกพรรคประชาชน" ดูไม่เกินความจริงพร้อมกับกระตุกต่อมคิด "คนบ้านใหญ่จันทร์ส่องหล้า" ที่เปรียบได้กับฉายา "รัฐบาลพ่อเลี้ยง" กลับไปคิดทบทวน ว่า สิ่งที่กล่าวอ้างว่าเป็นผลงานแล้วนั้น คืออะไร!?!
เพราะแต่ละคำมั่นสัญญา ที่ผ่านจากปาก "แพทองธาร ชินวัตร" นายกฯและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในระยะเวลาของการบริหารประเทศจึงเป็นไปในลักษณะที่สายตาภายนอกมองเข้ามาว่า "ไม่มีเรื่องใดที่เป็นผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน หรือเป็นผลงานเชิงประจักษ์นัก"
ส่องกล้องเอ็กซเรย์ นโยบายสำคัญๆรวมถึงวาทกรรมสัญญา"นายกฯแพทองธาร" กันดูบ้าง เป็นไปตาม"พริษฐ์ วัชรสินธุ" โฆษกพรรคประชาชน ตั้งข้อสังเกต เป็นอย่างไร
-เงินหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต
เมื่อครั้ง "เศรษฐา" เปิดตัวเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทย ประกาศลั่นกลางฮอลเมืองทองธานี ในการปราศรัยใหญ่หาเสียงปี2566 จน "เศรษฐา" เข้ามาเป็นนายกฯ และเปลี่ยนผ่านมาถึง "นายกฯแพทองธาร" นโยบายแจกเงินหมื่น ก็ยังแจกไม่เสร็จเลย นี่จะก้าวสู่ปี 2568 แล้ว ซ้ำร้าย"นโยบายแจกหมื่น" กลับมีการตัดต่อพันธุกรรม เปลี่ยนแปลงเงื่อนไข เป็นนโยบาย "เงินลุ้น" ว่าเฟสสอง และเฟสสามจะได้กันปีหน้าจริงหรือไม่ หรือ รอกันแบบอินฟินีตี้ ชนิดที่ว่าจะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบ พายุหมุน ก็ไม่รู้จะหมุนแล้วหมุนอีกจนพายุสงบ จะเกิด"ภาวะภัยแล้งเงิน"หรือไม่
-ค่าแรง 400 บาท ทั่วไทย
ในที่สุด คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) มีมติ และเสนอครม. ให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ใน 4 จังหวัด 1 อำเภอ มีผล 1 ม.ค.2568 แม้รัฐบาลอ้างว่านี่เป็นของขวัญปีใหม่ให้ผู้ใช้แรงงาน หากแต่เป็นของขวัญให้ผู้ใช้แรงงานไม่ทั่วไทย อย่าลืมว่า ที่ผ่านมา คนในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่ "นายกฯแพทองธาร" เคยประกาศเป้าหมายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน ทั่วประเทศภายในปีแรกของรัฐบาลชุดนี้ ทว่ามติคณะกรรมการค่าจ้างครั้งนี้ สรุปออกมาแล้วได้ชี้ให้เห็นว่า ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่เคยประกาศไว้ มิพัก หวังเห็นเป้าหมายที่หาเสียงไว้ว่า "พี่น้องผู้ใช้แรงงาน จะได้ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน และบังคับใช้ทั่วประเทศภายในปี 2570" คงต้องวาดฝันกันต่อไปไม่ต่างกับรอนโยบาย "ลุ้นเงินหมื่นกลายพันธุ์"
-"กิตติรัตน์" วืดประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
อีกเรื่องแห่งความยื้อแล้วยื้ออีก กรณี แต่งตั้ง "ประธานบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย" (ธปท. ) จะด้วย กระแสกดดันจาก ภายในแบงก์ชาติ รวมถึงกระแสภายนอก จากเครือข่ายมวลชน ที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน การขึ้นมาของ "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" อดีตขุนคลังสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ถึงความสัมพันธ์ กันมาอย่างยาวนานกับ"คนบ้านใหญ่"
ในที่สุด "แพทองธาร ชินวัตร" นายกฯ ออกมายอมรับแล้วในวันนี้( 24 ธันวาคม 67 ) ว่า การแต่งตั้ง "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" ให้เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ยังติดปัญหาเรื่องคุณสมบัติไม่ผ่าน จากการตรวจของคณะกรรมการกฤษฏีกา
ความปรากฎว่า "กฤษฎีกา" ส่งหนังสือถึงทำเนียบฯ ตีความชัด "กิตติรัตน์" เป็นนักการเมือง แม้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯไม่รับเงินเดือน ทำให้ขาดคุณสมบัติไม่ได้นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ" จากกรณีการพิจารณาบุคคลเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติที่ถกกันมาอย่างยาวนานกว่าสองเดือน ยังส่งผลให้ "ครม." ต้องตีกลับเรื่อง ไปยังคณะกรรมการสรรหา ประชุมเลือกคนใหม่ มาเป็นต่อไป เมื่อดูไทม์ไลน์การทำงานของครม.ต่อเรื่องนี้คงต้องไปว่ากันอีกครั้งในปี 2568
- ตั้งกรรมการร่วม เจทีซี ไทย – กัมพูชา มากี่โมง
อีกคำมั่นสัญญาผ่านวาทกรรม "นายกฯแพทองธาร" ตามที่สื่อมวลชนทำเนียบรัฐบาล ตั้งฉายาให้เป็น"แพทองโพย" เคยให้สัมภาษณ์อย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะ ว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค JTC ไทย –กัมพูชา จะเสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2567 พร้อมมีการขยายความด้วยว่า เรื่องนี้ต้องดำเนินโดยเร็วเพราะทาง "ผู้นำกัมพูชา" เคยถามไถ่ความคืบหน้า ระหว่างพบกันในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่ลาว
"...ใกล้แล้ว ไม่น่าจะเกินเดือนนี้ เพราะคุณภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ระบุว่า ใกล้เรียบร้อยแล้ว.. " "นายกฯแพทองธาร" ยืนยันกับสื่อมวลชน ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567
ปรากฎว่า ผ่านมาถึงธันวาคม ไม่มีวี่แวว "ครม." จะหยิบยกเรื่อง การแต่งตั้งกรรมการร่วมเทคนิค JTC ให้ ครม.รับทราบ ท่ามกลางกระแสเครือข่ายภาคประชาชนออกมาเคลื่อนไหวให้ยกเลิก"เอ็มโอยู 44 " จากคำมั่นสัญญา "แพทองธาร" เดินทางมาถึงใกล้สิ้นปี จึงไม่สามารถบอกทิศทาง การแก้ปัญหาปมพื้นที่อ้างสิทธิทางทะเล ไทย –กัมพูชา ต่อการหาประโยชน์แหล่งพลังงานใต้ท้องทะเล จะออกไปในทิศทางใด
นี่เป็นเพียง ส่วนหนึ่งในส่วนใหญ่ของนโยบายที่เคยหาเสียงไว้เท่านั้น โดยปรากฎหลักฐานชัด ผ่านการแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภา จนเกิดคำถามใหม่ "ทำอยู่หรือเปล่าทำต่อไปหรือไม่ และจะเห็นผลเมื่อไหร่" ในห้วงระยะเวลาบริหารราชการแผ่นดินภายใต้การนำของ "แพทองธาร ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี จึงไม่แปลกที่ แกนนำพรรคประชาชน อย่าง"พริษฐ์ วัชรสินธุ" ออกมาตั้งข้อสังเกต
ยังโชคดีที่ไม่ตั้งข้อสังเกตมากไปกว่านั้นว่า หากแต่ที่เห็นผลงานของ "รัฐบาลพ่อเลี้ยง" อย่างหนึ่ง ก็คือ "การนำทักษิณ อดีตนายกฯผู้พ่อ ได้กลับบ้านและประกาศความฮึกเหิมตามเวทีเลือกตั้งท้องถิ่นต่างๆ อยู่ในเวลานี้"
หรือตรงนี้ต่างหาก คือ ผลงานเชิงประจักษ์ชิ้นโบว์แดง ที่สามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เพียงแต่ไม่นำมาแถลงต่อสาธารณชนในช่วงที่ผ่านมา