svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

นายกฯ ยินดีความสำเร็จประชุม BIMSTEC รับรองผลลัพธ์สำคัญ 6 ฉบับ

04 เมษายน 2568
เกาะติดข่าวสาร >> NationTV
logoline

นายกฯ แถลงยินดีความสำเร็จ ประชุม BIMSTEC รับรองเอกสารผลลัพธ์สำคัญ 6 ฉบับ ดัน วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030 สร้างโอกาสเศรษฐกิจ

4 เมษายน 2568 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  แถลงผลการประชุมผู้นำ BIMSTEC หรือประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation : BIMSTEC) ครั้งที่ 6 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ  ว่า

 

รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ทำหน้าที่ประธานการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2547 และรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้พาบิมสเทคกลับมายังกรุงเทพมหานคร และมีโอกาสต่อยอดบนรากฐานที่ได้วางไว้ตลอดช่วง 20 ปี

 

ส่วนแนวคิดหลักภายใต้การดำรงตำแหน่งประธานบิมสเทคของไทย คือ "บิมสเทค ที่มั่งคั่ง ยั่งยืน ฟื้นคืน และเปิดกว้าง" ท่ามกลางสถานการณ์ระหว่างประเทศ และความท้าทายในภูมิภาค บิมสเทคจะเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือและการดำเนินการร่วมกัน โดยเฉพาะในด้านการเตรียมความพร้อม การบรรเทาผลกระทบและการฟื้นฟูประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ ผ่านกรอบความร่วมมือที่มีอยู่ รวมถึงการจัดตั้งกลไกที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นบนพื้นฐานจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เพิ่งเกิดขึ้น

นายกฯ ยินดีความสำเร็จประชุม BIMSTEC รับรองผลลัพธ์สำคัญ 6 ฉบับ

 

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า ที่ประชุม BIMSTEC ได้รับรองเอกสารผลลัพธ์สำคัญ 6 ฉบับ ได้แก่

 

  • ฉบับแรกวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030 ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญของการประชุมสุดยอดครั้งนี้ และถือเป็นวิสัยทัศน์ฉบับแรกของพวกเราที่กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อสร้าง "บิมสเทคที่มั่งคั่ง ยั่งยืน ฟื้นคืน และเปิดกว้าง" (PRO BIMSTEC) ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยให้ความสำคัญกับการบูรณาการทางเศรษฐกิจ การเชื่อมโยง และความมั่นคงของมนุษย์
  • ฉบับที่สอง ปฏิญญาการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 ซึ่งเป็นการยืนยันถึงเจตนารมณ์ของพวกเราในการส่งเสริมบิมสเทคและผลักดันวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030

 

นายกฯ ยินดีความสำเร็จประชุม BIMSTEC รับรองผลลัพธ์สำคัญ 6 ฉบับ

 

  • ฉบับที่สาม กฎระเบียบสำหรับกลไกการดำเนินงานของบิมสเทค ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงานที่เป็นระบบและมีกฎเกณฑ์เป็นพื้นฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความเป็นระเบียบแบบแผนในการดำเนินงานของบิมสเทค

 

  • ฉบับที่สี่ รายงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิว่าด้วยทิศทางของบิมสเทคในอนาคต ซึ่งนำเสนอข้อเสนอแนะสำคัญที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030

 

  • ฉบับที่ห้า เราได้เป็นสักขีพยานในการลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล ซึ่งมีเป้าหมายในการเสริมสร้างการเชื่อมโยงทางทะเลระหว่างเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ ลดต้นทุนการค้า และอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าและประชาชน

 

  • ฉบับที่หก ที่ประชุมได้รับรองแถลงการณ์ร่วมของผู้นำบิมสเทคว่าด้วยผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมาและไทย ซึ่งเป็นการแสดงความเสียใจ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และความมุ่งมั่นของบิมสเทคในการสนับสนุนประเทศที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงเป็นการยืนยันความร่วมมือที่แน่นแฟ้นด้านการจัดการภัยพิบัติ และเสริมสร้างกลไกตอบสนองต่อภัยธรรมชาติให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

 

นายกฯ ยินดีความสำเร็จประชุม BIMSTEC รับรองผลลัพธ์สำคัญ 6 ฉบับ

 

นอกจากนี้ กรอบแนวคิด PRO BIMSTEC จะทำให้บิมสเทคสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับองค์การระดับภูมิภาคและองค์การระหว่างประเทศได้อย่างแข็งขันมากขึ้น สิ่งนี้จะทำให้ประชาคมโลกได้ยินเสียงของเราในประเด็นสำคัญต่าง ๆ อาทิ การค้า ความเชื่อมโยง และความมั่นคงของมนุษย์

 

ส่วนผลลัพธ์ของการประชุมผู้นำครั้งนี้จะนำไปสู่ประโยชน์โดยตรงที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้สำหรับประชาชนไทย ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเลจะลดต้นทุนค่าขนส่งสินค้าและเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นและขยายโอกาสใหม่ด้านการตลาดและการลงทุน การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนที่เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวและความร่วมมือทางวัฒนธรรมจะกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของไทยและสร้างโอกาสการจ้างงานใหม่ ๆ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่โอกาสทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนไทย

 

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวแสดงความยินดีกับประเทศสมาชิกบิมสเทคทุกประเทศต่อความสำเร็จของการประชุมผู้นำในวันนี้ และรอคอยด้วยความมุ่งหวังที่จะได้เห็นความสำเร็จภายใต้การนำของบังกลาเทศต่อไป

 

นายกฯ ยินดีความสำเร็จประชุม BIMSTEC รับรองผลลัพธ์สำคัญ 6 ฉบับ

 

จากนั้น นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงข่าวและตอบคำถามกับสื่อมวลชนไทยและต่างประเทศ ว่า ที่ประชุมบีมสเทค ครั้งนี้ไม่ได้มีการหารือถึงสถานการณ์การเมืองภายในของเมียนมา พร้อมย้ำว่า การที่ไทยในฐานะประธานการประชุมบีมสเทคครั้งนี้เชิญผู้นำเมียนมาเข้าร่วมประชุมด้วย เป็นไปตามกฎบัตรของบีมสเทคที่ต้องเชิญผู้นำทุกประเทศมาร่วมประชุม รวมถึงเป็นการสร้างความมั่นใจว่า ข้อตกลงทุกอย่างจะได้รับการรับรองจากทุกประเทศสมาชิก

 

ส่วนกรณีที่สหรัฐประกาศมาตรการขึ้นภาษีนำเข้านั้น ไม่ได้มีการหารือในที่ประชุม โดยเป็นเพียงการหารือภายใต้กรอบความร่วมมือของกลุ่มประเทศบิมสเทคเท่านั้น

 

สำหรับกลุ่มสมาชิกบิมสเทค ที่ถูกสหรัฐประกาศขึ้นภาษีนำเข้า ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ เมียนมา 45% , ศรีลังกา 44% , บังกลาเทศและไทย 37% , อินเดีย 27% ขณะที่ เนปาลและภูฏาน 10%

 

logoline