ที่ศูนย์บัญชาการสถานการณ์แผ่นดินไหวกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเปิดเผยถึงการลงนามในคำสั่งขอให้เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป ใน 9 ประเภทอาคารประสานงานกับผู้ตรวจสอบอาคารเพื่อเข้าทำการตรวจสอบความเสียหาย และประเมินแนวทางการปรับปรุง ซ่อมแซม หรือเสริมความแข็งแรงของอาคารให้มีความมั่นคงปลอดภัยตามหลักวิศวกรรม
โดยนายชัชชาติ ระบุว่าอาคารในกลุ่มเป้าหมายทั้ง 9 ประเภท มีอยู่ประมาณ 11,000 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ย้ำว่า คำสั่งนี้เป็นเพียงการขอความร่วมมือจากเจ้าของอาคาร เพื่อให้มีการตรวจสอบว่าสิ่งปลูกสร้างได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวหรือไม่ เนื่องจากภาครัฐไม่สามารถตรวจสอบอาคารทุกแห่งได้โดยลำพัง
“ที่ผ่านมา กทม. ตรวจสอบเฉพาะอาคารที่ได้รับผลกระทบหนักเท่านั้น ซึ่งตอนนี้มีเพียง 2 แห่งที่ออกคำสั่งให้หยุดใช้งาน คือ อาคารในย่านสุขุมวิทและลาดพร้าว ส่วนอาคารอื่น ๆ ยังคงเปิดใช้งานได้ตามปกติ”
โดยคำสั่งดังกล่าวกำหนดให้เจ้าของอาคาร ต้องส่งผลการตรวจสอบภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงาน ไม่ใช่การปล่อยให้ละเลยความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถตรวจสอบได้ภายในเวลาที่กำหนด เจ้าของอาคารต้องแจ้งเหตุขัดข้องต่อ กทม. เพื่อให้สามารถวางแนวทางแก้ไขได้
“ถ้าตรวจสอบแล้วไม่พบรอยแตกร้าวหรือความเสียหายก็ไม่มีปัญหา แต่สิ่งสำคัญคือประชาชนต้องได้รับความมั่นใจว่าอาคารที่พวกเขาอาศัยหรือทำงานอยู่นั้นมีความปลอดภัย” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
นอกจากเรื่องอาคารสูง นายชัชชาติยังกล่าวถึงการตรวจสอบโครงสร้างระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้าสายสีชมพู และทางด่วนดินแดง ซึ่งยังไม่สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ตามปกติ โดยระบุว่าหลังการประชุมในวันนี้จะมีข้อสรุปที่ชัดเจน
หากตรวจสอบแล้วปลอดภัย ก็สามารถเปิดให้บริการได้ทันที คาดว่ารถไฟฟ้าสายสีชมพูจะกลับมาเปิดให้ประชาชนใช้งานได้ภายในวันพรุ่งนี้ ตามที่กระทรวงคมนาคมรายงาน
นายชัชชาติ ยืนยันว่า คำสั่งให้เจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างครั้งนี้ ไม่มีบทลงโทษทางกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้อ้างอิงตามมาตรามาตรฐานอาคารโดยตรง แต่เป็นเพียงการขอความร่วมมือจากภาคเอกชนเพื่อช่วยกันดูแลความปลอดภัยในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน
สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ เบื้องต้น 200 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการค้นหาและกู้ภัย รวมถึงการดำเนินการในส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม งบประมาณส่วนนี้จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายการตรวจสอบอาคารหรือไม่นั้น นายชัชชาติระบุว่า การตรวจสอบโครงสร้างอาคารเป็นหน้าที่ของเจ้าของอาคารและผู้ตรวจสอบที่ได้รับอนุญาต โดยบางส่วนสามารถดำเนินการได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งนี้ กทม. จะพิจารณาระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อดูว่าเจ้าของอาคารสามารถขอรับการสนับสนุนงบเยียวยาสำหรับการตรวจสอบได้หรือไม่