svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

อดีต กสทช.ชี้ ปธ.-กก.ชุดปัจจุบันรับผิดชอบ ปม SMS แจ้งเตือนล่าช้า

"อดีต กสทช." ชี้ ประธาน-กก.กสทช. ชุดปัจจุบัน ต้องรับผิดชอบ ปมร้อน "SMS แจ้งเตือนภัย" ล่าช้า พร้อมวิเคราะห์แซบ ปัญหาที่แท้จริงเกิดจากอะไร

30 มีนาคม 2568 ปมร้อนสืบเนื่องจากเหตุ แผ่นดินไหว กรณี ระบบเตือนภัยผ่านระบบ SMS ประชาชนได้รับการแจ้งเตือนช้า บางคนยังไม่ได้เลย และตอนนี้ก็ยังไม่มีใครออกมารับผิดชอบ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูเหมือนจะยังโยนกันไปมาหรือไม่

กรณีนี้ ผู้สื่อข่าว “เนชั่นทีวี” ได้พูดคุยกับ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อดีต กรรมการ กสทช. ถึงมุมมองปัญหาที่เกิดขึ้น โดย น.ส.สุภิญญา บอกว่า ปกติการแจ้ง SMS เตือนภัยขึ้นอยู่กับภัยพิบัติ เพราะบางภัยพิบัติสามารถที่จะคาดการณ์ได้ล่วงหน้า เช่น น้ำท่วม จำเป็นที่จะต้องแจ้งก่อนและเจาะจงพื้นที่

แต่เหตุแผ่นดินไหวโอกาสที่จะแจ้งเตือนก่อนเป็นไปได้ยาก แต่หลังเกิดเหตุแล้วจะต้องส่งทันทีว่า ประชาชนควรจะต้องทำตัวอย่างไร เตรียมตัวอย่างไรซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการทราบจากทางภาครัฐ

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตและยังไม่มีการแก้ไข มาจนถึงทุกวันนี้ คือปัญหากลไกระบบราชการของไทย และการเตรียมความพร้อมของภาคเอกชน ที่ไม่มีศักยภาพในการส่งแจ้งเตือน SMS ได้อย่างรวดเร็ว เพราะเหตุการณ์แผ่นดินไหวหลังเกิดเหตุแล้วควรที่จะต้องรีบส่ง SMS แจ้งเตือนให้เร็วที่สุด

ซึ่งผู้เชี่ยวชาญควรจะต้องตัดสินใจเทคแอ็คชั่น บอกประชาชนทันทีหลังเกิดเหตุ เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจได้ถูกว่า จะดำเนินการกับตัวเองอย่างไร
 

“ส่วนตัวมองว่า ตั้งแต่สมัยตนทำงาน กสทช. มา ปัญหาของภาคเอกชนนั้น ที่ผ่านมามีการออกฎกติกาหลายอย่างว่า หากเกิดเหตุต้องดำเนินการ เป็นเงื่อนไขไว้ แต่ปัญหากลับไปอยู่ที่คนปฏิบัติ อย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหว มีการโยนกันไปโยนกันมา ดังนั้น ปัญหาจึงเป็นเรื่องของอำนาจการตัดสินใจ และการไม่เตรียมความพร้อม เพราะปัจจุบันเข้าสู่ยุค 5 จีแล้ว กำลังจะประมูลคลื่น 6 จี ความพร้อมของเอกชนก็ควรจะต้องมากกว่านี้
 

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อดีต กรรมการ กสทช.

น.ส.สุภิญญา มองว่า เหตุการณ์ลักษณะนี้ ไม่จำเป็นต้องรอหนังสือทางการ จากราชการก็ได้ เมื่อ กสทช. เห็นสถานการณ์แบบนี้ ก็ควรที่จะตัดสินใจทันที ในการติดต่อไปยังโอเปอเรเตอร์ค่ายมือถือ เพราะมีช่องทางการติดต่ออยู่แล้ว ส่วนจดหมายราชการอาจจะทำตามหลัง เนื่องจากการเตือนครั้งนี้ไม่ได้ผิดวิสัยอะไร ที่จะทำให้เกิดผลกระทบ เนื่องจากประชาชนมึนงงกันไปแล้วกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนรู้สึกเชื่อมั่นอุ่นใจ ซึ่ง sms แรกอาจจะยังไม่มีดีเทลมาก แต่ย้ำว่าเกิดเหตุจริงและให้ประชาชนตั้งสติ  ซึ่งมองว่าการตัดสินใจตรงนี้ ไม่น่ายาก เพราะมีการซ้อมกันหลายรอบแล้ว แต่สุดท้ายต้องกลับไปดูความรับผิดชอบ

ส่วนในทางเทคนิค กสทช.ก็ต้องไปไล่เบี้ยกับค่ายมือถือ ว่า สิ่งที่อยู่ในเงื่อนไข ถึงเวลาจริงทำไมทำไม่ได้ เพราะสรุปบทเรียนหลายรอบแล้ว ดังนั้น มองว่า กสทช.อาจจะต้องมีไม้แข็งกับผู้ประกอบการค่ายมือถือ เพราะที่ผ่านค่อยข้างสปอยค่ายมือถือ จนยังไม่เห็นบทลงโทษ และยังไม่เห็นการเทคแอ็กชั่นกับประชาชน ดังนั้น กสทช.จะต้องไปดูว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะหาทางออกได้อย่างไร
อดีต กสทช.ชี้ ปธ.-กก.ชุดปัจจุบันรับผิดชอบ ปม SMS แจ้งเตือนล่าช้า

จี้ ประธาน กสทช.-กรรมการชุดปัจจุบัน รับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น
 

ส่วนจะต้องรอประธาน กสทช.อนุมัติก่อนหรือไม่ในการส่งข้อความนั้น น.ส.สุภิญญา ระบุว่า คงเป็นปัญหาภายในของ กสทช. ก็ต้องโทษประธาน แต่ในสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ต้องรอ เป็นการยกหูคุยกันก็ได้ ระหว่างกรรมการ เพราะเป็นเหตุฉุกเฉิน ใช้แค่ 4เสียง จาก 7 เสียง เพราะมติบอร์ดใช้เสียงข้างมากก็ได้ แล้วสั่งการไปยังสำนักงาน เพราะเรื่องนี้ไม่มีอะไรต้องกลัว เนื่องจากเป็นเรื่องประโยชน์สาธารณะ ถ้าใครไม่ทำ ก็จะได้เห็นว่าใครคืออุปสรรคปัญหา แล้วจะได้ไล่เบี้ยได้ แต่พอ ไม่มีใครกล้าเทคแอ็คชั่นขาดภาวะความเป็นผู้นำขาดการตัดสินใจ เลยทำให้ไม่รู้ว่าใครคือตัวปัญหาใครคือ “จุดอ่อน”

ดังนั้นเรื่องนี้ มองว่า อาจจะต้องโทษที่ประธานว่า ทำไมสั่งแบบนี้ แต่ถ้ากรรมการเสียงข้างมากรวมตัวกัน ก็สามารถปลดแอกในเรื่องนี้ได้ และกรรมการ กสทช.เองก็ต้องมีความกล้าหาญมากขึ้นในการตัดสินใจในภาวะฉุกเฉินเร่งด่วนที่เป็นความเป็นความตายของประชาชน ส่วนประธานก็ควรรับผิดชอบด้วยการลาออก และต่อให้บอร์ด กสทช. ไม่สั่งการ
 

“เลขาธิการฯ ควรที่จะมีการเทคแอ็คชั่นและประสานงานไปยัง ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อที่จะให้เห็นว่า กสทช.ตั้งวอร์รูม ดำเนินการให้เห็นว่า ได้ดำเนินการแล้ว โดยไม่ต้องรอกระทรวง ไม่ต้องรอรัฐบาล เพราะหากมัวแต่รอกลไกราชการ สุดท้ายก็ไลฟ์บอย เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องวิกฤตชีวิต ควรที่จะมีคนกล้าตัดสินใจ”
 

ดังนั้นในฐานะ อดีต กสทช. น.ส.สุภิญญา จึงอยากฝากปถึง กสทช.ด้วยว่า เชื่อว่ารอบนี้สังคมคงหมดความอดทน และในฐานะที่ตนเคยทำงานในองค์กรนี้ มองว่า องค์กร กสทช. ยังคงมีความจำเป็น ดังนั้นจึงขอฝากกลไกของ กสทช.ทุกฝ่าย อยากให้ลุกขึ้นมาทำหน้าที่ของตัวเอง ประธานกรรมการและเลขาธิการฯ อย่างน้อยให้สังคมเห็นว่า ภาษีทั้งหมดไม่ได้สูญเปล่าจนเกินไป ในการส่งเสริมองค์กร กสทช.ให้นำมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และสิ่งที่อยากเห็นคือ การอยากให้ออกมาแถลงกับประชาชนให้เกิดความชัดเจนและเป็นทางการ  จึงอยากให้ลุกขึ้นมายืดอกแถลงให้เคลียร์อย่าหนีปัญหา

ประธาน กสทช.

ส่วนจะมีโอกาสนำไปสู่การแก้กฎระเบียบของ กสทช.ได้หรือไม่นั้น มองว่า หลังจากหายฝุ่นตลบ เชื่อว่าคงจะมีเสียงเรียกร้องให้ กสทช. พิจารณาตัวเอง แต่ กสทช.เป็นองค์กรอิสระที่มีการแก้กฎหมาย ให้ไม่มีกลไกถอดถอน ทำให้บอร์ด กสทช.ลอยตัวเหนือปัญหา เพราะเขาคงคิดว่า ไม่มีใครทำอะไรเขาได้ ซึ่งหลายฝ่ายเรียกร้องไปที่ฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติว่า จะเข้ามาปลดปมล็อกตรงนี้อย่างไร เพราะการสื่อสารในภาวะวิกฤตคือหัวใจสำคัญ ที่จะต้องใช้โครงข่ายโทรคมนาคม ใช้การเตือนภัยเตรียมความพร้อม ดังนั้นควรจะต้องมีการแสดงความรับผิดชอบอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้สังคมไม่สิ้นหวังจนเกินไป

ส่วนการส่งข้อความจะมีปัญหา ติดขัดในเรื่องระบบเทคนิค ติดขัดหรือไม่หรือเป็นแค่ข้ออ้างนั้น น.ส.สุภิญญา บอกว่า เท่าที่มีการหารือกันในหลายๆ วงที่ผ่านมา ปัญหาอย่างหนึ่งที่พบ คือ เรื่องต้นทุน งบประมาณว่า ใครจะรับผิดชอบ แล้วอาจจะทำให้การส่งไม่รวดเร็ว และไม่มีแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ เหมือนแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่ ทุกคนกล้าพูดหรือไม่ แต่ไม่ควรทำให้เรื่องนี้มากลายเป็นอุปสรรคหรือไม่ ดังนั้นควรที่จะต้องมีคนปลดล็อคในเรื่องนี้ หากรัฐไม่ให้เงิน ก็ต้องไปดูว่าอยู่ในเงื่อนไขใบอนุญาตหรือไม่ ดังนั้นจะต้องให้ความร่วมมือกับรัฐ เพราะเรื่องต้นทุนก็เป็นอีกหนึ่งปัญหา ที่มีความเกี่ยงกันในการรับผิดชอบ

ซึ่งกรณีล่าสุดเหตุแผ่นดินไหว ก็คงจะต้องไปดูปัญหาจริงๆ ว่าติดปัญหาเชิงเทคนิคหรือไม่ ที่ส่งพร้อมกันในจำนวนมากไม่ตรงเวลา ไม่ตรงเป้าหมาย และการส่งข้อความจะต้องครอบคลุมไปจนถึงกลุ่มผู้พิการและกลุ่มเปราะบางด้วย  ซึ่งในเรื่องแบบนี้ในสถานการณ์ฉุกเฉินมีการเตรียมการหลายรอบแล้ว แต่ทำไมถึงหน้างานจริงไม่พร้อมสักที
 

“ขอให้รอบนี้เป็นรอบสุดท้าย และเป็นจุดเปลี่ยนได้หรือไม่ เนื่องจากเป็นสถานการณ์ที่รุนแรง สะเทือนอารมณ์ของประชาชน หากเกิดเหตุรุนแรงกว่านี้ และประชาชนมีผลกระทบจำนวนมาก จะยิ่งทำให้ประชาชนสับสนอลหม่าน จึงมองว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรต้องพิสูจน์ ตัวเองให้ประชาชนเชื่อถือ และควรให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติของภาครัฐ”
 

พร้อมทั้ง เรียกร้องไปที่ กสทช. ไม่ควรดูดาย ควรจะออกมาทำอะไรให้ประชาชนเห็น ส่วนภาคเอกชนที่เป็นธุรกิจใหญ่ ก็ควรที่จะเตรียมการบริการสังคมไว้บ้าง รวมไปถึงเรื่องทางเทคนิค บางอย่างก็สามารถทำเองได้โดยไม่ต้องรอคำสั่งจากภาครัฐ

ส่วนกังวลหรือไม่ว่า สุดท้ายแล้วค่ายมือถืออาจจะลอยตัวเหนือปัญหา และไม่มีบทลงโทษ ยอมรับว่า รู้สึกกังวล เพราะตอนนี้มีแค่ 2 ค่ายที่แข็งขันกัน และที่มีการประชาสัมพันธ์ว่า มีเทคโนโลยีล้ำสมัยมากมาย ได้นำมาใช้หรือไม่ ดังนั้นอยากฝากไปยังสองค่ายมือถือ หากภาครัฐไม่ดำเนินการ ภาคเอกชนสามารถที่จะดำเนินการเองได้ เพราะการสื่อสารของทั้งสองบริษัท เป็นบริษัทที่ใหญ่มาก ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนไทย แต่หากถ้าภาครัฐไม่ทำอะไร อย่างน้อยควรแคร์ลูกค้า ที่จ่ายเงินทุกเดือนและอยากให้กลับมาดูแลลูกค้าให้ดีกว่านี้
 

“อยากให้ส่งข้อความอะไรที่เป็นประโยชน์ เพราะข้อความอะไรที่เกี่ยวข้องกับการขายของ หลอกลวงประชาชนส่งมาได้อย่างง่ายดาย”
 


อดีต กสทช.ชี้ ปธ.-กก.ชุดปัจจุบันรับผิดชอบ ปม SMS แจ้งเตือนล่าช้า

ทั้งนี้ขอบทเรียนใหญ่ของสังคมไทย อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญมาก คือการสื่อสารในภาวะวิกฤตหากเกิดเหตุในลักษณะนี้ ควรจะต้องแก้ปัญหาให้ดีขึ้นโดยมองว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึง กสทช. ควรจะมีการตั้งเป้าหมาย KPI ให้ตัวเองในการดำเนินงานหากเกิดเหตุจะต้องเช็คลิสต์ แต่หน่วยงานราชการไทยไม่ค่อยมีตรงนั้น

ดังนั้นหากอยาก พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส และไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้อีก คงต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมืองของรัฐบาลที่จริงจังในการแก้ปัญหา รวมถึงทุกหน่วยงานควรจะต้องตั้งตัวชี้วัด หรือ KPI ของตัวเองว่า หากเกิดเหตุครั้งหน้า ก็ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ จะต้องรับผิดชอบอย่างไร รวมไปถึงครั้งนี้ก็ควรที่จะต้องมีคนรับผิดชอบ