24 มีนาคม 2568 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หลัง นายอิทธิพล ชลธราศิริ สส.ขอนแก่น พรรคประชาชน กล่าวหารัฐบาลสั่งการให้เลื่อนการตัดสินคดีเหมืองทองอัครา 3 ครั้ง โดยยืนยันว่า ตั้งแต่ตนเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีการไปเจรดีลลับต่อรองเพื่อรักษาผลประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งนายกรัฐมนตรี ก็ไม่เคยก้าวก่าย และตนก็ไม่เคยไปร้องขอต่อใคร
พร้อมย้ำว่า ในคดีเหมืองทองนี้ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย เพื่อผลประโยชน์ประเทศเป็นที่ตั้ง แต่ข้อพิพาทที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างบุคคลกับเหมืองทอง แต่เป็นการฟ้องประเทศ ดังนั้น จึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ประเทศแพ้คดี และในการดำเนินการใด ๆ ที่ผ่านมา ก็เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบการเหมือง
ส่วนกรณีที่มีการเลื่อนการอ่านข้อพิพาทของอนุญาโตตุลาการนั้น นายเอกนัฏ ยืนยันว่า การเลื่อนตั้งแต่ตนปฏิบัตินหน้าที่ นายกรัฐมนตรี รัฐบาล หรือตนเองไม่เคยขอให้เลื่อน แต่ยึดขั้นตอนตามกระบวนการภายใต้กฎหมายทั้งหมด ไม่เคยมีการเจรจานอกรอบแต่อย่างใด และข้อพิพาทนี้ ยังไม่มีการอ่านคำพิพากษา จึงไม่ควรปรักปรำว่า ใครผิดหรือถูก
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
ส่วนข้อกล่าวหาการออกอาชญาบัตรพิเศษ ทับพื้นที่อุทยาน หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านั้น นายเอกนัฏ ชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวก็เคยขึ้นก่อนที่ตนจะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ และจากการรับฟังการอภิปราย ตนก็สับสนว่า ฝ่ายค้านต้องการให้ตอบในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในปัจจุบัน หรืออดีต แต่เท่าที่ตนทราบขั้นตอนทุกอย่างเป็นไปตามพระราชบัญญัติเหมืองแร่ ไม่มีการออกอาชญาบัตรพิเศษที่ผิดกฎหมาย หรือทับพื้นที่อุทยาน
ดังนั้น จึงยืนยันว่า ในคดีเหมืองทองอัครา ไม่ว่าจะเป็นใครก็ไม่สามารถไปต่อรองแลกเปลี่ยนกระบวนการยุติธรรมได้ และตนก็ไม่เคยนำผลประโยชน์ของประเทศไปต่อรองกระบวนการยุติธรรม ทุกอย่างจึงต้องเป็นไปตามขั้นตอน และรักษาผลประโยชน์ประเทศเป็นที่ตั้ง
-ขณะที่ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ ลุกขึ้นชี้แจงกรณี นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ พรรคประชาชน ระบุถึงกรณีที่รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญ กับการผลักดันความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ทั้งในภูมิภาคอาเซียน และภูมิภาคอื่นที่เป็นต้นเหตุการเกิดฝุ่น PM2.5 โดยยืนยันว่า ที่ผ่านมา รัฐบาล และกระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลักดันแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนภายใต้ “ยุทธศาสตร์ฟ้าใส”
ระหว่างไทย, สปป.ลาว และเมียนมา ตั้งแต่ตุลาคม 2567 และความร่วมมือในกรอบอาเซียน ในการแก้ไขปัญหา PM2.5 รวมทั้งผลักดันความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียนทั้ง จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และแคนาดาอย่างเข็มข้น เช่น การจัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยง, การเกิดไฟป่า, การเปิดสายด่วน และการจัดตั้งกลไกเฝ้าระวังและติดตามหมอกควันข้ามแดนระหว่างทั้ง 3 ประเทศ รวมถึงยังอยู่ระหว่างการเตรียมจัดโครงการส่งเสริมความร่วมมือด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีกับประเทศคู่เจรจาที่มีความเชี่ยวชาญในการแก้ปัญหาดังกล่าว และในเดือนเมษายนนี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพประชุม Joint Task Force เพื่อระดมความร่วมมือในการแก้ปัญหาด้วย
ส่วนการแก้ไขฝุ่น PM2.5 ในกรอบความร่วมมืออาเซียนว่า รัฐบาลได้ดำเนินการผ่านกรอบการประชุมสุดยอดอาเซียนที่เวียงจันทน์ และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการที่เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย เมื่อต้นปีที่ผ่านมา รวมถึงยังจัดงานสัมมนาแนวทางการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนในภูมิภาคอาเซียน โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากจีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไทย องค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ) และศูนย์เตรียมความพร้อมภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC) มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันในประเทศต่าง ๆ
พร้อมทั้งผลักดันความร่วมมือ ผ่านกรอบการประชุมประเทศภาคีข้อตกลงอาเซียน ว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ซึ่งมีกระทรวงทรัพย์ฯ เป็นหน่วยงานหลัก เพื่อให้มีความเป็นรูปธรรม
ส่วนการดำเนินการในกรอบของทวิภาคีนั้น กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้ร่วมกับประเทศพัฒนาแล้วให้ความช่วยเหลือโครงการความร่วมมือไตรภาคี เพื่อเพิ่มศักยภาพเจ้าหน้าที่ สปป. ลาว เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ระยะเวลา 3 ปี เมื่อเดือนมกราคม 67 รวมถึงยังได้ประชุมร่วมกับกัมพูชา เมื่อ 8 มี.ค.67 โดยไทยได้เสนอจัดตั้งช่องทางการสื่อสาร เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ จำนวนจุดความร้อน และความร่วมมือในการดับไฟ
ซึ่งล่าสุด ทั้ง 2 ฝ่ายยังเตรียมลงนาม MOU ระหว่างกระทรวงสิ่งแวดล้อม ราชอาณาจักรกัมพูชา กับกระทรวงทรัพย์ฯ ของไทย ในห้วงการเดินทางเยือนของนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ 23-24 เมษายนนี้ด้วย